The Prachakorn

อนาคตของผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี)


ปราโมทย์ ประสาทกุล

19 ธันวาคม 2562
1,505



5 พฤศจิกายน  2562

ปลายปี 2562 แล้ว อีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะขึ้นปีใหม่ 2563 วันเวลากำ.ลังจะเปลี่ยนจากปลายของปีหนึ่ง ไปเป็นต้นของอีกปีหนึ่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านปีอย่างนี้ ผมชอบคิดถึงชีวิตของตัวเองที่ผ่านช่วงปฐมวัย มัชฌิมวัย จนล่วงสู่ปัจฉิมวัยในวันนี้ ชีวิตของผมเหลือน้อยลงทุกที อีกไม่เกิน 10,000 วัน คงไม่มีตัวเป็นๆ ของผมอยู่บนโลกนี้อย่างแน่นอน (99.99%)

ผมใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างในการศึกษาพร้อมสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนๆ ที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน เพื่อจะดูว่าคนรุ่นวัยเดียวกับผม ซึ่งขณะนี้เป็นผู้สูงอายุวัยกลางช่วงแรก (อายุ 70-74 ปี) จะมีความความคิดและพฤติกรรมอย่างไร

เพื่อนนักเรียนมัธยมปลายของผมนัดชุมนุมรุ่นเป็นประจำทุกปี ผมสังเกตว่า ระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ประธานรุ่นที่ทำหน้าที่จัดงานจะใช้วลีที่ว่า “เวลาของพวกเราเหลือน้อยลงแล้ว” เพื่อกระตุ้นให้เพื่อนๆมาร่วมพบปะสังสรรค์กันให้มากที่สุด ถ้าพบกันปีละครั้ง โอกาสที่เราจะพบกัน รวมทั้งรุ่นอย่างนี้ก็จะเหลืออีกไม่กี่ครั้ง นับจากวันนี้เป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่เพื่อนๆ ทยอยตายจากกันไปบ้าง หรือเจ็บป่วยจนสังขารไม่เอื้ออำนวยต่อการมาพบปะเจอะเจอกับเพื่อนฝูงบ้าง

เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยรุ่นเดียวกัน ผมชอบที่ประธานรุ่นประกาศคำขวัญประจำรุ่น ว่า “ความเป็นเพื่อน รักษาอย่างไรก็ไม่หาย” เป็นเพื่อนกันแล้วก็ต้องเป็นเพื่อนกันตลอดไป เพื่อนรุ่นผมมีนัด ชุมนุมกันปีละครั้งเป็นอย่างน้อย ในระยะหลังๆ นี้ แนวคิดที่ว่าเวลาที่พวกเราจะมาพบกันกำลังเหลือน้อยลงทุกทีก็นำมาใช้เป็นแรงจูงใจให้เพื่อนๆ มาร่วมชุมนุมกันให้มากที่สุด ระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เพื่อนรุ่นผมตายจากไปปีละคนสองคน และมีเพื่อนที่หายหน้าไปเพราะไม่สะดวกที่จะมาร่วมงาน ทั้งด้วยเหตุเนื่องมาจากสุขภาพ และความสะดวกในการเดินทางเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น

การใช้สัจธรรม “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” มาเป็นตัวกระตุ้นก็ดูจะได้ผล ระยะหลังๆ นี้ งานชุมนุมแต่ละครั้งเพื่อนๆ มากันคับคั่งนับร้อยคน  แม้จะเป็นผู้สูงอายุวัยกลางกันหมดแล้ว แต่เพื่อนๆ ที่มาร่วมงานก็ยังดูมีพลังเหมือนเป็นคนหนุ่มสาว เพื่อนผู้หญิงล้วนแต่งตัวสวยพริ้ง ทันสมัย หรือผมจะมีสายตาลำเอียง มองเพื่อนสตรีสูงอายุรุ่นเดียวกันงามน่ารักไปเสียทุกคน

