จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 ความว่า “คนไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย จิตใจไม่สบาย ร่างกายไม่แข็งแรง” ทำให้หลายหน่วยงานต้องหันมาให้ความสนใจในการจัดทำฟันปลอมให้กับผู้สูงอายุ1 ซึ่งส่วนใหญ่ประสบกับภาวะการเสื่อมถอยของร่างกายรวมถึงสภาวะภายในช่องปาก โดยองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพภายในช่องปากของผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของ Active Aging หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “พฤฒพลัง” หมายถึง ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการดำเนินชีวิต2 ซึ่งจากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าการสูญเสียฟันจะทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถรับประทานอาหารได้สะดวก ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอและทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ3
จากการกำหนดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้สูงอายุต้องมีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ และมีฟันหลังใช้เคี้ยวอย่างน้อย 4 คู่สบ คือ การมีฟันกรามหลังบนล่างและซ้ายขวาที่สบกันอย่างน้อย 4 คู่ขึ้นไป ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก4 และจากรายงานสำรวจสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประเทศ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2555 พบว่า ผู้สูงอายุที่มีจำนวนฟันไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด กลับมีความต้องการใส่ฟันเทียมลดลงจากร้อยละ 4.1 ในการสำรวจครั้งที่ 6 เหลือเพียงร้อยละ 2.5 ในการสำรวจครั้งที่ 75 นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยยังขาดความตระหนักในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวอาหารที่ดีขึ้น6 แต่ในบางการศึกษากลับพบว่า การใส่ฟันเทียมส่งผลต่อการบาดเจ็บภายในช่องปากและทำให้ผู้สูงอายุมีอาการเจ็บปวดขณะรับประทานอาหาร7 ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่อยากใส่ฟันปลอม
Image by rawpixel from Pixabay
ใน พ.ศ. 2561 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่ได้ใส่ฟันปลอมจะมีร้อยละของการกินผัก กินผลไม้ และกินทั้งผักและผลไม้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมเล็กน้อย นั่นแสดงให้เห็นว่า การใส่ฟันปลอมทำให้ผู้สูงอายุได้กินอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างผักและผลไม้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอม
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมยังประสบกับปัญหาการมีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (body mass index) น้อยกว่าปกติมากกว่าผู้ที่ใส่ฟันปลอม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการบดเคี้ยวอาหารจากการสูญเสียฟันมีโอกาสเกิดสภาวะที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาสูญเสียฟัน8
ปัญหาการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุยังส่งผลกระทบต่อเนื่องจนทำให้เกิดโรคได้มากมาย รวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญของประชาชนทุกกลุ่มวัย และผู้เขียนอยากให้ผู้สูงอายุรวมทั้งลูกหลานที่มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย ที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพฟัน หันมาให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพฟันของท่าน และรีบไปรักษาฟันกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใส่ฟันปลอม แต่หากผู้สูงอายุท่านใดได้รับความเจ็บปวดจากการใส่ฟันปลอม ก็อยากให้รีบกลับไปปรึกษาทันตแพทย์และทำตามคำแนะนำที่ได้ เพราะการใส่ฟันปลอมจะช่วยในการบดเคี้ยวอาหารที่ดีขึ้น ทำให้เราได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ลดการเป็นโรค และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
ที่มา: วิเคราะห์จากข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย พ.ศ.2561
ที่มา: วิเคราะห์จากข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย พ.ศ.2561
*ค่า BMI หรือดัชนีมวลกาย (body mass index) เป็นการคำนวณจากน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยมีการแบ่งเกณฑ์สากลตามองค์การอนามัยโลก
ภาพปกโดย Image by rawpixel from Pixabay
อ้างอิง