The Prachakorn

เรามาทำ “ชีวเจตน์” กันดีไหม?


ปราโมทย์ ประสาทกุล

08 เมษายน 2561
602



เมื่อวันก่อน (29 สิงหาคม 2560) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ส่งทีมงานมาถ่ายทำวีดิทัศน์เกี่ยวกับโครงการศึกษาวิจัยที่ สกว. สนับสนุน เพื่อนําไปเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ผมในฐานะหัวหน้า “โครงการศึกษาศตวรรษิกชนคนร้อยปีในประเทศไทย” ซึ่งจบโครงการไปแล้วในปี 2559 ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้

ผู้สูงอายุวัยปลาย

คิดย้อนหลังไปในอดีตเมื่อหลายปีก่อน ผมเริ่มสนใจเรื่องผู้สูงอายุอย่างจริงจัง แต่ผู้สูงอายุทั่วๆ ไป ที่หมายถึงคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็ดูยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง ไม่ต่างจากคนหนุ่มสาวหรือคนวัยกลางคนสักเท่าไร ผมจึงเล็งไปที่กลุ่มคนที่มีอายุสูงมากๆ ที่เรียกว่า “ผู้สูงอายุวัยปลาย” หรือคนที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป ภาษาอังกฤษเรียกว่า the oldest old ผมเคยแปลเป็นไทยว่า “ผู้อายุสูงสุด” แต่ฟังดูแปร่งๆ ตอนหลังจึงมาใช้คำว่าผู้สูงอายุวัยปลาย ซึ่งก็ฟังรื่นหูดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อจําแนกผู้สูงอายุตามช่วงวัยกลุ่มอื่นๆ “ผู้สูงอายุวัยต้น” (the young old อายุ 60 – 69 ปี) “ผู้สูงอายุวัยกลาง” (the medium old อายุ 70 – 79 ปี) คำว่า “ผู้สูงอายุวัยปลาย” ก็ฟังดูเข้าชุดกันดี

ผู้สูงอายุวัยปลาย เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต คนกลุ่มนี้กําลังเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก ในขณะที่ประชากรไทยทั้งหมดกําลังเพิ่มช้าลงๆ เดี๋ยวนี้ประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราปีละ 0.5% แต่ประชากรสูงอายุวัยปลายกลับเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเกือบ 10% ต่อปี ลองคิดดูนะครับ เมื่อ 20 ปีก่อนประเทศไทยมีคนอายุ 80 ปีขึ้นไปเพียง 4 แสน 5 หมื่นคน แต่ปัจจุบัน มีคนที่อยู่ในช่วงวัยปลายนี้ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน ประมาณว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุวัยปลายมากถึงเกือบ 4 ล้านคน (ไม่แน่ใจว่าผมจะยังมีชีวิตเป็นหนึ่งในจำนวนนี้หรือเปล่า)

ศตวรรษิกชน คนร้อยปี

คนที่มีอายุสูงสุดในกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลายยิ่งน่าสนใจ คนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปที่ผมประดิษฐ์คําเรียกว่า “ศตวรรษิกชน” ให้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า centenarian เหตุผลที่ผมนําภาษาสันสกฤตมาใช้เรียก “คนร้อยปี” ว่าศตวรรษิกชนก็เพื่อเสริมให้คนกลุ่มนี้มีสง่าราศี สมกับที่มีอายุยืนยาวเป็นพิเศษเกินกว่าอายุขัยปกติของมนุษย์ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 100 ปี

ถามว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีศตวรรษิกชนอยู่กี่คน งานวิจัยของพวกเราได้พยายามตอบคําถามนี้ ถ้าดูข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยในปี 2558 มีคนอายุ 100 ปีขึ้นไปในประเทศไทยประมาณ 29,000 คน งานศึกษาของพวกเราได้ตรวจสอบเพื่อหาคําตอบว่า คนอายุร้อยปีที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรยังมีชีวิตหรือมีตัวตนจริงๆ ในพื้นที่ตัวอย่างอยู่สักกี่คน พวกเราพบว่าคนอายุ 100 ปีขึ้นไป ตามทะเบียนส่วนใหญ่มีแต่ชื่อ แต่หาตัวตนไม่พบแล้ว เราพบว่าคนร้อยปีตามทะเบียนที่ยังมีตัวตนอยู่ในช่วงเวลาที่เราสํารวจมีเพียงประมาณ 10% เท่านั้น เราจึงประมาณว่าในปี 2558 ประเทศไทยมีศตวรรษิกชนอยู่ราว 2,900 คนเท่านั้น ในจํานวนคนร้อยปีตามทะเบียนที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า คือ มีคนร้อยปีชายราว 700 คน และคนร้อยปีหญิงราว 2,200 คน

