The Prachakorn

รำพึงรำพันวันสงกรานต์ 2562


ปราโมทย์ ประสาทกุล

24 มิถุนายน 2562
438



วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2562 วันสงกรานต์และวันครอบครัว

แล้วก็ถึงวันสงกรานต์อีกครั้งหนึ่ง ตามประเพณีไทย ปีเก่าคือปีจอกำ.ลังจะจากลาไปแล้ว ขึ้นปีใหม่ไทย คือปีกุน สงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดยาวนานถึง 5 วันติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 12 หยุดยาวไปถึงวันอังคารที่ 16 เมษายน คนวัยแรงงานจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในเมืองหรือตามแหล่งงานในจังหวัดต่างๆ ถือโอกาสเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของตน ได้พบพ่อแม่ญาติพี่น้อง ได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงจากหมู่บ้านเดียวกัน เราคงวาดภาพหมู่บ้านชนบทหลายแห่งกลับฟื้นมีชีวิตชีวาในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้

ช่างตัดผมชาวอีสานคนหนึ่ง

วันสงกรานต์ที่เงียบเหงาอย่างวันนี้ทำให้ผมคิดถึงคนหลายคน พอนึกถึงคนต่างจังหวัดที่จากบ้านมาทำงานในถิ่นไกลก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงนายหลุย คนมหาสารคามที่มาทำงานเป็นช่างตัดผมอยู่ที่ตลาดบางวัว เมื่อปีก่อนๆที่ผมกลับมาหาแม่ทุกอาทิตย์ ผมก็ใช้บริการของนายหลุยเป็นประจำ เทศกาลสงกรานต์อย่างนี้ นายหลุยต้องกลับไปบ้านเดิมของตนอย่างแน่นอน เขาเล่าว่าเดี๋ยวนี้การเดินทางเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จากบางวัวไปหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากเมืองมหาสารคามหลายสิบกิโลเมตรสะดวกมาก พวกเขามีเครือข่ายติดต่อระหว่างคนจากหมู่บ้านหรือตำบลเดียวกันที่มาทำงานแถวๆนี้ จะมีรถตู้โดยสารมารับคนบ้านเดียวกันเพื่อพาไปส่งถึงบ้านเกิด แม้การเดินทางในช่วงเทศกาลอย่างนี้จะใช้เวลานานกว่าเวลาปรกติหลายๆ ชั่วโมง แต่การที่คนบ้านเดียวกันเดินทางไปด้วยกันอย่างนี้ก็ไม่น่าเบื่อนัก หลุยบอกผมว่า เมื่อกลับไปบ้านทุกครั้ง ได้อยู่บ้านหลายๆ วัน ก็ไม่อยากจะกลับมาทำงานไกลบ้านอย่างนี้อีกเลย ผมเชื่อว่าใจเขาคิดถึงบ้านเกิดอยู่ตลอดเวลา

สงกรานต์ปีนี้ ผมนึกถึงหลุย และภาวนาให้เขาเดินทางไปและกลับโดยสวัสดิภาพ

ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2562

เมื่อวานนี้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ผมถือว่าวันผู้สูงอายุเป็นวันของผมด้วย เพราะบัดนี้ ผมได้เป็นผู้สูงอายุแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ

ปีนี้ บุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ผู้สูงอายุแห่งชาติ” ได้แก่ นพ.บรรลุ ศิริพานิช

นพ.บรรลุ ศิริพานิช อายุ 94 ปี เป็นผู้สูงอายุที่ยังคงมีพลังและยังทำคุณประโยชน์ให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ท่านเปิดเผยเคล็ดลับในการรักษาตัวเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ คือการออกกำลังกายเป็นประจำด้วยการเดิน การเอาใจใส่เรื่องอาหารการกิน กินแต่เพียงพอประมาณ ไม่กินจุบกินจิบ การควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่ (อยู่ที่ประมาณ 62 กิโลกรัม) และที่สำคัญคือการรักษาอารมณ์ให้ไม่เครียด พบปะผู้คน และคุยกับเพื่อนต่างวัยบ้าง

