The Prachakorn

การเลียนแบบ


วรชัย ทองไทย

26 สิงหาคม 2562
2,139



การเลียนแบบหรือการทำตาม (imitation) เป็นพฤติกรรมที่คนๆ หนึ่งสังเกตและทำตามพฤติกรรมของอีกคนหนึ่ง การเลียนแบบเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ทางสังคมที่นำไปสู่การพัฒนาของแบบแผนประเพณี อันนำไปสู่การพัฒนาของวัฒนธรรม การเลียนแบบเป็นการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร พฤติกรรม จารีตประเพณี ฯลฯ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์     

คำว่า “การเลียนแบบ” ใช้ได้ในหลายบริบทตั้งแต่การฝึกสัตว์ไปจนถึงการเมือง การเลียนแบบตามศัพท์โดยทั่วไปจะอ้างอิงถึงพฤติกรรมที่ตั้งใจ แต่ถ้าไม่ตั้งใจจะใช้ศัพท์ว่า กระจกสะท้อน (mirroring)

กระจกสะท้อนเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นต้นแบบของพฤติกรรมของบุคคล ได้แก่ พ่อแม่ คนใกล้ชิด เพื่อนสนิท ที่คนเราจะเลียนแบบ ทั้งท่าทาง การพูด เจตคติ ดังเช่น พฤติกรรมของเด็กมักจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของพ่อแม่

การเลียนแบบเป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้สังคม เด็กทารกแรกเกิดเพียงไม่กี่วัน ก็มีความสามารถในการเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าแล้ว เมื่ออายุราว 8 เดือน เด็กทารกจะสามารถเลียนแบบอริยาบทของคนเลี้ยง เมื่อเล่นเกมส์ต่างๆ ได้ เช่น ตบมือ กำมือแบมือ และจ๊ะเอ๋ เมื่ออายุราว 18 เดือน ก็จะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมง่ายๆ ที่ได้เห็นจากผู้ใหญ่ เช่น การยกหูโทรศัพท์ของเล่น พร้อมกับพูดว่า “ฮัลโล” การกวาดบ้านด้วยไม้กวาดสำหรับเด็ก หรือการตำครกของเล่น เมื่ออายุราว 30-36 เดือน เด็กก็จะเลียนแบบพ่อแม่ เช่น แสร้งทำว่าจะไปทำงานหรือไปโรงเรียน หรือพูดคำสุดท้ายที่ผู้ใหญ่พูด หรือเลียนแบบท่าทางการสนทนาของสมาชิกในครัวเรือน

ที่มา: http://modules.ilabs.uw.edu/module/power-learning-imitation/

เด็กเล็กชอบที่จะเลียนแบบพ่อแม่ และช่วยเหลือพ่อแม่ด้วย การเลียนแบบช่วยให้เด็กเรียนรู้และมีประสพการณ์ตรง เด็กเรียนรู้ได้ด้วยการกระทำ ไม่ใช่ด้วยการมองดู  จึงเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกทำในเรื่องง่ายๆ เช่น ดื่มน้ำจากแก้ว ทานข้าวด้วยช้อน หรือใส่รองเท้า

การเลียนแบบมีบทบาทสำคัญต่อการมองโลกของเด็กเล็กด้วย เพราะเด็กเล็กยังขาดทักษะการพูด พวกเขาจึงใช้การเลียนแบบในการสื่อสารกับโลก เด็กจะเลียนแบบสิ่งที่ได้พบเห็นเป็นประจำ เราจึงสามารถสอนเด็กได้ด้วยการทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เช่น ถ้าต้องการให้เด็กช่วยทำงานบ้าน เราก็ต้องกวาดบ้าน ถูบ้าน เก็บสิ่งของให้เป็นที่ หรือล้างจานให้เด็กเห็น ถ้าต้องการให้เด็กกินผัก เราก็ต้องกินผักเป็นประจำ หรือต้องการให้เด็กขยันเรียน เราก็ต้องอ่านหนังสือเป็นแบบอย่าง