พวกเราเดินทางไปพบคนร้อยปีตามทะเบียนที่ยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ตัวอย่าง ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสพบคนร้อยปีหลายสิบคนในปีที่ทําการศึกษาโครงการนี้ ผมชอบคุยกับคุณตาคุณยายเกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กและเมื่อยังเป็นหนุ่มสาว อยากรู้เรื่องการแต่งงานและการมีลูก แต่ก็คุยได้กับบางคนเท่านั้น คนร้อยปีส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสภาพที่จะเล่าเรื่องราวสนุกๆ ให้พวกเราฟังเสียแล้ว สําหรับคนร้อยปีที่ไม่สามารถให้ข้อมูลส่วนตัวในรายละเอียดได้เราก็จะถามลูกหลาน ข้อมูลเหล่านี้จะทําให้เราพอจะประเมินได้ว่า คนร้อยปีคนนั้นน่าจะมีอายุถึงร้อยปีจริงหรือไม่ เราถามเรื่องความรัก การเจอเนื้อคู่ อายุเมื่อแต่งงาน อายุเมื่อมีลูกทุกคน ข้อมูลเหล่านี้ทําให้เราพอจะประมาณได้ว่า คุณตาคุณยายท่านนั้นน่าจะมีอายุถึง 100 ปีจริงหรือไม่ เช่น ลูกคนแรกของคุณยายมีอายุ 60 ปี ก็ทําให้เราพอจะนึกภาพออกว่าคุณยายมีลูกคนแรกเมื่ออายุมากถึง 40 ปี คนไทยสมัยก่อน น่าจะแต่งงานเมื่ออายุไม่มากนัก ผู้หญิงไทยเมื่อร้อยปีก่อนจะแต่งงานช้าและมีลูกคนแรกเมื่ออายุมากขนาดนั้นเป็นไปได้หรือไม่ หรือคุณยายคนหนึ่งมีลูกคนสุดท้องอายุเพียง 50 ปี ก็เท่ากับว่าคุณยายมีลูกคนสุดท้องเมื่ออายุราว 50 ปีอย่างนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่แม่จะมีอายุถึง 100 ปี

เราพบว่าคนร้อยปีมากกว่าครึ่งที่อายุตามทะเบียนไม่น่าจะถูกต้อง คืออายุไม่น่าจะถึง 100 ปี ปีเกิดที่บันทึกไว้ในทะเบียนของหลายคนน่าจะผิดไปเป็นรอบ 12 ปีนักษัตร คุณตาคุณยายหลายคนถ้าเอา 12 ลบออกจากอายุตามทะเบียน ก็น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า

อายุ 100 ปีดีจริงหรือ

เพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า ผมคุยกับคนอายุร้อยกว่าปีมาหลายคนคงได้รู้เรื่องราวในอดีต ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพสังคมไทยเมื่อร้อยปีก่อนมากสินะ... ผมอธิบายให้เพื่อนฟังว่า ผมไม่เคยหวังที่จะได้ข้อมูลมากมายอะไรนักจากการสนทนากับคนร้อยปี เราสามารถมองเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเมื่อศตวรรษก่อนจากการอ่านหนังสือที่มีผู้เขียนไว้เป็นจํานวนมาก มีรูปถ่ายบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย และภาพคนไทยในอดีต เรื่องเล่าประวัติชีวิตของบุคคลสําคัญบางคน วัตถุพยานหลักฐานที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เหล่านี้ ทําให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับคนไทยในอดีตเมื่อร้อยปีก่อนพอสมควร บางครั้งผมโชคดีที่ได้พบคนร้อยปีที่ยังมีความทรงจําดี เราก็คุยกับท่านได้สนุก ท่านมีโอกาสได้รื้อฟื้นความหลัง เราก็มีโอกาสได้ฟังเรื่องราวในอดีตที่น่าตื่นเต้นโดยมีผู้แสดงเอกในเรื่องตัวเป็นผู้คุยให้เราฟัง

เวลาพวกเรานัดพบกับคนร้อยปี เรามักได้พบกับลูกหลานหลายๆ คน ของท่านที่มาอยู่กันพร้อมหน้า เราจะรู้สึกได้ถึงความรักที่ลูกหลานมีต่อคุณตาคุณยายหรือคุณทวด ศตวรรษิกชนคนร้อยปีเป็นความภูมิใจของลูกหลาน เป็นศักดิ์ศรีของครอบครัวโดยเฉพาะ หากคนร้อยปีท่านนั้นยังมีสุขภาพดี

เมื่อผมเขียนวลีที่ว่า “หากคนร้อยปีท่านนั้นยังมีสุขภาพดี” ก็ทำให้อดคิดถึงอีกมุมหนึ่งไม่ได้ ใช่ว่าคนร้อยปีที่ผมไปพบทุกคนจะมีสุขภาพดี หลายคนหรืออาจจะมากกว่าครึ่งของคนร้อยปีที่ไปพบมีสุขภาพที่อาจเรียกได้ว่าไม่ค่อยดีนัก หลายคนความจําเสื่อมถอยลงตามวัย จําลูกหลานไม่ได้ มีอาการหลงลืม ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน อายุมากเข้าก็กลายเป็นคนหูหนักไป หลายครั้งที่เราต้องใช้ล่าม (ลูกหลานหรือผู้ดูแล) พูดเสียงดังข้างหูให้ท่านได้ยิน เราพบว่าคนร้อยปีมักจะมีปัญหาเรื่องสายตา สายตาพร่ามัว หรือฝ้าฟาง มีบางรายสายตาถึงขั้นบอดสนิท การเคลื่อนไหวเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบมากในคนร้อยปี ไม่นับคนที่นอนติดเตียง คนร้อยปีที่ยังสามารถลุกยืนและเดินได้เองมีไม่มากนัก หลายคนเคลื่อนไหวไปมาภายในบ้านด้วยการกระเถิบกระถัดไป