เมื่อคนรุ่นผมคิดถึงอนาคต

คำพูดที่ว่า “คนแก่ชอบเล่าความหลัง” ยังคงเป็นความจริงอยู่ เพื่อนๆ ของผมหลายคนชอบรื้อฟื้นเรื่องในอดีตมาคุยกัน บางคนเอารูปถ่ายสมัยยังเรียนหนังสือ หรือเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มสาวมาโพสต์ในเฟซบุ๊คหรือไลน์ เพื่อชวนให้เพื่อนๆ หวนคิดถึงความหลังเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ผมคิดว่าคนแก่ชอบคิดถึงอดีต เพราะพวกเขาผ่านประสบการณ์ชีวิตมายาวนาน มีเรื่องราวที่เก็บแน่นไว้ในความทรงจำได้ระบายออกเสียบ้างก็เท่ากับเป็นการผ่อนคลายที่จะทำให้พวกเขาสุขใจได้ทางหนึ่ง 

เหตุที่คนแก่มักไม่ค่อยพูดถึงอนาคต น่าจะเป็นเพราะอนาคตของคนแก่เป็นเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนัก เมื่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยปลายมองไปข้างหน้า ก็เห็นภาพอนาคตได้ชัดเจนว่า อีกไม่นาน พวกเขาก็จะลาจากโลกนี้ไป

ผมลองคิดแทนผู้สูงอายุในรุ่นวัยเดียวกับผม แปลกนะครับ ที่ยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมองภาพความหลังในอดีตได้ไกลขึ้น ดูเหมือนว่าเรายิ่งแก่ ยิ่งมีสายตายาว มองไกลได้คมชัด แต่จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้เลือนรางแทบไม่น่าเชื่อว่าผมจะจำเหตุการณ์และประสบการณ์บางเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 70 ปีก่อนได้อย่างแจ่มชัดขนาดนี้ จำกับข้าวหลายอย่างที่แม่ทำให้กิน ที่หลับที่นอน ลักษณะบ้านเรือน ห้องหับที่เคยอยู่อาศัย เชี่ยนหมากของย่า บริเวณพื้นที่ ที่เคยวิ่งเล่น ต้นไม้ต้นที่ชอบปีนป่าย ฯลฯ

วันนี้ ผมเป็นผู้สูงอายุวัยกลางแล้ว ผมและเพื่อนๆ หันกลับมาคุยกันเรื่องอนาคตอีกครั้ง เราคุยกันว่าชีวิตของพวกเรา จะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า เรื่องที่พวกเราคิดถึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเราจะตายหรือไม่ตาย แต่เป็นประเด็นว่าพวกเรา จะตายกันอย่างไร และจะมีชีวิตอยู่อย่างไรก่อนที่จะตาย เมื่อเรามีอายุสูงขึ้นจนถึงขั้นที่สภาพสังขารมีสมรรถนะลดน้อยถอยลง สักวันหนึ่ง ถ้าเราไม่ตายอย่างฉับพลันเสียก่อน เราอาจต้องอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเมื่อนั้นจะมีใครมาคอยช่วยดูแล 

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ รุ่นวัยเดียวกับผมเกือบทุกคนไม่อยากให้ตัวเองต้องนอนติดเตียง ไม่มีใครอยากให้ตัวเอง มีชีวิตอยู่ได้เพราะอุปกรณ์ที่ช่วยทั้งการกิน การขับถ่าย และการหายใจมีสายระโยงระยางเต็มร่าง ทั้งสายยางที่นำอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายโดยไม่ต้องผ่านปากผ่านลิ้น อุปกรณ์ช่วยหายใจโดยไม่ต้องอาศัยจมูก สายยางระบายของเสียออกจากร่างกายโดยไม่ต้องผ่านอวัยวะตามปรกติ ดังนั้น ผมเชื่อว่าคนรุ่นผม 

ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการทำ.พินัยกรรมชีวิต หรือที่ผมเรียกว่า “ชีวเจตนา” ซึ่งหมายถึง “หนังสือที่บุคคลทำขึ้นเพื่อแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะ รับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยไม่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ ทางการแพทย์” เราจะยื้อชีวิต ที่ทุกข์ทรมานด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ยาวนานออกไปทำไม สำหรับผม ถ้าอยู่ในสภาพที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะอุปกรณ์ช่วยหายใจ และหากมีอาการเจ็บปวดทรมาน ผมจะขอรับยาบรรเทาความเจ็บปวดแทนอุปกรณ์ ยื้อชีวิตต่างๆ เหล่านั้น 

อนาคตของพี่ผู้สูงอายุวัยกลางคนหนึ่ง

มีเพื่อนรุ่นพี่ของผมคนหนึ่งส่งข้อความทางไลน์มาถึงผม ข้อความที่เธอเขียนน่าสนใจที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่ออนาคตของผู้สูงอายุวัยเดียวกัน ผมจึงขออนุญาตเธอนำข้อความนั้นมาเผยแพร่ในบทความนี้

