The Prachakorn

ประเทศมั่งคั่ง......แต่ชีวิตขาดสมดุลของชาวซากุระ


อมรา สุนทรธาดา

24 ธันวาคม 2562
622



ในกลุ่มประเทศสมาชิก G7 ญี่ปุ่นมีการทำงานนานที่สุด แต่ผลิตภาพต่ำสุด 

ปัญหาการทำงานหนักสุดโต่งของมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่น เช่น มาทำงานแต่เช้า กินข้าวกลางวันพร้อมทำงานไปด้วย หรือหอบงานไปทำที่บ้านให้เสร็จทันเวลา ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตอย่างยิ่ง สถิติการเสียชีวิตจากการโหมงานของประชากรวัยแรงงานเฉลี่ย 2,000 รายต่อปี จากสาเหตุต่างๆ เช่น หัวใจวายเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย บางแหล่งข้อมูลเสนอตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยอาจสูงถึง 10,000 รายต่อปี ซึ่งเท่ากับสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชน

การเสียชีวิตของพนักงานสาววัย 24 ปี ของบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวในวันขึ้นปีใหม่เมื่อ 2015 เสียชีวิตเพราะทำงานนอกเวลาถึง 105 ชั่วโมงในระยะเวลา 1 เดือน จนมีอาการซึมเศร้าขั้นรุนแรงและฆ่าตัวตาย ปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวกับปัญหานี้อย่างจริงจัง

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ 3 บริษัทใช้เครื่องร่อนขนาดเล็กที่เรียกว่า โดรน ตั้งชื่อให้ว่า T-FREND บินส่งสัญญาณประกอบเสียงเพลงภายในโรงงานเพื่อแจ้งเตือนให้พนักงานเตรียมตัวกลับบ้านเมื่อใกล้เวลาเลิกงาน แต่ยังไม่มีการศึกษาหรือประเมินผลต่อการเปลี่ยนทัศนคติการทำงานเกินพอดีอย่างไร

บทบาทภาครัฐเพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมการทำงาน

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าแรงงานร้อยละ 70 สนใจที่จะหยุดงานประจำปีตามสิทธิที่ได้รับ นโยบายสร้างแรงจูงใจให้หยุดงานอย่างน้อย 5 วันต่อปีโดยไม่ถูกหักรายได้ สนับสนุนการออกกฎหมายแรงงานเพื่อกำหนดการทำงานนอกเวลาต้องไม่เกิน 45 ชั่วโมงต่อเดือน หรือ  360 ชั่วโมงต่อปี รวมทั้งนโยบายลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทจ้างงานที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ

นอกจากนี้รัฐบาลและภาคเอกชนให้ข้อเสนอพิเศษ โดยให้พนักงานเลิกงานเวลา 15.00 น. ทุกวันศุกร์สิ้นเดือนโดยไม่หักค่าจ้าง เพื่อสนับสนุนให้มีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน กระตุ้นการใช้จ่ายให้มากขึ้น รวมทั้งได้กลับบ้านเร็วขึ้นเพื่อมีเวลาอยู่กับครอบครัว

มนุษย์เงินเดือนเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ชื่นชอบนโยบาย บ่ายศุกร์สิ้นเดือน
ภาพจาก: สำนักข่าว AFP 24 ก.พ. 2560

การทำงานหนัก ทุ่มสุดตัว ของชาวญี่ปุ่นเกิดจากค่านิยมหลักสองประการคือ การตอบแทนบุญคุณของนายจ้างหรือความจงรักภักดีต่อนายจ้างและองค์กร พนักงานบริษัทรู้สึกบกพร่องในหน้าที่ถ้ากลับบ้านก่อนนายจ้าง การอยู่หลังเวลาเลิกงานรอจนนายจ้างกลับบ้านกลายเป็นอีกเงื่อนไขแต่เต็มใจที่จะทำ กิจกรรมที่รอนายกลับบ้านคือ อ่านหนังสือพิมพ์หรือทำอะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำ เป็นต้น อุดมการณ์ประการที่สองโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวคือ การเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหน้าที่การงาน ถ้าอุทิศตนเพื่องานอย่างจริงจังจากพนักงานธรรมดาสามารถขยับฐานะเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารได้

1 ใน 4 ของบริษัทขนาดใหญ่ต้องการให้พนักงานทำงานนอกเวลาเฉลี่ย 80 ชั่วโมงต่อเดือน แต่ไม่รับรองว่าจะได้ค่าตอบแทนครบตามชั่วโมงการทำงาน ชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้นไม่มีผลต่อคุณภาพการผลิตแต่กลับส่งผลร้ายต่อคุณภาพงาน นอกจากนี้การให้ความสำคัญกับการทำงานนอกเวลายังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว มีโอกาสน้อยลงที่จะได้กินข้าวพร้อมหน้ากัน พ่อบ้านที่ต้องทำงานนอกเวลากว่าจะกลับบ้านก็ค่ำ.มืดกว่าปกติ ถ้าต้องทำงานเต็มเวลาทั้งพ่อและแม่ย่อมมีผลต่อบุตร ทางเลือกคือ จะให้พ่อหรือแม่ทำงานเต็มเวลาเพื่อแบ่งเวลาสำหรับครอบครัว ภาระหนักจะเป็นของผู้หญิงถ้าจะต้องเลือกการมีชีวิตครอบครัวหรือการทำงานนอกบ้าน ซึ่งย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเรื่องการมีบุตร

ถ้าการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวทำได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อผลิตภาพและผลิตผล สังคมของชาวซากุระคงผ่อนคลายได้ในระดับหนึ่ง พ่อแม่ลูกจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาและกินข้าวด้วยกัน ไม่ใช่พบหน้ากันเฉพาะวันหยุดเท่านั้น ไม่ต้องทนนั่งหลับบนรถไฟขณะกลับบ้าน พ่อบ้านไม่ต้องเช่าห้อง “แคปซูล” ที่มีบริการตามสถานีรถไฟชุมทางในกรุงโตเกียวเพื่อค้างคืนในกรณีทำงานไม่ทันหรือพลาดรถไฟเที่ยวสุดท้าย

มุมงีบหลับในรถไฟฟ้าใต้ดินเพราะความเหนื่อยล้าจากการทำงาน
ภาพจาก: https://runt-of-the-web.com/tokyo-sleeping

อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวันและจีน กำลังเดินตามการใช้ชีวิตการทำงานแบบญี่ปุ่น โชคดีที่ไทยไม่ติดอันดับ


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th