The Prachakorn

มีลูก 1 คน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ?


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

21 พฤษภาคม 2562
490



เชื่อว่าในปัจจุบัน ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราสังเกตเห็นคนไทยที่แต่งงานมีคู่แล้วจำนวนมากที่ตัดสินใจไม่มีลูก หรือ ที่มีลูก ส่วนใหญ่ก็มีกันไม่เกิน 1-2 คน ในภาพรวมของประเทศ สถานการณ์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมากถึงกว่า 1 ล้านคนต่อปี ในช่วงพ.ศ. 2506- 2526 หรือที่เรียกเด็กซึ่งเกิดในช่วงนี้ว่า "ประชากรรุ่นเกิดล้าน" (หมายเหตุ ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นคำที่เริ่มใช้โดยท่าน อ.ปราโมทย์ ประสาทกุล) ปัจจุบันจากตัวเลขล่าสุดใน พ. ศ. 2561 ก็ลดลงต่อเนื่องจนเหลืออยู่ที่เพียงประมาณ 666,000 คน เท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้คนมีลูกน้อยลงเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยระดับโครงสร้างมหภาค และปัจจัยระดับครัวเรือนหรือปัจเจกบุคคล ซึ่งในส่วนหลังนี้ ปัจจัยหนึ่งที่เป็นข้อกังวลสำคัญของคนที่จะเป็นพ่อแม่ หรือแม้แต่ที่เป็นพ่อแม่แล้ว เป็นในเรื่อง “ภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตร” ที่คนในปัจจุบันนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะคนวัย 30-40 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวและตัดสินใจเกี่ยวกับการมีลูก (หรืออาจจะมีลูกแล้ว) มีเสียงพึมพรำบ่นและตั้งข้อสังเกตว่า มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต หรือ ในสมัยที่คนวัยนี้ถูกเลี้ยงดูจากรุ่นพ่อแม่เมื่อ 20-30 ปีก่อน

คำถาม...แล้วต้นทุน (cost) หรือ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก 1 คนในบริบทปัจจุบัน แท้จริงแล้ว โดยเฉลี่ยคิดเป็นเงินสักประมาณเท่าไร ?

ในการตอบคำถามนี้ ผู้เขียนขออ้างอิงข้อค้นพบจากการศึกษาในบทความที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับ ต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร อายุ 0-14 ปี  ซึ่งพบว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี โดยเฉลี่ยมีมูลค่ารวมเป็นเงินประมาณ 1.57 ล้านบาท (ยังไม่คิดอัตราเงินเฟ้อ) หรือคิดเป็นต่อปี ตกประมาณปีละ 1แสนกว่าบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่านี้ไม่ได้เป็นต้นทุนหรือภาระค่าใช้จ่ายที่แบกรับโดยผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือครอบครัวของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงต้นทุน หรือภาระค่าใช้จ่ายที่แบกรับโดยภาครัฐหรือรัฐบาลด้วย  ในลักษณะการจัดบริการสาธารณะหรือการอุดหนุนด้านการศึกษา บริการสุขภาพ และด้านอื่นๆ ให้กับเด็กในช่วงอายุ 0-14 ปี ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ในจำนวนเงิน 1.57 ล้านบาทเป็นส่วนที่รับผิดชอบโดยพ่อแม่หรือครอบครัวที่ประมาณ 765,000 บาท (ร้อยละ 49) และรับผิดชอบโดยภาครัฐประมาณ 807,000 บาท (ร้อยละ 51)  เมื่อคำนวณแล้ว ส่วนที่รับผิดชอบโดยพ่อแม่หรือครอบครัว จะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นกว่าบาท ต่อปี หรือต่อเดือน ก็ประมาณ 4,250 บาท

