The Prachakorn

ณ Cornell University: Episode 3 เดินทางถึงแล้ว ณ Cornell University


ภัสสร มิ่งไธสง

06 ธันวาคม 2562
672



หลังจากเราทั้งสอง ปุ๋ยปุ้ยและโสรยา ออกเดินทางโดยมีความเชื่อเป็นจุดเริ่มต้น จนไปถึง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อ 14:00 น. ของวันที่ 7 มีค. 62  แน่นอนว่าเราทั้งคู่รับทราบว่า จะต้องเดินทางต่ออีก 5 ชั่วโมง เพื่อให้ถึงเมืองอิธากา (Ithaca) แต่เราทั้งคู่ถือคติว่า หากเรารื่นเริงแจ่มใสไม่ว่าพายุใด ๆ จะกระหน่ำเข้ามา เราพร้อมจะกล่าวพร้อมกันว่า “ฉันนี่แหละคือพายุ” ดังนั้นแล้วเราจึงทำการนั่งจิบกาแฟที่สนามบิน ถ่ายรูป รายงานการเดินทางให้แก่พ่อ แม่ เพื่อนพ้อง น้อง พี่ ฯลฯ และที่สำคัญ คือ คุณอเล็กซานดร้า โฮสของเรานั่นเอง ผู้ซึ่งได้แนะนำวิธีการเดินทางต่อไปยังเมืองอิธากา (Ithaca) เราพยายามจดจำไว้อย่างละเอียด แต่เมื่อถึงเวลาเดินทางจริง ๆ เราออกจะงง ๆ และไม่ได้เดินทางตามแผนที่ตั้งไว้บ้าง 

ภาพโดย ภัสสร ไธมิ่งสง

เมื่อถึงเวลา 16.00 น. หลังจากรื่มรมย์จากการจิบกาแฟ และบันทึกภาพประทับใจไว้แล้วร้อยแล้ว ดิฉันบอกกับตัวเอง “ถึงเวลาเดินทางกันต่อแล้วค่ะ” แผนการเดินทางของเรา คือ ต้องไปถึงสถานีรถประจำทางหรือสถานีรถบัสที่ ย่านมิดทาวน์ (Midtown) ของนิวยอร์กซิตี้ (New York City) ก่อนเวลา 18:00 น. เพื่อให้ทันรถบัสเที่ยวสุดท้ายให้ได้ และแน่นอน New York Express คือ เป้าหมายของเรา สำหรับ New York Express นั้น เป็นรถบัสด่วนพิเศษจากอาคารสนามบินเข้าสู่ นิวยอร์กซิตี้ (New York City) ใช้เวลาเดินทางราว ๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ไม่เกินนี้ ส่วนค่าตั๋วเดินทางอยู่ที่ $19 ดอลลาร์ หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นจะมีราคาเกือบ 600 บาท เมื่อออกจากตัวอาคารสนามบินเพื่อไปขึ้นรถ New York Express มือที่ไม่ได้สวมถุงมือไว้แทบจะแข็งกลายเป็นน้ำแข็งในทันทีที่อุณหภูมิ -6 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องหาถุงมือมาสวมอย่างรวดเร็ว ก่อนขึ้นรถต้องส่งต่อกระเป๋าให้พนักงานแล้วบอกจุดหมายปลายทางและเรียงแถวกันขึ้นรถเพื่อเลือกที่นั่งตามใจชอบ บนรถอุ่นมาก เป็นความสุขเล็กๆหลังจากสัมผัสอากาศหนาวเย็นข้างนอกมา 

ภาพโดย ภัสสร ไธมิ่งสง

เราทั้งสองคนตื่นเต้นมาก เมื่อล้อหมุนออกจากสนามบินผ่านที่ต่าง ๆ ที่แปลกตาไปจากเมืองไทย ที่สำคัญหิมะรายล้อมไปหมดทุกสถานที่ และแล้วเมื่อเวลาผ่านไป ก็เข้าสู่นิวยอร์กซิตี้ (New York City) ที่มีแต่ตึกสูงและแสงไฟรายล้อม เราถึงย่านมิดทาวน์ (Midtown) เวลา 18:00 น. จากนั้นดิฉันและโสรยาได้ทำการลากกระเป๋าของตนเองไปหาสถานีรถบัสอีกมุมตึก เราได้ตั๋วไปเมืองอิธากา เวลา 20:30 น. 
ที่นี่ สถานีรถบัสจะแปลกกว่าบ้านเราที่เป็นตึกหลายชั้น ตัวอาคารมิดชิดไม่เปิดโล่งเหมือนเมืองไทย ระหว่างนั่งรอการเดินทางต่อเราได้รู้จักเพื่อนร่วมทางชาวทิเบตที่อพยพมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานเป็นผู้แปลภาษาเกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อถึงเวลาเดินทาง เราก็เดินเข้าแถวขึ้นรถ และยกกระเป๋าเก็บเองรอบนี้พนักงานไม่ได้ช่วย ก็ต้องขอบพระคุณคุณโสรยามากที่ดูแลการยกกระเป๋าขึ้นรถให้ดิฉันตลอดการเดินทางในยามที่ไม่มีใครช่วยบริการ บนรถอบอุ่นมาก เช่นเคยดิฉันหลับตลอดทาง 

