The Prachakorn

อนาคตผู้สูงอายุไทย


ปราโมทย์ ประสาทกุล

04 กุมภาพันธ์ 2563
684



เมื่อสิ้นสุดสัญญาณนับถอยหลังที่เริ่มตั้งแต่ 10 ย้อนไปถึง 4-3-2-1 แล้ว แสงพลุเป็นดอกดวงเส้นสายสว่างไสว ก็ปรากฏเต็มท้องฟ้า เสียงดังปุงปัง ๆ ประดุจเสียงต้อนรับนาทีแรกของปีใหม่ ผู้คนเปล่งเสียงไชโยโห่ร้อง เสียงดนตรี บรรเลงเพลงต้อนรับปีใหม่กระหึ่มก้อง

เดี๋ยวนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตก้าวหน้าไปมาก เราได้เห็นการถ่ายทอดงานฉลองปีใหม่ ไม่เฉพาะจากเมืองและสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศ หากยังได้เห็นภาพเหตุการณ์ต้อนรับปีใหม่ของประเทศอื่น ๆ ทั่วทั้งโลก 

ผมนึกถึงเหตุการณ์เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน คนกรุงเทพฯ ฉลองปีใหม่กันที่บ้าน ครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ก็อาจเปิดดูวงดนตรีสุนทราภรณ์แสดงสดทางช่อง 4 บางขุนพรหม เพื่อนฝูงญาติพี่น้องตั้งวงรับประทานอาหารรอขณะเวลาเปลี่ยนปี คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งไปฉลองปีใหม่กันที่สนามหลวง ซึ่งมีมหรสพและการแสดง เช่น วงดนตรี ภาพยนตร์ จัดแสดงในบริเวณนั้น เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนก็มีการจุดพลุเป็นสัญญาณว่าปีเก่าสิ้นสุดลงแล้วและปีใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ผู้คนไชโยโห่ร้องกันสนุกสนาน

ปีใหม่ครั้งหนึ่ง ผมไปดูหนังรอบเที่ยงคืนกับเพื่อนที่ “เฉลิมกรุง” เพียงเพื่อผลาญเวลาให้หมดไป และให้ได้ชื่อว่ามีกิจกรรมฉลองวันขึ้นปีใหม่ไว้คุยอวดเพื่อน ๆ

ในวัยหนุ่ม ผมมักร่วมวงดื่มกินสรวลเสเฮฮาอย่างสนุกสนานกับเพื่อน ๆ เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ฉลองปีใหม่เมื่อเป็นผู้สูงอายุ

ระยะหลัง ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้นจนกลายเป็นผู้สูงอายุแล้ว ผมก็ให้ความสำคัญกับวันขึ้นปีใหม่น้อยลง ผมกลับมีทัศนคติว่าวันปีใหม่ก็ไม่แตกต่างกับวันอื่น ๆ พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกในตอนเช้า แล้วก็ตกทางทิศตะวันตกในตอนเย็น วันปีใหม่เป็นเพียงวันเวลาที่คนเราสมมุติขึ้นว่าได้เวียนมาบรรจบครบรอบปีอีกครั้ง จากวันสุดท้ายของเดือนธันวาคมเปลี่ยนเป็นวันแรกของปี คือวันที่ 1 มกราคม

เมื่อ 3 ปีก่อน ในคืนสุดท้ายของ พ.ศ. 2558 เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงจะขึ้นปีใหม่ ผมขับรถกลับจากโรงพยาบาลบางปะกง ที่แม่ไปนอนป่วยเป็นคนไข้อยู่ที่นั่น ระหว่างทางผมนึกเห็นภาพผู้คนที่กำลังรอจะนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่ปีใหม่กันอยู่

คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตายแน่ ๆ เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ วันที่เปลี่ยนปีจากปีเก่าเป็นปีใหม่ ย่อมหมายถึงว่าชีวิตเราสั้นไปอีกปีหนึ่งแล้ว และในทางตรงกันข้าม ก็เท่ากับว่าเรามีอายุสูง (แก่) ขึ้นอีกหนึ่งปี ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พ.ศ. 2563 นี้ เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องที่ศึกษาเรื่อง “ศตวรรษิกชน-คนร้อยปี” มาด้วยกัน เขียนอวยพรให้ผมมีอายุยืนนานถึงร้อยปี ผมลังเลว่าจะรับพรนี้อย่างเต็มใจดีหรือไม่ ถ้าพรนี้สัมฤทธิผล ผมมีอายุยืนถึงร้อยปี แล้วผมโชคดีอย่างที่สุด คือยังมีสุขภาพแข็งแรง พอที่จะทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยตนเอง สมองแม้จะหลงลืมเลอะเลือนไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับเสื่อมจนจำอะไรไม่ได้ ผมคงได้เห็นสังคมไทยในอีก 28 ปีข้างหน้าที่คงเหลือร่องรอยสังคมไทยในวันนี้ทิ้งไว้ไม่มากนัก

