ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู หรือ “เอก” ชายหนุ่มวัย 41 ปี ผู้มี Wheel Chair แทนสองขามาตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเมื่ออายุ 19 ปี ระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล “เอก” ไม่รู้เลยว่าตัวเองกลายเป็นผู้พิการไปแล้ว มารู้ตัวก็เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 6 เดือน หมอที่รักษาถาม “เอก” ว่าได้เตรียมหา wheel Chair ไว้หรือยัง ? หลังจากรับรู้สภาพว่าตัวเองกลายเป็นผู้พิการแล้ว ความคิดแรกในสมองของ “เอก” คือ อยากตาย...ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต ในสมองคิดแต่อยากตาย ๆ ๆ อย่างเดียวเท่านั้น ถามตัวเองว่าจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร .. ใครจะอยู่กับเรา .. ใครจะช่วยเรา ..
“เอก” ใช้เวลาทำใจเป็นปี ๆ บนความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่เคยก้าวย่างออกจากบ้านไปไหนเลยแม้แต่ก้าวเดียว จนวันหนึ่งมีพี่ที่เป็นผู้พิการเหมือนกันมาเยี่ยม และถาม “เอก” ว่าอยากมีชีวิตอิสระหรือเปล่า ? ตอนนั้น “เอก” ไม่เขาใจว่าชีวิตอิสระคืออะไร.. คิดในใจว่าแค่ลุกขึ้นเดินยังทำไม่ได้เลยจะถามหาชีวิตอิสระอะไร พี่เขามาเยี่ยมบ่อย ๆ แล้วก็พูดย้ำ ๆ คำเดิมว่าอยากมีชีวิตอิสระหรือเปล่า ? จนวันหนึ่งพี่เขาชวนให้ออกไปพบปะพูดคุยกับผู้พิการคนอื่น ๆ “เอก” รู้สึกเกรงใจ จึงตอบตกลงออกไป
วันนั้นเป็นวันแรกที่ได้ออกจากบ้าน “เอก” รู้สึกสับสนและประหม่าเพราะนอกบ้านเปลี่ยนแปลงไปมากมาย “เอก” ได้เจอเพื่อนผู้พิการคนอื่น ๆ ที่ออกมาพบปะกัน ทุกคนมีความพิการมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่ทุกคนมีชีวิตเหมือนคนปรกติ การพบปะพูดคุยกันวันนั้นมีประเด็นคำถามข้อหนึ่งคือให้ทุกคนเล่าสาเหตุของความพิการของตนเอง และประสบการณ์การใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ฯลฯ พอได้ฟังแต่ละคนเล่าเรื่องราวและประสบการณ์กันแล้ว ทำให้ “เอก” ได้คิดพิจารณาทบทวน หันมาทำความเข้าใจกับตัวเองมากขึ้น ได้เรียนรู้ชีวิตเพื่อนผู้พิการคนอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้ “เอก” เกิดความรู้สึกว่าคนเรานั้น “ชีวิต” มีค่ามากที่สุด ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ในสภาพใดก็ตาม
ประเด็นคำถามที่พูดคุยกันวันนั้นอีกข้อหนึ่งคือ “เป้าหมายในชีวิตแต่ละคนคืออะไร ? ” สิ่งที่เข้ามาในสมองของ “เอก” แวบแรกเลยก็คือ..อยากทำงาน... แต่ก็มีคำถามที่สองตามมาติด ๆ คือแล้วคนพิการอย่างเราจะทำงานอะไรได้ ? “เอก” นึกย้อนกลับไปตอนที่จะออกจากโรงพยาบาล ตอนนั้นมีหมอคนหนึ่งเอาวีดีโอเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้พิการคนหนึ่งมาให้ดู ผู้พิการคนนั้นเขาใช้คอมพิวเตอร์ทำงานหาเลี้ยงตัวเอง “เอก” จึงเกิดแรงบันดาลใจ และตั้งเป้าหมายชีวิตว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ในการหางานทำให้ได้
“เอก” ก้าวข้าม “ความพิการ” และมีมุมมองและทัศนคติที่เปลี่ยนไป มีเป้าหมายในชีวิตคือตั้งใจใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน “เอก” จึงเริ่มต้นตามหาฝันด้วยการหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาอ่าน อ่าน อ่าน อ่าน แล้วก็หัดเขียน Web ทุกวัน ๆ วันละหลาย ๆ ชั่วโมงจนสามารถทำได้ และได้เริ่มทำ Web ให้กับศูนย์คนพิการฯ จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้แนะนำให้ “เอก” ไปสมัครงานที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล “เอก” ใช้เวลาคิดอยู่นาน ด้วยความวิตกกังวลต่าง ๆ แต่ความอยากมีงานทำมีมากกว่า จึงตัดสินใจมาสมัครงาน วันที่ไปพบและสัมภาษณ์ได้เจอคณะกรรมการฯ หลายคน “เอก” รู้สึกตื่นเต้นมาก...คิดตลอดว่าเขาจะรับเข้าทำงานหรือเปล่า เพราะเราเป็นผู้พิการ แถมยังไม่ได้มีวุฒิการศึกษาอะไรเลย หลังจากได้เข้าไปสัมภาษณ์และนำเสนอผลงานให้กับคณะกรรมการฯ ก็ได้รับคำตอบว่าให้เริ่มทดลองงานก่อนเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากผ่านการทดลองงานแล้ว “เอก” ก็ได้ทำงานอย่างที่ตั้งเป้าหมายในชีวิตจริง ๆ
“เอก” เริ่มต้นใช้ชีวิตการทำงานกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเป็นโปรแกรมเมอร์ และงานหนึ่งของ “เอก” คือการจัดทำโปรแกรมการสำรวจความสุข HAPPINOMETER ผ่านระบบออนไลน์ให้กับองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
