The Prachakorn

แรงงานข้ามชาติครูชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทย


ภัสสร มิ่งไธสง

19 พฤศจิกายน 2562
2,868



ฟิลิปปินส์ - ความหลากหลายที่ลงตัว    

ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน ตั้งอยู่บนหมู่เกาะแปซิฟิกด้วยเหตุที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปนและสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีความแตกต่างจากกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงความคิด และการทำธุรกิจ การเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์มีความได้เปรียบทางภาษาอังกฤษเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียน1                 

ตลาดแรงงานครูฟิลิปปินส์ในไทย

ยุคโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีอาเซียนในพ.ศ. 2558 ส่งผลให้มีแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก ฟิลิปปินส์มีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก และไทยเป็นประเทศเป้าหมายหลักของแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์2  โดยเฉพาะในพ.ศ. 2561 มีแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทยจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยคิดเป็นร้อยละ 64.3 รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย3 

โดยภาพรวมแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์มีจำนวนทั้งสิ้น 15,190 คน ซึ่งงานที่ทำนั้นจะเป็นอาชีพหรืองานในลักษณะแรงงานกึ่งฝีมือและฝีมือ โดยมีความนิยมทำงานลักษณะในมาตรา 9 ด้านการสอน ธุรกิจและฝ่ายอื่น ๆ จำนวน 13,850 ตำแหน่ง และงานในลักษณะมาตราที่ 12 คือ ด้านการส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 1,346 ตำแหน่ง ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ทำงานในตำแหน่งการสอน กลุ่มวิชาชาชีพครู อาจารย์ วิชาชีพด้านการสอนเป็นจำนวนมากที่สุด โดยสามารถสังเกตได้จากกราฟที่ 1 ที่แสดงจำนวนแรงงานข้ามชาติครูฟิลิปปินส์ในประเทศไทยจำแนกตามรายปี ระหว่างพ.ศ. 2555-2561 พบว่า มีจำนวนตำแหน่งงานงานกลุ่มอาชีพครู อาจารย์ วิชาชีพด้านการสอน เพิ่มมากขึ้นทุกปีตั้งแต่พ.ศ. 2555 ที่มีตำแหน่งงานกลุ่มอาชีพครู อาจารย์ วิชาชีพด้านการสอนจำนวน 5,227 ตำแหน่ง แต่ยกเว้นในช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาการเมืองภายใน คือ พ.ศ. 2557 ทำให้ตำแหน่งงานได้ลดลงจากสถานการณ์ดังกล่าว ในพ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีตำแหน่งครูชาวฟิลิปปินส์ในราชอาณาจักรที่ถูกกฏหมายทั้งหมด 6,816 ตำแหน่ง พ.ศ. 2557 จำนวนตำแหน่งครูฟิลิปปินส์ลดลงเหลือ 6,784 ตำแหน่ง แต่ในพ.ศ. 2558 กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 7,475 ตำแหน่ง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงพ.ศ. 2561 ที่ตำแหน่งงานด้านครูอาจารย์หรือวิชาชีพการสอนของแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์มีจำนวนรวมสูงถึง 12,524 ตำแหน่ง และอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีกในอนาคตต่อไป

กราฟที่ 1 แสดงจำนวนแรงงานข้ามชาติครูฟิลิปปินส์ในประเทศไทยจำแนกตามรายปี ระหว่างพ.ศ.2555-2561

ที่มา: สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2555-2561

แรงจูงใจให้มาทำงานในไทย

ครูชาวฟิลิปปินส์นิยมทำงานตำแหน่งครูในไทย เป็นผลมาจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองออกไปทำงานต่างประเทศ จนกลายเป็นวัฒนธรรมชาวฟิลิปปินส์ในที่สุด และด้วยการคมนาคมขนส่งและการเดินทางในประเทศของไทยที่สะดวกสบายมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ ที่มีภูมิศาสตร์เป็นเกาะการเดินทางไม่ค่อยสะดวก และการจราจรติดขัด ประกอบกับค่าครองชีพสูง และค่าจ้างแรงงานต่ำ จึงเป็นเหตุจูงใจให้แรงงานฟิลิปปินส์เดินทางมาทำงานในไทย นอกจากนี้ วัฒนธรรมค่านิยมของไทยไม่มีการกีดกันเรื่องศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ ทำให้เกิดความสบายใจในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องกังวลต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แรงงานสามารถเลือกงานทำให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิตในไทยได้  ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยี ที่ทำให้ไทยมีการขนส่งที่สะดวก มีความคล่องตัว ค่าใช้จ่ายไม่แพง การแนะนำของญาติมิตรที่มีเครือข่ายคอยช่วยเหลือชาวฟิลิปปินส์ในไทย อีกทั้งไทยมีนโยบายให้แรงงานต่างด้าวมาทำงานแบบถูกกฎหมาย ไทยมีความสงบ มีปัญหาการก่อการร้ายน้อยกว่าฟิลิปปินส์ และอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือ ผลจากการเปิดเสรีอาเซียนในพ.ศ. 2558 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะและทักษะโดยเร็ว และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ไทยจึงจำเป็นที่ต้องจ้างครูต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษเข้ามาทำการเรียนการสอนในสถานศึกษาของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้งบประมาณในสถานศึกษามีความคล่องตัวสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เกิดประโยชน์ทางการศึกษาภาษาอังกฤษอย่างสูงสุดต่อตัวนักเรียนไทยด้วย จึงต้องการมีประหยัดงบประมาณในการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษาที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อเดือน และนิยมจ้างครูชาวต่างชาติที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน มากขึ้น4  จึงเป็นสาเหตุให้สถิติครูฟิลิปปินส์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีตามสถิติของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว 

บทส่งท้าย

แน่นอนว่าสถานศึกษาที่มีครูสอนภาษาอังกฤษเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่สามารถสอนภาษาอังกฤษได้เช่นเดียวกับครูภาษาอังกฤษเจ้าของภาษา แต่จ่ายค่าจ้างในราคาที่ถูกกว่าจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา ทำให้สถานศึกษาประหยัดงบประมาณในส่วนการจ้างครูภาษาอังกฤษลง แต่คำถามที่ตามมา คือ แล้วการจ้างครูภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์แทนการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษามาทำงาน ส่งผลต่อการเรียนการสอนของเด็กไทยหรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่ขอให้ผู้อ่านติดตามคำตอบในตอนต่อไปนะคะ ดิฉันจะมาเล่าให้ทุกท่านฟังต่อค่ะ….. 


  1. กมลพร สอนศรี. (2557). ปัจจัยผลักดันและปัจจัยดึงดูดการย้านถิ่นของแรงงานฝีมือชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทย.  Journal of HR intelligence. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2557.
  2. ชนิดาภา ชลอวงษ์.  (2558). กระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานครูฟิลิปปินส์ในประเทศทไทย. ศูนย์ศึกษาอนุภาคลุ่มน้ำโขง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  3. สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว. (2561). วารสารสถิติจำนวนคนต่างด้าวกลุ่มประเทศอาเซียนได้รับอนุญาตทำงานประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.2561. กลุ่มงานพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของแรงงานต่างด้าว.
  4. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2558). คู่มือการจ้างครูชาวต่างชาติ. กระทรวงศึกษาธิการ: กรุงเทพฯ

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th