The Prachakorn

อัลไซเมอร์กับผู้สูงวัย


เพ็ญพิมล คงมนต์

29 เมษายน 2562
240



 

ภาพจาก https://pixabay.com

อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานของสมอง หรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมอง จะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ อัลไซเมอร์จึงเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด 

“อายุ” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น

แม้ว่าอัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่การเฝ้าระวังก็จะช่วยป้องกัน และลดโอกาสการเป็นโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ รศ.พญ.รวิวรรณ นิวาตพันธุ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำแนะนำดีๆ สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ดังนี้
    1.หาความรู้เรื่องภาวะสมองเสื่อมโดยละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจและปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
    2.ใส่ใจในการจัดสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เช่น ติดตั้งราวยึดไว้ในห้องน้ำหรือใกล้บันได เพื่อกันผู้สูงอายุลื่นล้ม
    3.ให้ความเคารพและให้กำลังใจเสมอๆ แม้ผู้สูงอายุจะมีพฤติกรรมเหมือนเด็กเล็กๆ เนื่องจากสมองเสื่อม
    4.เป็นนักฟังที่ดี แม้ผู้สูงอายุจะพูดซ้ำๆ วนไปวนมาก็ต้องใจเย็น อดทนฟังด้วยความเข้าใจ
    5.จัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา อาทิ กินข้าวเป็นเวลา อาบน้ำเป็นเวลา นอนเป็นเวลา แต่ก็ไม่ควรเคร่งครัดหรือเข้มงวดจนเกินไป
    6.อำนวยความสะดวกในการทำกิจวัตรต่างๆ เช่น เตรียมเสื้อผ้าให้ใส่ เปิดไฟในห้องน้ำให้
    7.หมั่นสังเกตพฤติกรรม เพราะถ้าสังเกตจนรู้ใจ การดูแลก็จะง่ายดายขึ้น
    8.พูดให้ช้าลง ออกเสียงให้ชัดเจน ไม่ตะโกนหรือพูดเสียงดัง พยายามใช้ภาษากายร่วมด้วย เช่น สบตา ยิ้มให้
    9.ไม่แสดงความโกรธ หรือหงุดหงิดใส่ผู้สูงอายุ การปลอบและโอบกอดอย่างนุ่มนวลจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อดูแลคนที่เรารักอย่างดีแล้ว ตัวผู้ดูแลเองจะต้องรักษาร่างกายและจิตใจให้สดชื่นและแข็งแรงอยู่เสมอ หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฟังเพลง สวดมนต์ อ่านหนังสือธรรมะเพื่อช่วยให้จิตใจผ่องใส มีสติตามอารมณ์ตัวเองได้ทัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

 


ที่มา:    เขษม์ชัย เสือวรรณศรี. “เข้าใจอัลไซเมอร์ เมื่อสมองเสื่อมไม่ใช่แค่เรื่องความจำ.”.[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2018/alzheimer-disease (6 มีนาคม 2562)
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th