ปัจจุบันคนไทยได้ย้ายถิ่นเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งการศึกษา การทำงาน และครอบครัว จากการศึกษากลุ่มหญิงไทยในสหราชอาณาจักรที่ย้ายถิ่นโดยการแต่งงานพบว่า การสร้างเครือข่าย เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้หญิงไทยในต่างประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ข้อมูลสำมะโนประชากรประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2554 (UK Census 2011) พบว่า มีประชากรสัญชาติไทยอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรทั้งหมด 44,086 คน โดยเป็นผู้หญิงถึง 80% และจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่การทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน คาดว่าในปี 2561 มีคนไทยอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรประมาณ 60,000-70,000 คน อย่างไรก็ดีในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้จำนวนผู้เข้าประเทศเพื่อตั้งถิ่นฐานมีจำนวนลดลง เนื่องจากมาตรการตรวจคนเข้าเมืองมีความเข้มงวด และการขอสัญชาติของสหราชอาณาจักรก็มีเงื่อนไขมากขึ้น
จากการสัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่แต่งงานมีครอบครัวอยู่ในสหราชอาณาจักร พบว่าส่วนใหญ่มีความพอใจในการใช้ชีวิตอย่างไรก็ตามหลายคนกล่าวว่าช่วงแรกของการย้ายถิ่นถือว่าเป็นช่วงที่ท้าทายและยากลำบากที่สุด เพราะนอกจากสามีแล้วก็ไม่มีเครือข่ายทางสังคมอย่างอื่นเลย โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่แล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศ และการใช้ social media ยังไม่แพร่หลาย การติดต่อสื่อสารกับครอบครัวในประเทศไทยยังมีราคาสูงและไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน
เป็นที่น่าสนใจว่า ถึงแม้คนไทยจะอยู่ในสหราชอาณาจักรเป็นเวลานาน แต่ก็ยังยึดโยงอยู่กับเครือข่ายของคนไทยอยู่มาก ยิ่งในปัจจุบันการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การเชื่อมต่อข้ามประเทศเป็นไปได้แบบทันที ทำให้คนไทยในต่างประเทศสามารถส่งข่าวหรือรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตนที่ประเทศไทยได้อย่างสะดวก สามารถคุยกับพ่อแม่พี่น้องทางบ้านได้ทุกวัน ลูกหลานก็ได้พูดคุยกับญาติๆ ในประเทศไทยได้ตลอดเวลา เป็นการเรียนรู้ถึงรากเหง้าและวัฒนธรรมไทย ที่สำคัญเมื่อประสบปัญหาก็สามารถติดต่อญาติมิตรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที
ความแตกต่างของการเชื่อมโยงแบบรวดเร็วในปัจจุบันกับสมัยก่อน อาจดูได้จากกรณีของ “สตรีแห่งขุนเขา” ที่ในปี 2547 นักเดินป่าได้พบศพหญิงนิรนามในหุบเขาในแคว้นยอร์กเชียร์ของอังกฤษ ตำรวจไม่สามารถระบุตัวตนของเธอได้ รู้เพียงแค่ว่าเป็นหญิงจากทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คดีนี้ไม่สามารถหาบทสรุปได้ จนกระทั่งปี 2562 นายบัวสาและนางจูมศรี สีกันยา ได้เขียนจดหมายร้องขอให้เครือข่ายหญิงไทยในสหราชอาณาจักรช่วยหาตัวลูกสาว คือ นางลำดวน สีกันยาที่แต่งงานและย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 2534 และขาดการติดต่อไปตั้งแต่ปี 2547
ในปี 2547 นางลำดวน สีกันยา ได้โทรศัพท์เล่าให้แม่ฟังว่าสามีไม่ให้เงินใช้และทำร้ายร่างกายเธอ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ยินข่าวคราวจากลูกสาวอีกเลย จนกระทั่งในปี 2562 จึงพบว่า ลำดวน สีกันยาคือ “สตรีแห่งขุนเขา” ที่ตำรวจอังกฤษตามหาตัวนั่นเอง เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าในช่วงที่ลำดวนหายตัวไป ไม่มีใครออกมาตามหาหรือระบุตัวตนของเธอ ทั้งนี้สันนิษฐานได้ว่าเธออาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ของอังกฤษซึ่งมีเครือข่ายทางสังคมของคนไทยน้อยและอาจไม่ได้มีเพื่อนที่เป็นคนท้องถิ่นมากนัก เมื่อมีปัญหากับสามีก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้
แต่ปัจจุบันคนไทยในอังกฤษมีเครือข่ายทางสังคมกว้างขวางจากการใช้ ICT ที่สามารถสร้างเครือข่ายข้ามพรมแดน ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง และระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐและเครือข่ายอาสาสมัครต่างๆ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหากันได้อย่างทันท่วงที
อาสาสมัครช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ
ที่มา: https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSbZr9lSLS8aB-PK5T4gcVcvfMApJjNk0UbUKaVhodg1HPHmkd8VA