ความเป็นเมืองและผู้สูงอายุเป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของเมืองและผู้สูงอายุ มีผลต่อนโยบายเมือง และผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะการจัดการเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุ
ภาพของเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องใหญ่โต หรือสูงเสียดฟ้า สลับกับบ้านจัดสรร ตึกแถว อาคารพาณิชย์ แทรกด้วยชุมชนที่มีความแออัดหนาแน่น มีถนนหนทางที่คับคั่งด้วยรถยนต์ ผู้คนมากมาย มีผู้สูงอายุในเมืองที่แข็งแรงช่วยเหลือตัวเองได้ ทำงานและมีความสุขในการทำงาน ขณะเดียวกัน มีผู้สูงอายุท่าทางเหงาหงอยเพราะไม่มีอะไรทำ โดดเดี่ยว ไปไหนมาไหนไม่ได้ เพราะไม่สะดวกในการเดินทาง หรือเพราะเจ็บป่วยมีผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เป็นภาพความขัดแย้งที่เห็นได้ทั่วไปในเมือง จึงเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่มีการขยายตัวของความเป็นเมืองได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
Image by Gerd Altmann from Pixabay
ความเป็นเมืองของไทยอยู่ที่เท่าไร
ความเป็นเมือง หมายถึง สัดส่วนหรือร้อยละของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง (เขตเทศบาล) ข้อมูลจากการสำ.มะโนประชากร พบว่า ช่วงเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ความเป็นเมืองของไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.5 ใน พ.ศ. 2503 เป็นร้อยละ 44.0 ใน พ.ศ. 2553 และมีการคาดประมาณว่าความเป็นเมืองของไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55.91 ใน พ.ศ. 2562 ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้กว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยอาศัยอยู่ในเมือง2
แล้วผู้สูงอายุที่อยู่ในเมืองมีเท่าไร
การก้าวย่างสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ที่หมายถึง การมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าส่งผลถึงการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อยู่ในเมืองเช่นกัน ข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย3 พบว่า ประชากรในเขตเมืองที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากจำนวนประมาณ 3.9 ล้านคน (ร้อยละ 13.1) ใน พ.ศ. 2555 เป็น 5.4 ล้านคน (ร้อยละ 15.6) ใน พ.ศ. 2560 และจะเพิ่มเป็น 14.3 ล้านคน (ร้อยละ 29.7) ใน พ.ศ. 2580 เป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในเวลา 25 ปี ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมืองของไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุแล้ว และในอีกประมาณ 4-5 ปี เมืองก็จะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (ภาพ)
สร้างเมืองอย่างไรให้เหมาะกับผู้สูงอายุ
ความเป็นผู้สูงอายุ สะท้อนถึงความเสื่อมถอยลงของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น ขณะที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุในเมืองที่มีจำนวนและสัดส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์การอนามัยโลก (WHO) เริ่มมีแนวคิดเมืองและชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-friendly cities and communities) มาตั้งแต่ ค.ศ. 2005 โดยเน้นการสร้างเมืองเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับทุกคนในสังคมเมืองได้อย่างเท่าเทียม ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีองค์ประกอบเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ4 8 องค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบทั้ง 8 ของ WHO เป็นการเสนอแนวทางเพื่อให้เกิดเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทย แม้มีการเคลื่อนไหว ผลักดัน หรือดำเนินการตามแนวทางไปบ้างแล้วในบางองค์ประกอบ แต่ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่อาจต้องใช้เวลาในผลักดันให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะที่เราสร้างเมืองเพื่อผู้สูงอายุ ก็ควรมีการสร้างเมืองเพื่อเตรียมการประชากรเมืองให้เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพที่ดีในอนาคตไปพร้อม ๆ กันด้วย
1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. (2562). สารประชากรมหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 มกราคม 2563 จาก http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/th/Gazette.aspx
2 การศึกษาเรื่องเมืองมีความซับซ้อนจากคำจำกัดความของคำว่าเมืองที่ต่างกัน โดยแต่ละประเทศ/ แต่ละพื้นที่กำหนดความหมายของ “เมือง” ไว้เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง จึงทำให้ยากที่จะเปรียบเทียบความเป็นเมืองระหว่างกันได้ สำหรับประเทศไทย เมืองหมายถึง เขตเทศบาล ซึ่งการใช้เทศบาลก็เคยเป็นความซับซ้อนในการศึกษาความเป็นเมืองของไทย จากการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความของเทศบาล
3 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.). (2562). รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
4 WHO. (2007). Global Age-friendly Cities: A Guide. France: World Health Organization.
5 แซมสุดา เข้มงวด. (2560). ไม่ใช่แก่เกินแกง แต่แก่เกินเมือง: ว่าด้วยเมือง ผู้สูงอายุ และอนาคต. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 จาก http://uddc.net/th/knowledge