“อ่านบทความของหมูในประชากรและการพัฒนา ทำให้คิดถึงตัวเองและคิดถึงหมู จนอยากคุยด้วย พี่อยู่ตามลำพัง คนเดียวมาครบ 22 ปี สลายความเงียบ ความเหงาได้หมด หรือเกือบหมด (ทำยากมาก จากการที่เคยอยู่ในครอบครัว ใหญ่มากๆ ขนาดเกิน 10 คน) พี่ทำอะไรด้วยตัวเองทุกอย่างมาตลอด ทำอาหาร ทำงานบ้าน ไปไหนมาไหนเอง มีพลังอย่างหมูว่า แต่นับแต่นี้ต่อไป พลังวังชานับวันจะลดน้อยถอยลง และคิดว่าสักวันคงต้องไปพึ่งสถานบริการ (ยังไม่อยากเรียกสถานพยาบาล) อยากไปอยู่กับเขาเหมือนนักท่องเที่ยวไปพักตามโรงแรม เพราะหมดแรงที่จะทำ อะไรเอง ภาวนาให้มีบริการแบบนี้เพิ่มมากขึ้นและค่าบริการย่อมเยาลงด้วย ส่วนลำดับต่อไปอีกสองขั้น ค่อยว่ากัน ต่อไป คือขั้นที่ต้องพึ่งผู้บริบาล และขั้นป่วยติดเตียง ยังไม่อยากนึกถึง และถ้าโชคดีก็ขอให้ไม่ต้องพึ่งบริการสำหรับ สองขั้นตอนหลังนี้”

“ไม่นึกอยากอยู่บางไทร หรือสวางค์ แต่อยากอยู่โรงแรม หรือ resort ว่างๆ จะไปตระเวนหาดู”

“ที่สวนสามพรานน่าสนใจ แต่บริการเกินความจำเป็นไปหน่อย”

ผลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2560 พบว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมากถึง 10% ของผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ทั้งหมด เท่ากับในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเป็นจำนวนมากกว่าล้านคน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่รายงานว่าอยู่ตามลำพังคนเดียวนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอยู่ตัวคนเดียวในโลก ส่วนใหญ่ยังมีญาติพี่น้อง ที่แม้จะอาศัยอยู่คนละที่กัน แต่ก็ยังติดต่อกันได้

ในกรณีของพี่... ผมคิดว่าผมเข้าใจ พี่คงมีความกังวลในอนาคตของพี่อยู่มากพอสมควร แม้พี่จะมีญาติอยู่ไม่ไกลกันนัก แต่การที่พี่อยู่ตัวคนเดียวในบ้าน คงต้องอยู่ในสภาพทั้งเงียบและเหงา พี่เป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง พี่วางแผนและเตรียมตัวเพื่ออนาคต ผมเชื่อว่าพี่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับ “สถานบริการ” (ไม่ใช่ “สถานพยาบาล”) ที่เหมาะสมกับสถานภาพในอนาคตของพี่อยู่ ภาวนาให้พี่หาสถานที่ถูกใจได้ในเร็ววัน เพื่อพี่จะได้เตรียมตัวไปอยู่อาศัยในบั้นปลายของชีวิต

ในช่วงที่พี่ยังช่วยตัวเองได้  แต่กำลังวังชาถดถอยลง พี่อาจคิดหาคนมาช่วยผ่อนแรงบ้างเป็นบางเวลา เช่น หาคนมาทำความสะอาดบ้านอาทิตย์ละวันสองวัน ระหว่างนี้พี่จะต้องรักษาสุขภาพทั้งกายและใจของตัวเองให้มีพลังและอยู่ที่บ้านของพี่ต่อไปให้นานที่สุด

อนาคตของผู้สูงอายุวัยกลางอย่างผมคงต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตัวเองเป็นหลัก พวกเราคงต้องมีวินัยในการกิน การอยู่ การพักผ่อน การออกกำลังกาย รวมทั้งความคิด ทัศนคติเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในเวลาที่เหลือน้อยลงทุกที


ภาพจาก: https://intranet.gastronomegroup.com/2019/04/11/วันผู้สูงอายุแห่งชาติ/
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th