ทราบหรือไม่ว่า คนไทยอ้วนเป็นอันดับ 2 ของประชากรในประเทศอาเซียนรองจากมาเลเซีย และเมื่อแยกตามเพศแล้ว ก็จะพบว่าชายไทยอ้วนเป็นอันดับ 4 และหญิงไทยอ้วนเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนเลยทีเดียว
ที่น่าตกใจอีกอย่างหนึ่งคือ ในบ้านเรามีแนวโน้มที่เด็กอ้วนจะเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายงานสุขภาพคนไทย 25571 ที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยอายุ 1-5 ปี และ 6-14 ปี ราว 1 ใน 10 คน มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ผู้ใหญ่จำนวนมากยังมีค่านิยมและทัศนคติว่า เด็กอ้วนหรือเด็กจ้ำม้ำคือเด็กน่ารัก ยิ่งอ้วนก็ยิ่งสุขภาพดี ทำให้เด็กจำนวนมากอยู่ในภาวะโภชนาการเกิน (กาญจนา เหลืองอุบล, 2552)2
ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเป็นต้นตอของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ผู้ปกครองอาจต้องหันกลับมาคิดและทำความเข้าใจกันเสียใหม่เพื่อปรับภาวะโภชนาการของเด็กให้เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพของเด็กในระยะยาว
ที่มา: ปรับจาก สุขภาพคนไทย, 2557
1 โครงการสุขภาพคนไทย. 2557. คนไทย “อ้วน” แค่ไหน. สุขภาพคนไทย2557 (10-11). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
2กาญจนา เหลืองอุบล. 2552. การศึกษาความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก อายุ 0 ถึง 5 ปีที่มีภาวะโภชนาการเกินของผู้ปกครองที่มารับบริการคลินิกตรวจสุขภาพเด็ก ศูนย์อนามัยที่ 6. ค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน2556, จาก http://203.157.71.148/Information/center/reserch%2054/nutri_2-54.pdf