เชื่อว่าคนไทยหลายคนเติบโตมาในบ้านที่มีทั้งพ่อแม่และปู่ย่าตายาย เพราะเมืองไทยตั้งแต่อดีตนิยมอยู่กันเป็นครอบครัวขยาย สำหรับคนไทยจึงเป็นเรื่องปกติที่จะพบเห็นบ้านที่มีรุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และลูกอาศัยอยู่ร่วมกัน นักประชากรเรียกครอบครัวที่มีคนหลากรุ่นอาศัยอยู่ร่วมกันเช่นนี้ว่า “ครัวเรือนสามรุ่น”
ครัวเรือนสามรุ่นเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่แพร่หลายในประเทศไทย จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ปัจจุบันครัวเรือนสามรุ่นมีสัดส่วนถึงร้อยละ 34 ของครัวเรือนไทยทั้งหมด ตามด้วยครัวเรือนเดี่ยวที่ประกอบด้วยพ่อแม่และลูกที่ร้อยละ 27 ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เด็กไทยจำนวนมาก ยังคงได้เติบโตแบบใกล้ชิดกับปู่ย่าตายาย
การอยู่อาศัยเป็นครัวเรือนสามรุ่นมีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจที่สามารถช่วยครอบครัวลดค่าใช้จ่ายต่อหัวได้จากการอยู่ร่วมกัน หรือการมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปู่ย่าตายายที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเลี้ยงหลานในขณะที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระและความกังวลให้กับพ่อแม่ได้อย่างมาก
นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นแล้ว การอยู่เป็นครัวเรือนสามรุ่นยังส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กอีกด้วย จากงานวิจัยที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบ (Systematic review) ผ่านการรวบรวมผลการศึกษาจากทั่วโลกเกี่ยวกับผลของปู่ย่าตายายต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก1 พบว่ามีงานศึกษาอย่างน้อย 6 เรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าการอาศัยในครัวเรือนสามรุ่น ส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านทักษะการสื่อสาร ภาษา และผลการเรียนโดยรวมของเด็ก ตัวอย่างเช่น งานศึกษาในไต้หวัน พบว่านักเรียนที่มีปู่ย่าตายายอาศัยในครัวเรือนด้วย มีผลการเรียนดีกว่า2 ในขณะที่งานศึกษาในชิลี พบว่าเด็กในครัวเรือนสามรุ่นมีคลังคำศัพท์ที่มากกว่าครัวเรือนประเภทอื่น ๆ3
เพราะอะไรการอยู่แบบสามรุ่นถึงส่งผลดีต่อสติปัญญาของเด็ก ผู้เขียนคิดว่าการอยู่ร่วมกันแบบสามรุ่นทำให้เด็กมีโอกาสได้ยินการสนทนาที่หลากหลายกว่าการอยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูก ไม่ว่าจะเป็นจากการที่ผู้ใหญ่คุยกันเอง หรือการที่ปู่ย่าตายายคุยกับหลาน ๆ โดยตรง ทำให้เด็กมีโอกาสได้ยินคำศัพท์ที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ ตัวเด็กเองก็ได้ฝึกสื่อสารกับคนหลากหลายเช่นกัน อย่างลูกของผู้เขียน เวลาพ่อกับแม่เล่าอะไรให้ฟัง ลูกก็ชอบไปเล่าให้ตากับยายฟังต่อ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการฝึกทักษะการเล่าเรื่องเป็นอย่างดี แถมบางครั้งตากับยายก็มีคำถามถามกลับ ซึ่งช่วยต่อยอดกระบวนการด้านความคิดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ผ่านมาไม่พบความชัดเจนว่าการอยู่อาศัยเป็นครัวเรือนสามรุ่นส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเด็กอย่างไร (เช่น ด้านร่างกายและด้านอารมณ์) นอกจากนี้ งานวิจัยที่ทบทวนอย่างเป็นระบบนี้ พบว่า การอาศัยในครัวเรือนข้ามรุ่น (มีรุ่นปู่ย่าตายายกับรุ่นหลานเท่านั้น) มีผลลบต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ซึ่งผลเชิงลบนี้อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วยก็เป็นได้ เพราะครัวเรือนข้ามรุ่นมักมีปัจจัย อื่น ๆ ที่ทำให้เด็กในครัวเรือนนั้นเสียเปรียบ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่ครัวเรือนข้ามรุ่นมักเป็นครอบครัวที่ยากจน เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือเป็นคนกลุ่มน้อย ครอบครัวข้ามรุ่นในงานวิจัยนี้จึงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้หมด
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนคิดว่าจะอาศัยอยู่กับใครก็ไม่สำคัญเท่ากับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ไม่ว่าบ้านจะมีทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา หรือจะมีแค่พ่อหรือแม่คนเดียว ถ้าหากอยู่ร่วมกันด้วยความรักความเอาใจใส่ ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ย่อมส่งผลดีต่อเด็กและสมาชิกทุกคนในครอบครัวอย่างแน่นอน
ภาพจาก: https://sureerat401.wordpress.com/ครอบครัว/
1 Sadruddin, A. F., Ponguta, L. A., Zonderman, A. L., Wiley, K.S., Grimshaw, A., & Panter-Brick, C. (2019). How do grandparents influence child health and development? A systematic review. Social Science & Medicine, 112476.
2 Pong, S.-L., Chen, V., 2010. Co-resident grandparents and grandchildren’s academic performance in Taiwan. J. Comp. Fam.Stud., 41, 111–129.
3 Reynolds, S., Fernald, L.C., Deardorff, J., Behrman, J., 2018. Family structure and child development in Chile: A longitudinal analysis of household transitions involving fathers and grandparents. Demogr.Res., 38, 1777–1814.