“หากคนร้อยปีท่านนั้นยังมีสุขภาพดี” ผมไม่ได้หมายความว่าท่านนั้นจะต้องมีความทรงจำที่ดีพอสมควร ยังสามารถช่วยตัวเองได้ในการทํากิจวัตรประจําวันต่างๆ เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหารได้เอง เข้าห้องน้ำขับถ่ายได้เอง หรือยังเดินเหินไปมาภายในบ้านได้เอง เมื่อสังขารคนเราอยู่มานานถึงร้อยปีแล้วย่อมเสื่อมโทรมไปตามสภาพ เกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ตามลําพังโดยไม่มีคนดูแลช่วยเหลือ ที่จริง ถ้าไม่ถึงขนาดต้องนอนติดเตียง ต้องป้อนข้าวป้อนน้ำ และยังมีความทรงจําดีพอสมควร ผมก็อยากจะเรียกว่าคนร้อยปีท่านนั้นว่ามีสุขภาพดีแล้ว แต่... คนร้อยปีที่มีสุขภาพดีแค่เพียงมาตรฐานของผมก็น่าจะมีไม่ถึงครึ่งของคนร้อยปีที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด

เรามาทำ “ชีวเจตน์” กันดีไหม

เท่าที่เคยคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ ในวัยสูงอายุด้วยกัน ผมสรุปได้โดยไม่ต้องสาธยายให้มากความ ทุกคนไม่อยากตาย แต่ก็ไม่อยากอยู่ในสภาพที่หมดศักดิ์ศรี ผมได้ฟังพี่ๆ เพื่อนๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าให้มีอายุยืนถึง 100 ปี ได้ชื่อว่าเป็นศตวรรษิกชน แต่ต้องนอนเป็นผักอยู่ในเตียง หล่อเลี้ยงชีวิตผ่านสายระโยงระยาง สายท่อช่วยหายใจ ให้อาหารทางสายยาง ขับถ่ายผ่านทางสายยาง อย่างนี้ทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอตายดีกว่า”

แต่บางครั้ง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราอาจจะตกอยู่ในสภาพ “อยากอยู่ก็อยู่ไม่ได้ อยากตายก็ตายไม่ได้” ผมเคยถามคนร้อยปีทั้งชายและหญิงหลายคนว่าทำ.ไมอายุยืนถึงร้อยปี ได้คำ.ตอบคล้ายกันว่า “ก็มันยังไม่ตายสักทีนี่” ผมเคยเห็นผู้สูงอายุวัยปลายคนหนึ่งเจ็บป่วยมาก บ่นอยากตายเพื่อให้พ้นความทุกข์ทรมาน แต่ก็ไม่รู้จะตายอย่างไรให้สมอยาก จึงต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกระทั่งหายป่วยและอยู่มาจนถึงวันนี้ ผู้สูงอายุหลายคนอยู่ในสภาพติดเตียง เหมือนคนนอนหลับที่ไม่มีความรู้สึกใดๆ เพราะสมองไม่ทํางานแล้ว มีแต่ลมหายใจที่ยังมีอยู่เพราะเครื่องช่วยหายใจ แต่ลูกหลานญาติพี่น้องก็ยังไม่ปล่อยให้ตาย

เดี๋ยวนี้แนวคิดเรื่องการทําเอกสาร “ชีวเจตน์” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียก living will กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เอกสารนี้ บุคคลทำขึ้นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของตนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ไม่ขอการรับการรักษาทางการแพทย์เมื่อตนเองอยู่ในสภาพที่หมดทางรักษาให้อาการเจ็บป่วยดีขึ้นแล้ว และตนเองก็ไม่สามารถตัดสินใจอย่างไรต่อไป จึงแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อถึงระยะเวลาสุดท้ายที่ตนอยู่ในสภาพเช่นนั้น ขอไม่รับการรักษาทางการแพทย์เพื่อยืดชีวิตของตนไว้ จงปล่อยให้ตนจากไปตามธรรมชาติ ผมยังไม่ได้ทําเอกสารฉบับนี้ แต่เห็นด้วยที่จะไม่มีการยื้อชีวิตของคนไว้ด้วยท่อสายยางต่างๆ ถึงยังไม่ได้ทําเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผมก็ได้บอกคนรอบข้างและบอกใครต่อใครว่า ผมต้องการเช่นนั้น

รูปจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/bypunnee/2009/09/10/entry-1

ผมไม่อยากอยู่ถึงร้อยปีหรอกครับ อายุเท่าไรก็ได้ แต่ขอให้ตายอย่างมีศักดิ์ศรีก็แล้วกัน


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th