HAPPINOMETER เป็นแบบสำรวจที่เปรียบเสมือนปรอทที่ใช้วัดระดับความสุขของคนเรา โดยแบ่งเป็น 9 มิติ คือ สุขภาพกายดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดี และการงานดี
ปรอทวัดความสุขหรือ HAPPINOMETER บอกว่า “เอก” มีระดับความสุขในภาพรวมเท่ากับ 58.04 ตามเกณฑ์คะแนนถือว่า อยู่ในระดับ “มีความสุข” มิติความสุขของ “เอก” ที่อยู่ในระดับ “มีความสุขมาก” คือ มิติจิตวิญญาณ มีค่าคะแนนสูงสุด เท่ากับ 75.00 คะแนน โดยมิติความสุขของ “เอก” ลำดับรองลงมา ได้แก่ การงานดี 66.17 คะแนน น้ำใจดี 65.00 คะแนน สุขภาพกายดี 60.00 คะแนน ใฝ่รู้ดี 58.33คะแนน สุขภาพเงินดี 56.25 คะแนน
ความสุขของ “เอก” ที่อยู่ในระดับของ “ไม่มีความสุข” คือ มิติสังคมดี มีค่าคะแนนอยู่ที่ 41.66 คะแนน มิติผ่อนคลายดี และครอบครัวดี มีคะแนนเท่ากันคือ 50.0 ซึ่งอยู่ก้ำกึ่งระหว่าง ”ไม่มีความสุข” และ “มีความสุข”
Show มีความสุข | Share |
---|---|
จิตวิญญาณดี “มีความสุขมาก” |
“..ผมรู้สึกมาตลอดเลยว่าการที่ผมได้รับ”โอกาส” จากผู้อื่น และก็ใช้ “โอกาส” ที่ได้รับมาทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเองให้มากที่สุด เป็นสิ่งที่มีค่ามาก ทำให้ผมที่เคยรู้สึกว่า ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ และทำให้ผมได้แบ่งปันโอกาสให้กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเพื่อน ๆ ผู้พิการด้วยกันเอง |
การงานดี “มีความสุข” |
การที่ผมได้ทำงานที่ตัวเองรัก ทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น มีความภาคภูมิใจ มีพลังในการที่จะดำรงชีวิตอยู่บนความพิการ การมีงานทำ ทำให้ผมมีความสุข และรู้สึกว่าตัวผม เป็นภาระกับคนอื่นน้อยลง |
น้ำใจดี “มีความสุข” |
ผมได้รับน้ำใจดี ๆ จากคนอื่นมามากมาย ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากจะแบ่งปันน้ำใจดี ๆ ให้คนอื่น ๆบ้าง |
สุขภาพกายดี “มีความสุข” |
การที่ผมเป็นคนพิการและยังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเหมือนปรกติ ทำให้ผมเข้าใจความพิการของตัวผมเองมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกรักตัวเอง และรู้สึกว่าต้องดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี |
ใฝ่รู้ดี “มีความสุข” |
การแสวงหาความรู้ มีความสำคัญกับผมมาก เพราะทำให้ผมได้เรียนรู้การปรับตัวในการใช้ชีวิตบนความพิการ และเรียนรู้ที่จะยอมรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า การแสวงหาความรู้ทำให้ผมปรับตัวเองให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ |
สุขภาพเงินดี “มีความสุข” |
การมีงานทำและมีรายได้ ทำให้ผมลดภาระให้กับครอบครัว ได้พิสูจน์ตัวเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น |
สังคมดี “ไม่มีความสุข” |
ผมรู้สึกว่าทางด้านสังคม สำหรับผมเริ่มดีขึ้นให้โอกาสคนพิการมากขึ้น มีนโยบายเกี่ยวกับคนพิการมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางส่านที่ผมยังต้องทำความเข้าใจกับสังคมบ้าง เช่น ทางด้านทัศนคติ สถาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ ทางด้านการศึกษา ทางด้านอาชีพ เป็นต้น |
ผ่อนคลายดี ก้ำกึ่งระหว่าง ”ไม่มีความสุข” และ “มีความสุข” |
ด้วยความพิการที่เกิดขึ้นกับผม ทำให้มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทำให้ผมรู้สึกว่าบางอย่างไม่เป็นอย่างที่ผมคิด จึงทำให้รู้สึกท้อแท้ และเครียดบ้าง |
ครอบครัวดี ก้ำกึ่งระหว่าง ”ไม่มีความสุข” และ “มีความสุข” |
ครอบครัวมีผลกระทบกับผมมาก บางครั้งก็ไม่มีความเข้าใจกัน ครอบครัวมักคิดในมุมมองของเขาเองว่าผมเป็นคนพิการ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ บางทีก็คิดแทนผมบ้าง บางครั้งผมต้องออกมาบอกความต้องการของผมเองบ้าง พิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นบ้าง และบางครั้งก็ต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวกันใหม่ |
“...การได้มีงานทำ ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราสามารถออกแบบเองได้ บนข้อจำกัดที่มีให้มากที่สุด สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือแบ่งแยกด้วยความพิการที่เกิดขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนที่ไม่พิการ อยู่บนความเท่าเทียมกัน เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว...” นี่คือนิยาม “ความสุข” ของ “เอก” ชายหนุ่มผู้พิการคนนี้