พ่อแม่จำนวนหนึ่ง เมื่อเห็นตัวเลขนี้แล้วอาจจะคิดในใจว่า "ไม่จริงมั้ง" ต่อเดือนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกที่เป็นอยู่ สูงกว่าตัวเลขนี้มาก ซึ่งตรงนี้ก็อาจเป็นเพราะ ตัวเลขนี้เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรที่เป็น “ค่าเฉลี่ย” ของทั้งประเทศ ซึ่งในบทความที่อ้างถึง ได้มีการวิเคราะห์จำแนกตามระดับเศรษฐานะของครอบครัวด้วย ซึ่งพบว่า ต้นทุนหรือภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรอายุ 0-14 ปี เฉพาะในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายของภาคเอกชน (หมายถึง ของพ่อแม่หรือครอบครัวเท่านั้น) ของพ่อแม่กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% (ภาษาทางวิชาการเรียก “ควินไทล์” หรือ quintile 1) ตกอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ของพ่อแม่กลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด 20% (หรือ quintile 5) สูงกว่ามากโดยอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาทต่อเดือน ส่วนของพ่อแม่กลุ่มรายได้ปานกลาง (หรือ quintile 3) ตกอยู่ที่เดือนละประมาณ 4,500 บาท ซึ่งต้นทุนในที่นี้ รวมค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ หากดูเฉพาะ “ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา”เท่านั้น พูดง่ายๆก็ คือ ค่าเทอม หรือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่าเรียนของลูก พบว่า ค่าใช้จ่ายของพ่อแม่กลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าค่าใช้จ่ายของพ่อแม่กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ถึง 35 เท่า ซึ่งตัวเลขตรงนี้ สะท้อนให้เห็นความแตกต่าง หรือในมุมหนึ่งก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย  ในด้านหนึ่ง ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรที่มีมูลค่าสูงกว่ามาก ในกลุ่มพ่อแม่ที่มีรายได้สูงนี้ อาจเหมือนเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่กลุ่มรายได้สูง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษาของบุตรก็เปรียบเหมือน "การลงทุน" ซึ่งถ้ายิ่งลงทุนได้มาก ในระยะยาวก็มีแนวโน้มได้ผลตอบแทนกลับคืนในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งหากมองเช่นนี้ ในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในด้านอื่นๆ ก็อาจจะมีช่องว่างที่เพิ่มมากขึ้นตามมาไปอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยควรหันกลับมาพิจารณา

ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยได้เริ่มใช้มาตรการและนโยบายเพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้คนไทยมีลูกกันเพิ่มขึ้นมาซักระยะหนึ่งแล้ว เช่นไม่นานนี้ ที่มีการปรับเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน (โดยเฉพาะ กลุ่มมารดาที่มีรายได้น้อยหรือยากจน) การพิจารณาเกี่ยวกับการขยายสิทธิวันลาคลอดของแม่และพ่อ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้และควรให้ความสำคัญ คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้การเกิด (ของเด็กไทย) ทุกการเกิด เป็นการเกิดที่มีคุณภาพและได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและทุนมนุษย์เท่าเทียมกัน...


ต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร (อายุ 0-14 ปี) ต่อคน  คำนวนจากมูลค่ารายจ่ายเพื่อการบริโภคของประชากรรายอายุ จำแนกตามระดับเศรษฐานะของครัวเรือน (quintiles) และภาคเศรษฐกิจ (หน่วย บาท)

  ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านอื่นๆ รวม
  พ่อแม่/ครอบครัว ภาครัฐ พ่อแม/ครอบครัว ภาครัฐ พ่อแม่/ครอบครัว ภาครัฐ พ่อแม่/ครอบครัว ภาครัฐ รวม
Q1 (20% จนที่สุด) 9,504 484,277 17,688 41,881 337,084 314,720 364,277 840,878 1,205,155
Q2 21,072 466,609 35,399 46,443 521,740 314,720 578,211 827,772 1,405,983
Q3 44,486 435,745 55,840 55,300 710,108 314,720 810,434 805,766 1,616,200
Q4 95,841 366,699 88,461 82,832 998,009 314,720 1,182,311 764,251 1,946,562
Q5 (20% รวยที่สุด) 332,745 265,941 253,514 86,858 1,795,678 314,720 2,381,937 667,519 3,049,455
รวมทั้งหมด 56,219 438,369 56,421 54,318 653,073 314,720 765,714 807,407 1,573,121

ที่มา ปรับจาก เฉลิมพล, สุภรต์ และณัฐณิชา (2562)
 


Photo by rawpixel.com from Pexels


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th