สังคมไทยวันนี้ต่างจากสังคมไทยในอดีตมากจริง ๆ

ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประชากรไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ทั้งเรื่องขนาดและโครงสร้าง

เมื่อ พ.ศ. 2513 ประเทศไทยมีประชากรราว 34 ล้านคน พ.ศ.2563 ประมาณว่าประชากรไทยมีจำนวน 67-68 ล้านคน เท่ากับว่าชั่วเวลา 50 ปีที่ผ่านมานี้ ขนาดประชากรไทยขยายใหญ่ขึ้นเท่าตัวแต่การเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นคือ โครงสร้างอายุของประชากรไทยเมื่อ พ.ศ. 2513 เราเคยมีประชากรเด็กคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด เดี๋ยวนี้ เรามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่น่าตื่นเต้นสุด ๆ คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าตัว จากเมื่อ พ.ศ. 2513 มีเพียง 1.7 ล้านคน เดี๋ยวนี้ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากถึง 12 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมดเท่ากับผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้น 7 เท่าตัวในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

นานมาแล้วผมเคยเขียนไว้ใน “ประชากรและการพัฒนา” ว่า ตัวกำหนดสำคัญของ “ความแก่” มี 2 ประการคือ “สังขาร” และ “สังคม” สังขารคือ สมรรถนะของร่างกาย ในสายตาของผม ผู้สูงอายุสมัยนี้ดูจะแข็งแรงและมีพลังมากกว่าผู้สูงอายุในอดีตผมยังไม่มีตัวเลขมายืนยัน แต่ก็แน่ใจว่าผู้สูงอายุรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ดูจะกระชุ่มกระชวยเหมือนคนหนุ่มสาว อาจเป็นเพราะตัวกำหนดอีกตัวหนึ่ง คือ “สังคม” ที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงแสดงบทบาทในสังคมได้อย่างมั่นใจ เมื่อก่อน คนอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปก็เป็นคุณตา คุณยาย มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองกันแล้ว คนอายุ 70-80 ปี ก็เรียกได้ว่า “แก่” มาก ๆ สังคมแต่ก่อนจะมองว่าคนแก่ขนาดนั้นสมควรที่จะอยู่กับบ้าน ไม่น่าจะออกมาเดินเล่นชอปปิ้ง ชุมนุมรุ่น ขับรถ เดินทางตามลำพังในที่สาธารณะ เหมือนอย่างผู้สูงอายุสมัยนี้

ผู้สูงอายุไทยในอนาคต

ใน พ.ศ. 2563 จะมีคนไทยที่เกิดใน พ.ศ. 2503 จำนวน 9 แสนกว่าคนที่มีชีวิตเหลือรอดเป็นผู้สูงอายุในปีนี้ประมาณ 8 แสนคนต่อไปอีก 3 ปี คลื่นประชากรลูกใหญ่ หรือที่ผมชอบเรียกว่า “สึนามิประชากร” คือ คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2506-2526 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละมากกว่า 1 ล้านคน ก็จะเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ และอีก 20 ปีข้างหน้า คลื่นยักษ์ประชากรลูกนี้จะกลายเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด คาดประมาณว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 20 ล้านคนใน พ.ศ. 25831

ผู้สูงอายุจะอยู่กับใคร

เราอาจไม่ต้องเป็นห่วงผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) และผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) มากนักเพราะส่วนใหญ่น่าจะยังมีสุขภาพแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) ที่มีโอกาสอยู่ในสภาวะต้องพึ่งพาคนอื่นสูง ผู้สูงอายุในอนาคตจะมีคนที่อยู่เป็นโสดมากขึ้น ผู้สูงอายุวัยปลายที่เป็นหญิงจะเป็นหม้ายเพราะสามีตายก่อนมากขึ้น ผู้สูงอายุในอนาคตจะมีลูกหลานให้พึ่งพาน้อยลง 

ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน แต่จะมีงานอะไรให้ผู้สูงอายุทำ

นโยบายเพื่อเตรียมรองรับสังคมสูงวัยทุกวันนี้ คือหามาตรการยืดเวลาให้ผู้สูงอายุยังคงอยู่ในกำลังแรงงานให้นานที่สุด ในขณะที่เราส่งเสริมให้บริษัทห้างร้านและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จ้างงานผู้สูงอายุ แต่ประเทศไทยยุคนี้มีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์มาแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังมีปัญหาทำให้คนวัยแรงงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้ความต้องการแรงงานคนลดต่ำลง การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงทำงานอยู่ต่อไปให้นานที่สุด จึงอาจดูย้อนแย้งกับสถานการณ์การจ้างงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ จะมีงานอะไรให้ผู้สูงอายุทำ เมื่อคนวัยทำงานยังว่างงานมากมายอยู่อย่างนี้

ส่งเสริมให้คนวัยทำงานออมเงินไว้ใช้ยามชรา แต่คนวัยทำงานจะเอาเงินที่ไหนมาออม

เมื่อมีอายุสูงขึ้น สมรรถนะในการทำงานเพื่อหารายได้ย่อมลดถอยลง รายได้เพื่อยังชีพยามชราเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตผู้สูงอายุ นโยบายและมาตรการที่จะส่งเสริมให้คนในวัยทำงาน ออมเงินไว้ใช้ยามชราจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะคนที่ไม่มีหลักประกันด้านรายได้ทางอื่น เช่น บำเหน็จบำนาญ ของข้าราชการ บำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคม ปัจจุบัน พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมการออมให้กับแรงงานที่อยู่นอกระบบ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังส่งเสริมให้คนไทยใช้จ่ายเงินผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แล้วคนไทยจะเอาเงินที่ไหนมาออม

ยิ่งน่าเป็นห่วง เมื่อมากกว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนไทยสมัยนี้มีหนี้สิน2 เคยได้ยินคนพูดว่า “เงินจะซื้อข้าวกินไปวัน ๆ ยังมีไม่พอ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปออม?”

บางครั้งคิดมากไปแล้วก็เศร้า มองในด้านลบ ระบบเศรษฐกิจไทยดูจะไม่ชวนให้คนรุ่นใหม่มัธยัสถ์อดออม คนไทยรู้ดีว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้มั่นคงนัก เงินเฟ้อขึ้นทุก ๆ ปี เมื่อ 50 ปีก่อนน้ำอัดลมขวดละ 1 บาท เดี๋ยวนี้ขวดละ 10 บาท ราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่าถ้าเงินเฟ้อปีละร้อยละ 4 เงิน 100 บาทจะเหลือค่าเพียง 60 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะเหลือเพียง 40 บาทในอีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าคนรุ่นใหม่ออมวันนี้ตั้งแต่ยังทำงานอยู่ 100 บาท เมื่อแก่ตัวลง ค่าของเงินเหลือเพียงไม่ถึงครึ่ง ใครจะอยากไปออม เมื่อมองไปในอนาคตที่เงินออมจะมีค่าลดน้อยถอยลงเช่นนี้สู้เอาเงินที่หาได้วันนี้ไปใช้จ่ายหาความสุขให้ตัวเองไม่ดีกว่าหรือ

ตั้งใจว่าปีใหม่แล้ว เป็นผู้สูงอายุแล้ว จะคิดและมองโลกในทางบวก ผมเขียนบทความนี้ในวันที่สองของปีใหม่ ทำท่าว่าจะมองอนาคตของผู้สูงอายุไทยไปในทางลบมากเกินไปเสียแล้ว กังวลว่าผู้สูงอายุไทยในอนาคตจะต้องประสบกับความยากจน จะมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพ

แต่ที่จริง อนาคตของผู้สูงอายุไทยก็มีมุมบวกให้เห็นอยู่บ้าง เช่น การได้รับเบี้ยยังชีพยามชราอย่างถ้วนหน้า การได้รับบริการรักษาพยาบาลจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ มุมบวกเหล่านี้ก็คงพอประทังให้ผู้สูงอายุไทยในอนาคตมีชีวิตอยู่กันไปได้กระมัง


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.). 2562. รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553–2583 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) 
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.). 2561. การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th