The Prachakorn

เกิดอะไรขึ้น??? เมื่อแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ


กัญญา อภิพรชัยสกุล

21 สิงหาคม 2562
496



อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่ชายแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม เป็นพื้นที่ที่ได้พัฒนานโยบายและรูปแบบในการจัดการดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มเด็กข้ามชาติ จนได้รับการยกย่องเป็น “แม่สอดโมเดล” ในหลายเรื่อง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เป็น 1 ใน 5 พื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรกอีกด้วย

เกิดอะไรขึ้น จากผลการศึกษาเชิงคุณภาพ โครงการ “ประชากรเด็กข้ามชาติ: การเลี้ยงดู การเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก” เป็นมุมมองและการรับรู้ของครอบครัวแรงงานข้ามชาติ และผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์แนวโน้มผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของอำเภอแม่สอด ที่จะมีต่อสถานการณ์ประชากรข้ามชาติและเด็กข้ามชาติ

ประเด็นด้านสุขภาพ การพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีแนวโน้มส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ เช่นที่โรงพยาบาลแม่สอด ได้รับการขยายขีดความสามารถในการดูแลประชากรเพิ่มขึ้นเป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียง รวมถึงได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่โดยรอบ โดยการจัดทีมแพทย์และพยาบาลลงไปปฏิบัติงาน แม้โรงพยาบาลแม่สอดจะได้รับการขยายศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาและข้อจำกัดที่สำคัญยังคงเป็นเรื่องของกำลังคน และยอดค่าใช้จ่ายอนุเคราะห์ต่อปีที่ยังสูงถึงประมาณ 60 ล้านบาท เนื่องจากแรงงานจำนวนมากยังไม่มีบัตรประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดตามหรือกลุ่มที่เป็นประชากรแฝงซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กข้ามชาติ 

การพัฒนาแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับมุมมองที่เป็นข้อกังวล เสียงสะท้อนจากผู้แทนหน่วยงานทางด้านสุขภาพ คือ ยังขาดการเตรียมการและขาดการให้ความสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการมองในเรื่องของธุรกิจและการลงทุน ยังขาดการเตรียมความพร้อมทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ การไหลเข้าของประชากรต่างถิ่นรวมถึงประชากรแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มขึ้น ย่อมจะนำไปสู่แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและความยากในการควบคุมโรค โดยเฉพาะในพื้นที่โรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงทางสุขภาพประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อน่ากังวล คือ การแพร่ระบาดของวัณโรค นอกจากนี้การไหลเข้ามาของจำนวนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมเกิดความแออัดที่เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความยากลำบากในการควบคุมโรค การส่งเสริมและป้องกันโรคและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเบื้องต้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

การศึกษาของเด็กข้ามชาติ การพัฒนาอำเภอแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจยังไม่ได้มีผลกระทบที่ชัดเจนในด้านการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติมากนัก แต่มีผลกระทบทางอ้อมในเชิงบวก เช่น การมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาให้การสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติเพิ่มขึ้น ได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมให้เกิดศูนย์การเรียนรู้มากขึ้น และโรงเรียนไทยเองเปิดรับเด็กข้ามชาติเข้าศึกษามากขึ้น เสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของผู้ให้ข้อมูล มองว่าการศึกษาของเด็กข้ามชาติยังคงเป็นการเข้าเรียนหรือรับการศึกษาจากศูนย์เรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชนมากกว่าโรงเรียนไทย ด้วยปัญหาและข้อจำกัดของเด็กข้ามชาติที่สำคัญเป็นเรื่องของภาษาไทย เนื่องจากการเข้าศึกษาในโรงเรียนไทย เด็กจำเป็นต้องสื่อสารภาษาไทยได้ ซึ่งการให้บุตรหลานเข้าศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไปในการเรียนการสอน ทำให้เด็กข้ามชาติมีโอกาสและความสามารถทางด้านภาษาที่หลากหลายมากกว่า 

มุมมองขององค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของอำเภอแม่สอด หากสามารถดำเนินการและขับเคลื่อนได้ตามแผนงานที่ประเทศไทยกำหนดไว้ คาดว่าน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านบวกในพื้นที่ โดยเฉพาะในด้านโอกาสการจ้างงานที่ดีขึ้นในอนาคต ในระยะยาวเด็กข้ามชาติและนักเรียนในพื้นที่ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจะมีโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถทางด้านภาษามีโอกาสในการมีงานทำที่สูงกว่า

 
การวางผังเมืองเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก (กระทรวงมหาดไทย, 2558)
ที่มา : http://gisweb.diw.go.th/diwzoning/images/content/5download/SEZ.pdf
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th