ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมได้รับโอกาสให้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP เพื่อสนับสนุนการพัฒนาร่างกฎหมายผู้สูงอายุของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว
ภารกิจหลัก ๆ ที่ผมต้องทำ คือทบทวนดูสถานการณ์การสูงวัยของประชากรลาว พัฒนาข้อเสนอแนะทางนโยบาย รวมทั้งจัดทำร่างกฎหมายผู้สูงอายุขึ้นมาฉบับหนึ่ง เพื่อนำเสนอในระหว่างการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดับประเทศที่จัดขึ้น 2 ครั้ง ณ นครเวียงจันทน์
สังคมลาว...สูงวัย(แล้ว)หรือยัง
การสูงวัยของประชากรเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก สังเกตได้จากสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สำหรับประเทศลาว หากจัดกลุ่มโครงสร้างอายุของประชากร ณ วันนี้ ตามดัชนีสูงวัย นับได้ว่า ลาวเป็น “สังคมที่เยาว์วัยที่สุด” (Youngest society) เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียน
ใน พ.ศ. 2562 คาดประมาณว่า ลาวจะมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 7.1 ล้านคน เป็นวัยเด็ก ร้อยละ 32.5 วัยแรงงานอายุ 15-59 ปี ร้อยละ 60.7 และผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งหมด หรือมีผู้สูงอายุจำนวนประมาณ 4.9 แสนคน1
Image by Toản Dương from Pixabay
ในเมื่อลาวยังเป็นสังคมเยาว์วัย ทำไมจึงต้องมีกฎหมายผู้สูงอายุ
แม้ว่าขณะนี้ลาวจะอยู่ในช่วงเวลาของ “การปันผลทางประชากร” (Demographic dividend)2 คือมีสัดส่วนประชากรในวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในวัยเด็กและวัยสูงอายุ แต่ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า หรือภายใน พ.ศ. 2583 คาดประมาณว่า ลาวจะก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุ” (Aged society) คือมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากร ทั้งหมด1
ทว่า การปันผลทางประชากรของลาวในขณะนี้ อาจทำให้หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำงานด้านประชากรอยู่ในลาว ยังมองว่า ผลกระทบจากการสูงวัยของประชากรยังดูเป็นเรื่องไกลตัว
แต่ถ้าทบทวนดูให้ดี หากวันนี้ยังไม่มีการจัดเตรียมนโยบายหรือกฎหมายที่มีความชัดเจนและรอบด้านเพื่อรับมือกับสถานการณ์การสูงวัยไว้ล่วงหน้า ลาวอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ส่งผลต่อการจัดระบบสวัสดิการในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าจะสร้างภาระให้กับครอบครัว ชุมชน และงบประมาณของประเทศอย่างคาดไม่ถึง
บทบาทของรัฐต่องานด้านผู้สูงอายุที่ผ่านมา
รัฐบาลลาวได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงอายุในเวทีระหว่างประเทศเรื่อยมา โดยได้ยึดถือ “แผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ” และรับรองใน “ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุฯ” เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของประเทศ
แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีความคืบหน้าใดเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนัก เพราะการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ คงเดินหน้าต่อไปได้ยาก หากไม่มีกฎหมายเฉพาะมากำหนดและรับรองการดำ.เนินงานด้านผู้สูงอายุอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เล่นคนสำคัญของนโยบายนี้อย่างพนักงานรัฐกรของกรมนโยบายสำหรับผู้อุทิศตน ผู้พิการ และผู้สูงอายุ จึงได้ติดต่อเพื่อขอรับการสนับสนุนมายัง ESCAP ในการพัฒนาและผลักดันร่างกฎหมายผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นจริงในประเทศลาว
บทเรียนจากลาวและก้าวต่อไปของนโยบายผู้สูงอายุ
ข่าวดีล่าสุดคือ ร่างกฎหมายฉบับที่ ESCAP ได้นำเสนอให้ลาวพิจารณาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า จะได้รับสัญญาณที่ดีจากทางรัฐบาล การมีกฎหมายผู้สูงอายุจะทำให้บทบาทและความรับผิดชอบของรัฐต่อผู้สูงอายุมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดสรรงบประมาณ และทำให้การขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุในลาว น่าจะมีความหวังขึ้นมาอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
การออกแบบนโยบาย ไม่ว่าจะสำหรับลาวหรือสังคมใดก็ตามเปรียบเหมือนการทำหน้าที่เป็นเชฟในร้านอาหาร ก่อนที่เราจะปรุงอาหารจานใดเพื่อเสิร์ฟให้แก่ผู้รับประทาน สิ่งที่เชฟพึงกระทำคือการถามลูกค้าก่อนว่า “อยากจะรับประทานอะไร” หรือ “แพ้วัตถุดิบชนิดใดบ้าง”
ในการออกแบบนโยบายก็เช่นเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายมีหน้าที่ค้นหาทางเลือกที่เหมาะสม เป็นไปได้ และสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศนั้น ๆ
เพราะที่สุดแล้ว แม้ว่าอาหารจานที่นำมาเสิร์ฟจะใช้วัตถุดิบชั้นดีและอร่อยเลิศรสเพียงใด แต่ถ้าลูกค้าปฏิเสธที่จะรับประทาน หรือรับประทานแล้วเกิดอาการแพ้วัตถุดิบชั้นดีที่อุตส่าห์คัดสรรมาด้วยความตั้งใจ อาหารที่เราปรุงหรือนโยบายที่เราคิดว่าดีเหล่านั้น ก็อาจจะหมดคุณค่าและ “เสียของ” ไปโดยปริยาย
1 United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division. (2019), World Population Prospects: The 2019 Revision. New York: United Nations.
2 ราชบัณฑิตยสถาน, (2557). พจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.