The Prachakorn

ความมั่นคงทางประชากร : อนาคตของประเทศไทยในอีก 70 ปี


อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

14 สิงหาคม 2562
473



ใน “ประชากรและการพัฒนา” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม 2553 จะครบรอบสิบปีแล้วที่ผู้เขียนได้รณรงค์นโยบายส่งเสริมการมีบุตรเพิ่มในสังคมไทย จากปัญหาการลดลงของอัตราเกิดของประเทศอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดวิกฤต รูปแบบหนึ่งคือ baby bonus หรือเงินช่วยเหลือบุตร ซึ่งผู้เขียนได้เรียกในตอนนั้นว่า “เบี้ยสร้างชาติ” ได้เสนอไว้เดือนละ 500 บาท ให้แก่เด็กทุกคนตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์จนอายุครบ 5 ปี เมื่อรัฐทำไปได้ครบ 5 ปี จะต้องตั้งงบประมาณปีละ 18,000 ล้านบาท สำหรับการสร้างชาติที่จะคืนผลระยะยาวให้กับประเทศอย่างมากมาย ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า

การให้เบี้ยสร้างชาติดังกล่าวยังเป็นการให้เกียรติและความเชื่อใจกับมารดา ให้ความไว้วางใจกับประชากรทุกชนชั้น เป็นการพัฒนาสตรี การส่งเสริมสิทธิและศักดิ์ศรีสตรีและสิทธิเด็ก การเสริมสร้างขบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดปัญหาสัดส่วนประชากรสูงอายุ และส่งเสริมนโยบายคุณภาพประชากรในที่สุด แม้แต่หลินปิงและมารดาคือหลินฮุ่ย เรายังให้ความรักความเอาใจใส่ทุกย่างก้าว โดยประชาชนทั้งประเทศเฝ้าดูและทะนุถนอมทุกๆ อิริยาบถ ตั้งแต่ช่วยให้ตั้งครรภ์จนเติบโตมาได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะให้ความรักความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมกับมารดาและบุตรของคนไทยและของคนในประเทศไทยทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมใดๆ ซึ่งในโลกปัจจุบันทุกคนมีสิทธิและสามารถพัฒนาศักยภาพได้ทันกันหมด และมีส่วนสร้างชาติด้วยกันทุกคน” (อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ “ประชากรและการพัฒนา” ปีที่ 30 ฉบับที่ 3, 2553)

เมื่อปี 2557 ศาสตราจารย์ นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ท่านได้มาเยี่ยมทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัย เพื่อรับความเห็นและข้อฝากประเด็นเชิงนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ ในคราวนั้นสถาบันวิจัยประชากรและสังคม โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง ผู้อำนวยการฯ และผู้เขียนในฐานะที่ปรึกษาสถาบันฯ ได้มีโอกาสเสนอนโยบายประชากรที่สำคัญคือ การให้เงินช่วยเหลือบุตร (baby bonus) ให้กับท่านสองครั้ง และต่อมาได้มีโอกาสให้รายละเอียดแนวคิดนี้กับ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งท่านได้วิเคราะห์และพิจารณาการนำนโยบายการให้เงินช่วยเหลือบุตรไปพิจารณาสู่การปฏิบัติ ด้วยการทำเป็นโครงการนำร่องก่อนเพื่อดำเนินการไปสู่การสร้างนโยบาย และในที่สุด “การมีลูกเพื่อชาติ” ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ก็เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการประกาศอย่างไม่เป็นทางการมากนัก แต่ก็นับเป็นประวัติศาสตร์ 45 ปี ของจุดเปลี่ยนด้านนโยบายประชากรของประเทศจากนโยบายควบคุมการเกิด (anti-natalist policy) ตั้งแต่ปี 2513 มาสู่นโยบายประชากรทีส่งเสริมการเกิด (pro-natalist policy) ที่ชัดเจนและสำคัญมาก ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ของ “ความมั่นคงทางประชากร” ของประเทศไทย น่าชื่นชมอย่างยิ่งที่โครงการนี้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อปลายปี 2558 นั้นเอง และเมื่อเริ่มดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนี้ รองนายกฯ ได้วางแนวการดำเนินการให้ควบคู่ไปกับโครงการการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม โดยเฉพาะในประชากรวัยรุ่น เพื่อให้เกิดนโยบายที่ครบวงจร ในขณะนั้นสังคมไทยส่วนหนึ่งยังมีอคติในเรื่องการเกิดที่มาจากประชากรที่ไม่พร้อมหรือมีเศรษฐานะที่ “อาจมีปัญหา” ซึ่งในตอนนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญของนโยบาย baby bonus เป็นอย่างยิ่ง ตามที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ใน “ประชากรและการพัฒนา” อีกครั้ง ในปี 2558 เพื่อรณรงค์ต่อต้านอคติดังกล่าวนี้

