The Prachakorn

พาพ่อกลับกรีนแลนด์


อมรา สุนทรธาดา

05 พฤศจิกายน 2562
756



เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วดินแดนสุดขั้วโลกเหนือที่ประกอบด้วย อะแลสกา กรีนแลนด์ ไซบีเรีย และหมู่เกาะขนาดเล็ก เป็นดินแดนในฝันของนักสำรวจขั้วโลกเหนือที่ต้องการไปผจญภัยเพื่อค้นหาความลี้ลับด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับชนพื้นเมืองในการใช้ชีวิตในสภาวะภูมิศาสตร์ที่สุดทรมาน เช่น อะแลสกามีอุณหภูมิในฤดูร้อน 0 องศาเซลเซียสและในฤดูหนาวติดลบ 40 องศาเซลเซียส ชนเผ่าพื้นเมือง อินุต (Inuit) เป็นชนเผ่าเชื้อสายมองโกลอยด์ อพยพมาจากไซบีเรีย เมื่อราว 2500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช

นอกจากนั้น สิ่งที่นักสำรวจขั้วโลกเหนือสนใจคือการนำ.ชนพื้นเมืองจากกรีนแลนด์รวมทั้งครอบครัวของมินิค 6 ชีวิตมาที่นิวยอร์กเมื่อปี 1897 เพื่อศึกษาพันธุกรรมของชนเผ่านี้ ตามคำขอของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์และพันธุศาสตร์ ประสบการณ์ครั้งแรกในแผ่นดินอเมริกาของทั้ง 6 ชีวิตคือการถูกนำไปแสดงตัวในที่ต่างๆ เพื่อให้สังคมรู้จักรูปร่างหน้าตาของชนพื้นเมืองจากแดนไกล เมื่อมินิคอายุเพียง 8 ขวบเขาต้องประสบเคราะห์กรรมอีกครั้งเมื่อพ่อและญาติที่มาพร้อมกันอีก 4 คน เสียชีวิตด้วยโรคนิวมอเนียเมื่อปี 1898 และที่สำคัญไม่มีการประกอบพิธีศพตามขนบประเพณีของชนเผ่าอินุต หรือที่คนทั่วโลกรู้จักกันทั่วไปว่าชาวเอสกิโม ซ้ำร้ายโครงกระดูกของพ่อถูกจัดแสดงไว้ที่ American Museum of Natural History นิวยอร์ก นานหลายปี ซึ่งมินิคเจ็บช้ำและพยายามทำทุกวิถีทางที่จะนำร่างของพ่อที่รักกลับสู่มาตุภูมิที่กรีนแลนด์ ในช่วงแรกไม่มีใครสนใจให้ความช่วยเหลือแม้แต่กลุ่มนักสำรวจที่พาครอบครัวของเขามาอยู่ที่นิวยอร์ก แต่มินิคสู้ต่อจนประสบความสำเร็จด้วยการขอความช่วยเหลือจากบุคคลหลายกลุ่มและให้สัมภาษณ์สื่อจนกลายเป็นเรื่องสะเทือนใจ ในที่สุดทุกฝ่ายยื่นมือให้ความช่วยเหลือนำโครงกระดูกทุกร่างกลับกรีนแลนด์


 
ชุดประจำชาติชนพื้นเมืองชนเผ่าอินุต
ภาพจาก: https://visitgreenland.com/providers/ilulissat-tourist-nature/

มินิคเติบโตในนิวยอร์กในฐานะบุตรบุญธรรมของหนึ่งในคณะผู้สำรวจขั้วโลกเหนือ เขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีทั้งที่อยู่และโอกาสด้านการศึกษารวมทั้งการใช้ชีวิตแบบชาวนิวยอร์กทั่วไป มีเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกัน ได้เล่นกีฬาที่เขาชื่นชอบและมีจักรยานคู่ใจ ระยะหลังมินิคปรับตัวไม่ได้กับชีวิตในเมืองใหญ่ กลายเป็นวัยรุ่นติดเที่ยว ดื่มสุรา เปลี่ยนงานบ่อยๆ และดิ้นรนอยากกลับบ้านที่กรีนแลนด์ ในที่สุดเขาหาโอกาสเดินทางกลับบ้าน แต่อยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ ก็โหยหาชีวิตและแสงสีของนิวยอร์ก มินิคเบื่อหน่าย แสงเหนือ สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ชนเผ่าพื้นเมืองเชื่อว่าเป็นสิ่งนำโชค ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตในแผ่นดินมาตุภูมิที่จากไปตั้งแต่วัยเด็ก เขาเบื่อหน่ายกับข้อปฏิบัติสำหรับการฝึกฝนให้มีทักษะในการล่าสัตว์หรือมีความชำนาญในการออกแบบเครื่องมือล่าสัตว์แบบใหม่ๆ รวมทั้งติดตามผู้ใหญ่ออกล่าสัตว์เพื่อเก็บประสบการณ์ มินิคกลับอเมริกาอีกครั้งเมื่อปี 1916 คราวนี้เขาเลือกนิวแฮมเชียร์เป็นบ้านที่สองและเสียชีวิต 1 ปีหลังจากนั้นด้วยอาการนิวมอเนีย เมื่ออายุเพียง 31 ปี โครงกระดูกของมินิคไม่ได้กลับกรีนแลนด์เหมือนพ่อ แต่นอนสงบอยู่ที่สุสาน The Indian Stream นิวแฮมเชียร์

ปัจจุบันกรีนแลนด์มีประชากรประมาณ 57,000 คน แบ่งเป็นประชากรหญิง 53% และประชากรชาย 47% อายุเฉลี่ยผู้ชาย 68.3 ปี ผู้หญิง 73.7 ปี ความหนาแน่นของประชากร 0.1 คน ต่อพื้นที่ 1 ตารางไมล์ ร้อยละ 96 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 88 ของประชากรเป็นชนเผ่าพื้นเมืองอินุต ส่วนที่เหลือมีเชื้อสายบรรพบุรุษจากเดนมาร์กและนอร์เวย์ เนื่องจากในอดีตนักรบไวกิ้งจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เคยเดินทางมาสำรวจขั้วโลกเหนือและเป็นชาติแรกที่มาถึงกรีนแลนด์ ต่อมาในปี 1953 กรีนแลนด์เป็นดินแดนในความครอบครองของเดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกาขอซื้อกรีนแลนด์เมื่อปี 1867 ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์เพื่อรักษาสมดุลด้านฐานทัพกับรัสเซียในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ปัจจุบันกรีนแลนด์ยังเป็นจุดท่องเที่ยวที่มาแรงเพราะมีธรรมชาติที่สวยงามและท้าทายสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัย
พ่อกลับบ้านแล้วแต่มินิคยังนอนสงบอยู่ที่สุสานเมืองนิวแฮมเชียร์จนทุกวันนี้       

 
งานแกะสลักจากกะโหลกและฟันหน้าของสิงโตทะเล
ภาพจาก: https://visitgreenland.com/providers/ilulissat-tourist-nature/
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th