The Prachakorn

กลับบ้าน วันสงกรานต์: สายสัมพันธ์ความเป็นครอบครัว


กาญจนา ตั้งชลทิพย์

12 เมษายน 2562
744



เคยมีแนวคิดว่า การย้ายถิ่นของคนชนบทเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองเป็นความแตกสลายของครอบครัวไทย ความเป็นครอบครัวหายไปเพราะพ่อแม่-ลูกต้องแยกกันอยู่คนละทิศคนละทาง   

แต่มีแนวคิดใหม่ที่มองว่า แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ความเป็นครอบครัวก็ไม่ได้หายไปไหน พ่อแม่ก็ยังอยู่ ลูกก็ยังอยู่ เพียงแต่อยู่กันคนละที่เท่านั้น ความเป็นครอบครัวกับการอยู่อาศัยนั้นไม่เหมือนกัน

ครอบครัวเป็นความผูกพันกันทั้งทางสายเลือด และสายสัมพันธ์ แม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน แต่ความเป็นครอบครัวนั้นยังคงมีอยู่ บนความผูกพันที่มีต่อกันและกันทางกายและใจ บนบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ยังมีต่อกัน

ปัจจุบัน ในยุคของดิจิทัล สายใยและความผูกพันกันของครอบครัวยังคงความเข้มแข็ง เหนียวแน่น จากการติดต่อสื่อสารกันผ่านทางวิทยาการสมัยใหม่ ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ดังตัวอย่าง1 ของลูกวัยทำงานที่ย้ายถิ่นไปทำงานไกลบ้านและโทรกลับบ้านหาพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเกือบทุกวัน 

“โทรมาทุกวัน ก็ถามว่า แม่เป็นไรบ้าง กินข้าวหรือยัง” (ลูกย้ายถิ่น-จังหวัดกาญจนบุรี)

หรือคนมีลูกเล็กที่ให้ปู่ย่า-ตายายช่วยเลี้ยงดูให้ที่บ้านเกิด ก็จะพูดคุยกับลูกผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแอปพลิเคชั่น 

 “ใช้ ‘แทงโก้2’ มันมองเห็นหน้า เค้าก็จะส่องดูแม่ คือ เริ่มที่จะคุยกับเรา มีอะไรก็จะเอามาอวด อันนี้ใครซื้ออะไรให้ก็จะเอามาอวด ส่วนพี่สาว (ลูกสาวคนโต) ก็จะเริ่มคุย เค้าโตแล้วก็รู้เรื่อง เค้าก็จะคุยเรื่องของเค้า เรื่องที่โรงเรียนเป็นอย่างไร” และมีโทรหากันทุกวัน “ทุกวันก็คือ เหมือนถึงเวลาสักประมาณสองทุ่ม เหมือนเค้าก็คอยเรา เราก็คอยเค้า ได้เวลาก็จะโทรหากันแทงโก้คุยกัน ถ้าเราไม่โทรไปเค้าก็จะโทรมาว่า วันนี้พ่อกับแม่ทำไมไม่โทรไปหาเค้า เป็นอะไร หรือว่ากลับดึก ถึงเวลาที่เราเลิกงานมาก็จะโทรไปหาเค้า ก็เหมือนรอเรา” (พ่อแม่ย้ายถิ่น-จังหวัดขอนแก่น)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการได้พูดคุยกัน ทุกๆ วัน หรือทุกๆ อาทิตย์นั้นทำให้ได้รับรู้ถึงสารทุกข์สุกดิบของกันและกัน แต่ความต้องการเห็น หรือสัมผัสกันอย่างตัวเป็นๆ ก็ยังเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ ความผูกพันของครอบครัวให้แน่นแฟ้น การกลับบ้านในวันสงกรานต์ หรือเทศกาลที่มีวันหยุดยาวหลายๆ วันของลูกหลานจึงยังคงความสำคัญกับผู้เป็นพ่อแม่ และเป็นวันที่พ่อแม่รอคอย 

“เราก็จะเตรียมซื้อกับข้าวกับปลา เตรียมไว้ให้ รอเค้ามา” (แม่ที่มีลูกย้ายถิ่น-จังหวัดกาญจนบุรี)
“กลับบ้านไปที ก็จะอยู่ประมาณ 4-5 วัน ก็จะได้คุย ได้นอนด้วยกัน” (พ่อแม่ย้ายถิ่น-จังหวัดขอนแก่น) 

การกลับมาเยี่ยมบ้าน แม้ในระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังเป็นการให้พ่อแม่ได้เห็น ได้พูดคุย ได้กอดตัวจริงๆ ของลูก ปรากฏการณ์รถติดยาวหลายสิบกิโลเมตรของถนนสายหลักๆ ที่จะพาคนไกลบ้านกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ จึงยังคงให้เห็นทุกๆ ปี 

นักวิชาการเริ่มมองความเป็นครอบครัวที่นอกเหนือไปจากการอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านเดียวกัน เพราะในความเป็นครอบครัว แม้ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน สมาชิกในครอบครัวยังคงทำบทบาทหน้าที่ของตนได้ ยังทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ของลูก หรือเป็นลูกที่ยังรับผิดชอบดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าทั้งจากเงินส่งกลับ หรือกลับมาดูแลยามพ่อแม่เจ็บป่วย ยังคงความรู้สึกผูกพันกันแม้จะอยู่ห่างไกลกัน เป็นรูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นอีกประเด็นหนึ่งของครอบครัวที่ชวนให้คิดตามและคิดต่อ

ภาพ: www.th.pngtree.com

1 ตัวอย่างที่นำเสนอมาจากการศึกษาเชิงคุณภาพของโครงการวิจัยเรื่อง “The Impact of Internal Migration on Early Childhood Well-being and Development: Quantitative and Qualitative Surveys” และโครงการวิจัยเรื่อง “Depression, Disability and Socio-economic Position among Older Adults ‘Left Behind’ by Out-migration: A Multilevel Study in Kanchanaburi Province.”
2 แทงโก้ คือ แอปพลิเคชั่นหนึ่งสำหรับการพูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถพูดคุยกันในลักษณะวิดีโอคอล เห็นหน้ากันได้
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th