แต่ถ้าในบ้านมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น มีเสียงด่าทอหรือการแสดงความรุนแรง เด็กก็จะทำตามและจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ อันมีผลให้เด็กมองโลกในแง่ร้าย ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องระมัดระวังการใช้คำพูด การกระทำ และการแสดงออกต่อหน้าลูก ดังคำกล่าวที่ว่า “ลูกทำให้พ่อแม่เป็นคนดีขึ้น”

การเลียนแบบไม่ได้มีแต่เฉพาะในเด็กเท่านั้น คนเรามีพฤติกรรมเลียนแบบตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เด็กเลียนแบบการ์ตูน วัยรุ่นเลียนแบบนักร้องและดารา วัยทำงานเลียนแบบคนมีชื่อเสียง วัยกลางคนเลียนแบบผู้ประสบความสำเร็จทางการงาน ทางสังคม ทางทำมาหากินเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว วัยสูงอายุเลียนแบบผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนผู้ชายเลียนแบบบิดา ผู้มีอำนาจทางการบริหาร ผู้มีอำนาจทางสังคม พระเอก นักกีฬา นักเลง บุคคลในสื่อ และผู้หญิงเลียนแบบมารดา นางเอก ดาราดัง นักร้อง นักแสดง บุคคลในสื่อ สรุปแล้ว คนเราจะเลียนแบบในสิ่งที่ชอบและเห็นว่าดี

สังคมและวัฒนธรรมต่างก็เลียนแบบซึ่งกันและกัน โดยแต่ละสังคมจะนำเอาสิ่งที่ดีของสังคมอื่นมาประยุกต์ใช้กับสังคมของตน อันมีผลให้โลกได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันการพัฒนานี้อาจหยุดชะงักได้เพราะลัทธิทุนนิยมสุดโต่ง (Hypercapitalism)

เงื่อนไขหนึ่งในระบบทุนนิยมคือ การพิทักษ์ทรัพย์สินส่วนบุุคคล ซึ่งทำให้เกิดสิทธิบัตร (patent) ลิขสิทธิ์ (copyright) และเครื่องหมายการค้า (trademark) เพราะเชื่อว่า การมีทรัพย์สินส่วนตัวจะทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น เพราะการแข่งขันเป็นหัวใจของลัทธิทุนนิยม

สิทธิบัตรคือ หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนลิขสิทธิ์คือ สิทธิทางวรรณกรรม ศิลปกรรม และประดิษฐกรรม ซึ่งผู้เป็นต้นคิดได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สำหรับเครื่องหมายการค้าคือ คำ วลี เครื่องหมาย สัญลักษณ์  หรือลวดลายของสินค้าหรือบริการหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างจากสินค้าอื่น ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายเช่นกัน โดยที่สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์จะมีอายุเวลาคุ้มครอง แต่เครื่องหมายการค้าไม่มีเงื่อนไขเวลา

เมื่อสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์หมดอายุแล้ว ใครๆ ก็สามารถทำเลียนแบบได้ อันจะมีผลให้มีการต่อยอดและพัฒนาสิ่งนั้นๆ ให้ดีขึ้น แต่ปัจจุบันได้มีบริษัทข้ามชาติบางแห่งได้ใช้กฏหมายสิทธิบัตรกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาแข่งขัน อันมีผลให้การพัฒนาน้อยลง และผู้บริโภคต้องใช้สินค้าในราคาแพง เช่น สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรพืช สิทธิบัตรโปรแกรมคอมพิวเตอร์    

เมื่อปีล่าสุด (พ.ศ. 2562) รางวัลอีกโนเบล สาขามานุษยวิทยา มอบให้กับนักวิจัยชาวสวีเดน โรมาเนีย และเดนมาร์ค (Tomas Persson, Gabriela-Alina Sauciuc และ Elainie Madsen) ที่ได้สังเกตพฤติกรรมของลิงชิมแปนซีในสวนสัตว์ จนสามารถสรุปได้ว่า ลิงชิมแปนซีชอบเลียนแบบมนุษย์มากเท่าๆ กับที่มนุษย์ชอบเลียนแบบลิงชิมแปนซี

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


คำสำคัญ คือ การเลียนแบบ การเรียนรู้สังคม เด็กเรียนรู้จากพ่อแม่


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th