The Prachakorn

ผลัดวันประกันพรุ่ง


วรชัย ทองไทย

04 เมษายน 2561
2,567



ผลัดวันประกันพรุ่ง คือ การเลื่อนภาระหรืองานที่ต้องทำในเวลานั้นออกไปก่อน เช่น นักศึกษาเลื่อนเวลาทำการบ้านหรือแบบฝึกหัดจากเวลาที่ได้รับออกไปก่อน จนกระทั่งใกล้เวลาส่งผลงานจึงจะเริ่มทำ อาจารย์เลื่อนเวลาตรวจการบ้าน หรือนักวิจัยเลื่อนเวลาเขียนบทความ เป็นต้น

ผลัดวันประกันพรุ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่เกือบทุกคนต่างมีประสบการณ์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่จะเกิดเฉพาะในแวดวงการศึกษาหรือวิชาการดังตัวอย่างข้างต้น ตัวอย่างอื่น ได้แก่ เลื่อนตอบจดหมาย เลื่อนออกกำลังกาย หรือเลื่อนทำสิ่งที่สัญญาไว้เมื่อวันขึ้นปีใหม่ว่าจะทำ เป็นต้น แต่ที่ยกเป็นตัวอย่างในแวดวงการศึกษา เพราะเป็นภาระงานที่มีกำหนดเวลาส่งผลงานแน่นอน ทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงผลเสียของการผลัดวันประกันพรุ่งว่า ทำให้ผลงานที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง

จากผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า นักศึกษาราวร้อยละ 90 เคยผลัดวันประกันพรุ่ง โดยกว่าครึ่งผลัดวันประกันพรุ่งเป็นประจำ ส่วนในประชากรทั่วไป มีถึงร้อยละ 20 ที่ผลัดวันประกันพรุ่งจนเป็นนิสัย

สาเหตุของการผลัดวันประกันพรุ่ง ได้แก่

  • งานที่ต้องทำไม่น่าสนใจ ไม่สำคัญ น่าเบื่อ ใช้เวลานาน หรือยาก
  • มีความวิตกกังวลในงานที่ต้องทำ
  • มีภาระงานอื่นที่ต้องทำมาก
  • กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • มีสมาธิสั้น
  • ไม่รู้จักการบริหารเวลา
  • ไม่รู้จักวิธีจัดลำดับความสำคัญของงานว่า งานใด ควรทำก่อนหรือหลัง

เนื่องจากการผลัดวันประกันพรุ่งเป็นนิสัยที่ไม่ดี ทำให้มีหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับวิธีแก้ไขไม่ให้เป็นคนผลัดวันประกันพรุ่งพิมพ์เผยแพร่มากมาย แต่มีบทความหนึ่งที่เสนอวิธีที่จะทำให้คนชอบผลัดวันประกันพรุ่ง กลายเป็นคนมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ บทความนี้ชื่อ "ผลัดวันประกันพรุ่งอย่างไรจึงยังคงทำงานให้เสร็จได้" (How to Procrastinate and Still Get Things Done) ของศาสตราจารย์ John Perry แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ที่ได้รับรางวัลอีกโนเบล สาขาวรรณคดี ในปีล่าสุดนี่เอง

วิธีการที่เสนอในบทความคือ การผลัดวันประกันพรุ่งอย่างเป็นระบบ (Structured Procrastination)
ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า การผลัดวันประกันพรุ่งไม่ได้หมายความว่า ไม่ทำอะไรเลย เพราะคนผลัดวันประกันพรุ่งไม่ใช่คนที่ชอบอยู่เฉยๆ แต่เป็นคนที่ชอบทำงานที่พอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ ทำสวนครัว หรือเหลาดินสอ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเลี่ยงงานที่สำคัญกว่า

แต่ถ้าคนผลัดวันประกันพรุ่งมีงานที่ต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เหลาดินสอแล้ว เขาจะไม่ยอมทำงานนี้แน่นอน ดังนั้นความคิดที่จะให้คนผลัดวันประกันพรุ่ง ลดงานที่ต้องทำให้เหลือน้อยที่สุด (เพียง 2-3 ชิ้น) โดยเชื่อว่า จะทำให้เขาเลิกผลัดวันประกันพรุ่ง และเริ่มทำงานที่มีอยู่ให้เสร็จทั้งหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เพราะงานที่มีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น จะกลายเป็นงานที่สำคัญที่สุดไป มีผลให้เขาต้องเลี่ยงงานที่สำคัญนี้ด้วยการไม่ทำอะไรเลย และจะทำให้คนผลัดวันประกันพรุ่งกลายเป็นคนเกียจคร้านในที่สุด

แต่เราสามารถทำให้คนผลัดวันประกันพรุ่งสนใจทำงานสำคัญ ที่ยากและต้องใช้เวลาได้ ถ้าทำให้เขาคิดว่า งานที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นการเลี่ยงงานที่มีความสำคัญมากกว่า

ขั้นแรกของการผลัดวันประกันพรุ่งอย่างเป็นระบบคือ จัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำ เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย โดยจัดให้งานที่สำคัญมากที่สุดอยู่ต้นแถว การจัดลำดับงานเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผลัดวันประกันพรุ่ง ได้เลือกทำงานสำคัญที่รองๆ ลงมา ทั้งนี้เพื่อจะได้เลี่ยงงานที่สำคัญกว่าในลำดับต้นๆ

ที่สำคัญคือ การเลือกงานที่อยู่ต้นแถว ซึ่งจะต้องเป็นงานที่มีกำหนดเวลาส่งแน่นอน (แต่จริงแล้วอาจไม่มี) และเป็นงานที่มีความสำคัญ (แต่จริงแล้ว อาจไม่สำคัญ) เพื่อเป็นเป้าล่อให้คนผลัดวันประกันพรุ่งหลีกเลี่ยงไม่ทำงานที่สำคัญที่สุดชิ้นนี้ ซึ่งจะมีผลให้เขาทำงานในลำดับรองๆ ลงมาจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สรุปแล้ว คนผลัดวันประกันพรุ่งก็สามารถทำงานสำคัญ ที่ต้องใช้เวลาและยากได้ ตราบใดที่เขาเชื่อว่างานที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นการเลี่ยงงานที่สำคัญมากกว่า

สำหรับคนไทย เรามีวิธีแก้ไขการผลัดวันประกันพรุ่งอย่างได้ผลชงัดอยู่แล้ว คือ "ความไม่ประมาท" ซึ่งเป็นหลักธรรมในพุทธศาสนานั่นเอง

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ทำให้ "หัวเราะ" ก่อน "คิด"


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th