ในที่สุดรัฐบาลโดยการมองเห็นผลดีที่ยาวไกล โดยมีนโยบายประชากร 20 ปี จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คู่ขนานไปกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนการได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากหลายหน่วยงานเช่น กระทรวงสาธารณสุข UNICEF และ TDRI นโยบายเงินช่วยเหลือบุตรจึงได้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้ ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ. อนามัยการเจริญพันธุ์ และ พ.ร.บ. ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ และจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ปัจจุบันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้บรรเทาไปมาก ปัญหาดังกล่าวจะมีเหลือที่เกิดขึ้นเป็นเฉพาะพื้นที่เท่านั้น มิได้เป็นปัญหากระจายไปทั่วทั้งประเทศ เป็นสิ่งน่าชื่นชมกับรัฐบาลเป็นอย่างยิ่งที่ปัจจุบันโครงการเงินช่วยเหลือบุตรมีแนวโน้มจะสามารถตั้งงบประมาณได้เพียงพอเช่นสำหรับปี 2564 อาจได้มากถึง 14,500 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่ได้เป็น universal coverage แต่ก็ขยายฐานรายได้ของผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือบุตรภายใต้นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ และได้ขยายจำนวนปีออกไปเป็น 6 ปีอย่างสมควรยิ่ง แม้ว่าเงินช่วยเหลือบุตรเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในการส่งเสริมการเกิด แต่ได้ช่วยทำให้ทัศนคติที่ดีต่อการสร้างคนรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศมีความชัดเจน และเกิดความเห็นพ้องต้องกันในสังคมอย่างดียิ่ง ถือได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับประชากรอนาคตรุ่นใหม่ โดยไม่คำนึงถึงเศรษฐานะใดๆ ในสังคม และเป็นการสร้าง “ความมั่นคงทางประชากร” ในอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ทางประชากรต่อการลดลงของประชากรนั้นจะทำด้วยการส่งเสริมการเกิดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำได้ทันการเสียทั้งหมด เพราะปัจจัยพื้นฐานและสถานภาพทางสังคมของประเทศจำเป็นต้องมีความมั่นคงและมั่งคั่งมากกว่านี้ การตอบโต้ทางประชากร ตามทฤษฎี Multiphasic Response Theory ของ Davis ใน ค.ศ. 1963 ที่ใช้เป็นทฤษฎีในการตอบโต้การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วมาในอดีต สามารถนำมาใช้กับสมัยปัจจุบัน เพื่อตอบโต้กับประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็วได้ด้วยเช่นกัน การตอบโต้หลายด้านไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ การส่งเสริมการเกิดดังกล่าวมาแล้ว การนำเข้าประชากรและแรงงานจากต่างประเทศ (replacement migration) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างพลิกโฉมแห่งยุคประเทศไทย 4.0 การเลื่อนการเกษียณอายุให้สูงขึ้นนโยบาย active ageing หรือการสร้างสังคมเศรษฐกิจอายุรวัฒน์ (longevity economy society) การลดภาวะการตายจากอุบัติเหตุและสาเหตุที่แก้ไขได้ การใช้เครื่องจักรกล และสมองกลทดแทนแรงงาน นโยบายการให้สัญชาติกับบุตรของแรงงานต่างชาติที่เกิดในประเทศ  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ inclusive โดยรวมกลุ่มประชากรด้อยโอกาสต่างๆ รวมทั้งกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้พัฒนาตนเป็นผู้ผลิตและมีความยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง ตลอดจนการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจโดยตั้งเป้าไปที่ครัวเรือนที่รายได้ต่ำที่สุด 40% ของประเทศ (B40) รวมความแล้วก็คือการเปลี่ยนเป้าหมายจาก “ปริมาณ” ของประชากรมาสู่การลงทุนเพื่อ “คุณภาพ” ของประชากรทุกกลุ่ม

นโยบายตอบโต้ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ และสังคม หรือสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินไปอยู่แล้ว แต่ในฐานะนักประชากร ผู้เขียนขอให้ความสำคัญกับ replacement migration ซึ่งเป็นแนวทางด้านประชากรล้วนๆ จากการคาดประมาณประชากรไทยในอนาคต ในการศึกษาประชากรที่เหมาะสมโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิดา ชวนวัน พบว่าอีกประมาณ 50-70 ปี ประชากรไทยจะลดลงเรื่อยๆ และจะเหลือเพียงครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 33 ล้านคนเท่านั้น ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยมีประชากรสัก 40 ล้านคน ในอีก 70 ปี ข้างหน้า เราจำเป็นจะต้องให้สัญชาติไทยกับชาวต่างชาติ ประมาณ 7 ล้านคน ถ้าจะเริ่มคิดถึงจำนวนตั้งแต่ตอนนี้ คือ ปีละ 100,000 คน ซึ่งวิธีการนำเข้า การคัดสรรและการให้สัญชาติมีหลายวิธีและหลายระบบขึ้นอยู่กับทัศนคติและความต้องการอันหลากหลายของคนในชาติกลุ่มต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ตลอดจนขึ้นอยู่กับสถานการณ์การปกครองในประเทศ ความเป็นประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ ซึ่งจะต้องทำ.การศึกษาสถานการณ์อย่างจริงจังต่อไป จากตัวอย่างในหลายประเทศที่มีหน่วยงานด้านนี้โดยตรงในระดับกระทรวง ประเทศไทยก็ควรจะมีหน่วยงานระดับสูงเช่นนี้เพื่อประสานงานด้านความมั่นคง การปกครอง การต่างประเทศ แรงงาน อุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง การสาธารณสุขการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนการจัดการด้านวัฒนธรรม เข้าด้วยกัน เพื่อดูแลเรื่อง “ความมั่นคงทางประชากร” ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับขนาด โครงสร้าง และการกระจายตัวของประชากร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในระยะยาว และเพื่อรองรับสถานการณ์ในประเทศไทยในอนาคตอีก 70 ปีข้างหน้า
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th