ผมขอนำข้อความตอนหนึ่งที่ นพ.บรรลุ ศิริพานิช กล่าวไว้ในปาฐกถาของท่าน มาแสดงไว้ในที่นี้

          “เมื่อข้าพเจ้าอายุถึง 90 ปีแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเวลาชีวิตที่ยังเหลืออยู่ในโลกนี้เหลือน้อยลงทุกทีแล้ว ดังนั้นควรใช้เวลาที่เหลือน้อยนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ คนเรา เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้กันอยู่แล้วทุกคน บัดนี้ชีวิตมาถึงตอนแก่แล้ว สักวันหนึ่งก็ต้องเจ็บและตาย ถ้าจะต้องบริหารชีวิตให้ดี ก็ต้องบริหารให้แก่นานๆโดยไม่เจ็บ และเมื่อเจ็บต้องหายเร็วๆ ถ้าไม่หายก็ให้เจ็บสั้นๆ แล้วก็ตาย จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด”

คิดถึงแม่....

แม่ของผม ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุเท่ากับ นพ.บรรลุฯ คือ 94 ปี แต่แม่ผมเสียชีวิตไปแล้วเมื่อต้นปีก่อน

ถึงวันสงกรานต์ ผมก็นึกถึงแม่ ถ้าแม่ยังอยู่ ผมก็ต้องไปหาแม่ และที่จริง เมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ผมก็จะไปหาแม่เกือบทุกอาทิตย์ 

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แม่ต้องนอนติดเตียงอยู่นานหลายเดือน ในช่วงเวลาที่แม่ช่วยตัวเองไม่ได้ในการทำกิจวัตรประจำวัน คือขับถ่าย อาบน้ำ และกินอาหาร แม่บ่นให้ลูกๆฟังหลายครั้งว่าอยากตายให้รู้แล้วรู้รอดไป แม่ไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน

แม่บอกกับผมหลายครั้งว่าไม่ต้องมาหาแม่บ่อยๆ ก็ได้ และเกือบทุกครั้งที่ผมอยู่กับแม่ แม่จะคอยดูนาฬิกาพอได้เวลาประมาณ 5 โมงเย็น แม่จะเตือนให้ผม “กลับได้แล้ว เดี๋ยวจะมืด” ผมรู้ว่าแม่เป็นห่วงเรื่องการขับรถทางไกลของผม

แล้วก็คิดถึงตัวเอง

เมื่อผมแก่ตัวลงไปกว่านี้ ผมคงคิดเช่นเดียวกับแม่ คือไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นภาระกับใคร แต่บางครั้ง เราคงไม่อาจกำหนดสภาพของตัวเองได้ เราอาจตกอยู่ในสภาวะที่อยากจะตายก็ตายไม่ได้ จะอยู่ก็อยู่อย่างลำบาก ไม่มีใครที่อยากจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้

เมื่อหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ เพื่อนชาวต่างประเทศที่เคยร่วมงานกันที่สถาบันฯ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายขณะที่เล่นกอล์ฟกีฬาโปรดของเขา พวกเราต่างพูดกันว่าการตายโดยไม่เจ็บป่วยเรื้อรังเช่นนั้นเป็นการตายที่น่าปรารถนาเป็นที่สุด

ผมและเพื่อนๆ เคยคุยกันว่าคนที่ตายเมื่อหมดอายุขัย โดยที่หลับแล้วสิ้นลมไปเลยน่าจะเป็นคนมีบุญ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในวาระสุดท้ายของชีวิต ผมอยากให้ตัวเองจากโลกนี้ไปด้วยวิถีเช่นนั้น..ผมคงต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี เพื่อให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีช่วงเวลาที่ช่วยตัวเองไม่ได้น้อยที่สุด

เมื่อเราเกิดมาแล้ว ความแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ว่าจะบังเกิดขึ้นกับตัวเราเร็วหรือช้าเท่านั้น ...เห็นทีผมคงต้องหันมาศึกษา “คิลานธรรม” อย่างจริงจังเสียแล้ว

ภาพจาก: http://www.gilanadhamma.org/

หมายเหตุ: คิลาน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ความเจ็บป่วย


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th