เราใช้เวลาอยู่บนรถราว ๆ 4 ชั่วโมง ก็ถึงเมืองบิงแฮมตัน (Binghamton) ตอนนั้นน่าจะเที่ยงคืนเราต้องเปลี่ยนไปนั่งรถอีกคัน และออกเดินทางไปอีก 2 ชั่วโมง ก็ถึงมหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิธากา เราลงป้ายสุดท้ายที่รถจอด เมื่อ เวลา 02:00 น. ณ ตรงนี้ไม่มีที่ให้นั่งรอใด ๆ ทั้งสิ้นเราอยู่บนทางเท้าหิมะก็ทำการโปรยปรายลงมาให้เราได้สัมผัส ที่น่าตกใจ คือ สัญญาณอินเตอร์เน็ตของเราใช้ไม่ได้ แต่นับว่าโชคดีที่เพื่อนร่วมทางชาวธิเบตได้ลงรถจุดเดียวกันกับเรา และให้เรายืมมือถือเพื่อโทรหาคุณอเล็กซานดร้า ถึงตอนนี้ทุกอย่างก็เรียบร้อย เมื่อคุณอเล็กซานดร้าและคุณอิซ่า (นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล) มารับเราได้ทันท่วงที โดยคุณอเล็กซานดร้าและคุณอิซ่าเป็นโฮสของเรานั่นเอง เมื่อมาถึงที่พักแล้วเราดีใจมาก บ้านช่างอบอุ่น เป็นบ้านไม้สองชั้นทรงเหมือนในยุคคาวบอยที่เคยเห็นในหนังคาวบอยย้อนยุค

ภาพโดย ภัสสร ไธมิ่งสง

เราได้คำอธิบายจากอเล็กซานดร้าว่า เมืองอิธากานี้ เป็นเมืองการศึกษา ผู้คนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีความแตกต่าง มีความแปลก มีความแปลกที่ไม่เหมือนเมืองอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา ในความเห็นของดิฉัน คิดว่า เมืองอิธากาเป็นเมืองที่สงบมาก ศิลปะของอาคารบ้านเรือน จะไม่ซ้ำแบบกัน สวยงามไปคนละแบบ ดิฉันชอบมาก ๆ สำหรับตัวมหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่บนเขา จึงเป็นเรื่องปกติมากที่จะเห็นนักศึกษาเดินขึ้นเขาเพื่อไปเรียน ที่ขับรถหรือนั่งรถเมล์ก็มีเช่นกัน แต่สิ่งที่ท้าทายมากสำหรับเราทั้งสองคนคือ อากาศที่อุณหภูมิติดลบ -2 ถึง -6 องศาฯ เลยทีเดียว น้ำตาจะไหลมาก ๆ ค่ะ 

ภาพโดย ภัสสร ไธมิ่งสง

การเดินทางที่ยาวนานกว่า 24 ชั่วโมงของเราได้ผ่านพ้นไปด้วยดี เราได้มาถึงแล้ว ณ Cornell University มหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยที่สร้างบุคคลระดับประเทศและโลกมากมาย เช่น Ruth Bader Ginsburg ผู้พิพากษาประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา Toni Morrison นักเขียนรางวัลโนเบล และพูลิตเซอร์ Lee Teng-hui รัฐบุรุษชาวไต้หวัน ผู้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีนที่เกิดในไต้หวันและเป็นประธานก๊กมินตั๋ง และของประเทศไทย ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านคือ อดีตผู้อำนวยการคนที่สองของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ของเรานั่นเอง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล 

จบแล้วสำหรับการเดินทางจนมาที่นี่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สำหรับ Episode หน้า เราจะมาเล่าบรรยากาศกิจกรรมในรั้ว Cornell University ให้ฟังกัน อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ วันนี้ราตรีสวัสค่ะ
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th