นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นักศึกษาไทยจำนวนมากได้มุ่งไปศึกษายังต่างประเทศ เพื่อศึกษาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ รวมทั้งหาประสบการณ์การทำงานในต่างแดน โดยประเทศปลายทางหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยในปี 2016 จำนวนนักศึกษาไทยที่ไปสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรมีจำนวนใกล้เคียงกันคือ 7,052 คน และ 6,246 คนตามลำดับ ตามด้วยออสเตรเลีย 4,751 คน และญี่ปุ่น 2,256 คน1
ที่มา: https://sites.google.com/site/epnr2012/prakas/karrabnakreiyntangchati
ในทางตรงกันข้าม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เติบโตขึ้นมาเป็นตลาดการศึกษานานาชาติขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน จะเป็นรองก็เพียงมาเลเซียและสิงคโปร์เท่านั้น โดยในปี 2556 ไทยมีนักศึกษานานาชาติในระบบอุดมศึกษา จำนวน 13,994 คน โดยส่วนใหญ่มาจากจีน (9,329 คน) ลาว (1,311 คน) เมียนมา (1,310 คน) เวียดนาม (1,100 คน) และกัมพูชา (944 คน)2 ส่วนในปัจจุบัน มีการประเมินว่าประเทศไทยมีนักศึกษาต่างชาติในระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้นมากกว่า 30,000 คนเลยทีเดียว3 ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเป็นเมืองหลักหนึ่งในห้าของเอเชียสำหรับการส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนนานาชาติในระดับประถมและมัธยม เช่นเดียวกับมหานครปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และดูไบ โดยไทยมีโรงเรียนนานาชาติกว่า 200 แห่ง จำนวนนักเรียนรวมกันกว่า 70,000 คน โดยร้อยละ 54 เป็นนักเรียนต่างชาติจาก จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และชาติตะวันตก4
ปัจจัยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ
ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตของการศึกษานานาชาติในไทย คือนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วยแนวทางต่างๆ อาทิ พัฒนาทักษะด้านภาษาและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน อำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับบุคลากรด้านการศึกษาและนักเรียนนักศึกษาต่างชาติ พัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษาให้นักศึกษาไทยและอาเซียนสามารถโอนเครดิตระหว่างกันได้ และอำนวยความสะดวกในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในอาเซียน เป็นต้น5 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งส่งออกการศึกษา โดยแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2559-2564 มุ่งผลักดันบริการการศึกษานานาชาติที่มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เป็นหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรวิชาชีพ หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาและในระดับอุดมศึกษา เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ6
นอกเหนือจากนโยบายของรัฐแล้ว การขยายตัวของอุปทานหรือสถาบันการศึกษาและหลักสูตรนานาชาติในระดับต่างๆ ก็เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญให้เกิดการเติบโตของตลาดการศึกษานานาชาติในไทย โดยสถาบันอุดมศึกษาของไทยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากจำนวนเพียงสิบกว่าแห่งเมื่อสี่ทศวรรษก่อนเป็น 156 แห่ง ในปัจจุบัน แต่ปัจจุบัน นักศึกษาไทยเริ่มมีจำนวนลดลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป สวนทางกับสถานศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายสถาบันมุ่งพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ เพื่อดึงดูดให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนเพิ่มขึ้น ทดแทนจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง ทำให้ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาของไทยมีหลักสูตรนานาชาติรวมกันถึงประมาณหนึ่งพันหลักสูตร นอกจากนี้ หลายสถาบันยังขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดทำหลักสูตรร่วมกัน จัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรือบุคลากรด้านการศึกษา เป็นต้น เพื่อเป็นจุดขายในการดึงดูดนักศึกษานานาชาติ ต่อมาในปี 2017ทางการไทยได้ผ่อนปรนนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของต่างประเทศสามารถมาเปิดแคมปัสในไทยได้ เพื่อผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม 4.0 อีกทั้งส่งเสริมการศึกษานานาชาติในไทยด้วย7
นักศึกษาจีนพาเหรดมาไทย
ในด้านอุปสงค์ นักศึกษาต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดคือนักศึกษาจีนโดยในปี 2015 จำนวนนักศึกษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีจำนวน 6,157 คน8 โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาในไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการทำการตลาดอย่างจริงจังของหลายสถานศึกษา โดยมีการจัดตั้งเอเยนซี่เพื่อแนะแนวการศึกษาและประชาสัมพันธ์หลักสูตรต่างๆ นอกจากนี้ หลายสถาบันการศึกษายังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน ทั้งในรูปแบบโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนและให้ทุนนักศึกษาอีกด้วย โดยหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติเป็นเป้าหมายหลักของนักศึกษาจีน นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรด้านการศึกษาของจีนที่ต้องการมาเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในไทยเพื่อปรับวุฒิการศึกษาด้วย
ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาของไทยที่เป็นที่นิยมของนักศึกษาจีนเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่มหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมหาวิทยาลัยเกริกได้ขายหุ้นบางส่วนให้กับนักลงทุนจีน ทำให้มีการมุ่งตลาดนักศึกษาจีนอย่างจริงจัง สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ก็ได้จัดทำหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์นักศึกษาจีนที่เน้นทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิตก็ได้จัดทำความร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยในจีน เช่น มหาวิทยาลัยกุ้ยโจวและมหาวิทยาลัยกวางสี เป็นต้น9
ที่มา: https://www.wegointer.com/
สรุป
ประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นจุดหมายปลายทางของนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย โดยนักศึกษาจากจีนมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม หัวใจที่สำคัญของการเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ คือคุณภาพของการศึกษา การกำกับดูแลสถานศึกษาและหลักสูตรต่างๆ ของภาครัฐ ให้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการวิจัยในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง
1 สืบค้นจาก https://wenr.wes.org/2018/02/education-in-thailand-2, วันที่ 18 พ.ย. 2562
2 สืบค้นจาก https://esa.un.org/miggmgprofiles/indicators/files/Thailand.pdf, วันที่ 18 พ.ย. 2562
3 สืบค้นจาก https://www.thephuketnews.com/the-dark-underworld-of-thailand-foreign-university-students-69199.php#3m5LhMvHMMRml5Ri.97, วันที่ 18 พ.ย. 2562
4 สืบค้นจาก https://www.tieonline.com/article/2538/developments-in-thailand-and-malaysia-in-the-is-market, วันที่ 18 พ.ย. 2562
5 สืบค้นจาก https://www.qaa.ac.uk/docs/qaa/international/country-report-thailand-2019.pdf?sfvrsn=ab3fc081_6, วันที่ 18 พ.ย. 2562
6 สุรีย์พร พันพึ่งและสักกรินทร์ นิยมศิลป์. (2562) รายงานวิจัยเพื่อ สกสว. เรื่อง การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะในประเทศไทย: แนวโน้มและการปรับตัวในยุคอุตสาหกรรม 4.0. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
7 สืบค้นจาก https://www.qaa.ac.uk/docs/qaa/international/country-report-thailand-2019.pdf?sfvrsn=ab3fc081_6, วันที่ 18 พ.ย. 2562
8 สืบค้นจาก https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20181116134327618, วันที่ 18 พ.ย. 2562
9 สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/education/news-328362, วันที่ 18 พ.ย. 2562