The Prachakorn

เมื่อประชาชนและผู้นำประเทศสร้างดาวคนละดวง


อมรา สุนทรธาดา

06 กุมภาพันธ์ 2563
551



สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของจีนและอินเดียที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก อาจเป็นชนวนขัดแย้งของประชาคมโลกใน ค.ศ. 2020

ปัจจุบันจีนมีประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา การดำเนินนโยบายของจีนในอดีตที่มีทั้งเด็ดขาดและผ่อนปรนต่อชนกลุ่มน้อยได้สร้างความยุ่งยากทางการเมืองและการปกครอง รวมถึงการเรียกร้องเป็นเขตปกครองตนเองแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ ค.ศ. 1956 ของชนกลุ่มน้อยUygur (อุยกูร์) ซึ่งมีประชากรราว 12 ล้านคน ในมณฑลซินเจียง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศในเอเชียกลาง และมองโกเลีย

ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ค.ศ. 1979 มีการสร้างค่ายกักกันขนาดใหญ่จัดการกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลกลาง กองกำลังจัดตั้งต่าง ๆ ถูกปราบปรามอย่างหนัก ยั่วยุให้เกิดพันธมิตรจากชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ในตุรกี

ค.ศ. 2016 มณฑลซินเจียงกลายเป็นเขตรักษาความปลอดภัยระดับเข้ม ประชาชนประมาณ 120,000 คน ถูกเกณฑ์เข้าค่ายคุมความประพฤติ มีเจ้าหน้าที่รัฐดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเข้าค่ายเพื่อเพิ่มพูนการศึกษาและอุดมการณ์รักชาติ

แผนที่แสดงที่ตั้งมณฑลซินเจียงและประเทศใกล้เคียง
ภาพจาก: https://www.vox.com/2018/8/15/17684226/uighur-china-camps-united-nations

ผู้ที่หนีออกมาได้เล่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่ถูกควบคุมความเป็นอยู่ราวกับนักโทษประหาร เช่น ยืนในท่าเดียวกัน 12 ชั่วโมง รัฐบาลจีนปฏิเสธและแก้ต่างว่าค่ายดังกล่าวมีไว้เพื่อให้การศึกษา การฝึกอาชีพ เพราะส่วนใหญ่ชาวอุยกูร์มีฐานะยากจน อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ข้ออ้างเหล่านั้นไม่มีใครฟัง โดยเฉพาะผู้ที่หนีพ้นค่ายแล้วลี้ภัยไปต่างประเทศ เช่น ตุรกี ประเทศที่ชาวอุยกูร์เคยเป็นชนกลุ่มน้อยและได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในมณฑลซินเจียง 

ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์มีการเคลื่อนไหว และการสนับสนุนกลุ่ม Islamist Uygur Movement เพื่อเปลี่ยนชื่อมณฑลซินเจียงเป็น East Turkestan ในขณะที่รัฐบาลจีนพยายามสนับสนุนให้ชนเผ่าอุยกูร์และชนเผ่าฮั่นหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวด้วยการแต่งงาน ซึ่งเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและเพิ่มความเกลียดชังกันมากขึ้น

ในอินเดียที่มีประชากรต่างเชื้อชาติและศาสนาประมาณ 1,300 ล้านคน มีการต่อต้านเพื่อแบ่งแยกดินแดน ในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งเป็นรัฐกึ่งอิสระมา 72 ปี โดยมีปากีสถานเป็นลมใต้ปีกสนับสนุนการแยกตัวจากอินเดีย นายกรัฐมนตรีโมดีต้องออกมาแสดงจุดยืนเพื่อสยบความเคลื่อนไหวว่า รัฐบาลกลางเพียงมีมาตรการเรื่องการเป็นพลเมืองของอินเดียเท่านั้นส่วนการนับถือศาสนาเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชน

เรือนแพสำหรับนักท่องเที่ยว เมือง Srinagar แคว้น Jammu and Kashmir
ภาพจาก: https://www.britannica.com/place/Jammu-and-Kashmir

เหตุไม่ลงรอยกันระหว่างอินเดียและปากีสถานคือการแย่งชิงดินแดนจัมมูและแคชเมียร์ทางตอนเหนือที่มีเทือกเขาหิมาลายันเป็นแนวเขตธรรมชาติ ความบาดหมางปะทุอย่างต่อเนื่อง เช่น สงครามเมื่อ ค.ศ. 1947-1948 ที่กลายเป็นชนวนอริของทั้งสองประเทศนี้มาโดยตลอด โดยมีจีนสังเกตการณ์ในเชิงยุทธศาสตร์ด้วยเพราะต้องการเป็นเจ้าของเช่นกัน ความขัดแย้งตึงเครียดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลอินเดียใช้กำลังทหารเข้าควบคุมแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ปากีสถานจึงส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกรับรู้ว่ารัฐบาลอินเดียใช้ความรุนแรงกับประชาชนและผู้นำท้องถิ่น

ความขัดแย้งระดับประเทศอาจบานปลายเพราะการต่อสู้กลายเป็นการปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลกลางและกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่และจากนอกประเทศ รวมทั้งการต่อต้านจากประชาชนอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นชนวนเหตุที่ดึงปากีสถานเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง ที่สำคัญคือทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานถ้าสถานการณ์วิกฤต มีความพยายามเจรจาเพื่อสันติวิธีระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และผู้นำของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ตั้งแต่ ค.ศ. 2016 การถอยคนละก้าว เช่น การปล่อยนักโทษการเมืองของรัฐบาลอินเดีย ความร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติที่งดงามเป็นจุดขาย อาจเป็นทางออกที่ลดความบาดหมางได้บ้าง

สงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่เกิดง่าย ๆ เพราะไม่มีประเทศมหาอำนาจกล้าเสี่ยง แต่สงครามจรยุทธ์ก็ทำให้ประชาคมโลกหวาดผวาเช่นกัน 


 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th