The Prachakorn

“ชุมชนกรุณา” ของชาวห้วยยอดกับบทบาทการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย


สุริยาพร จันทร์เจริญ

06 กุมภาพันธ์ 2563
295



จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2562)1 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นอันดับ 1 เฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 ราย และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 293,463 ราย ในปี พ.ศ. 2559 เพิ่มเป็น 304,807 ราย ในปี พ.ศ. 2560 โดยโรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงมาจาก โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับประชากรทุกวัย 

สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่รู้จักและเรียกทับศัพท์ว่า Stroke อาการของโรคแบ่งได้ 2 ประเภท คือ หนึ่ง สมองขาดเลือดเป็นเวลานานทำให้ผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว เกิดการตีบหรืออุดตันจนทำให้เกิดอัมพาต สอง คือ หลอดเลือดสมองแตก ทำให้เซลล์สมองทำงานผิดปกติจนเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตและพบว่าในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงแล้วไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานก็สามารถเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้เช่นเดียวกัน2 

บทความนี้มี 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ หนึ่ง ผู้เขียนต้องการสะท้อนเรื่องโรคและความเจ็บป่วยที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับประชากรทุกเพศทุกวัย และไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดในผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว สอง เมื่อผู้ป่วยเกิดโรคนี้แล้วหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจส่งผลให้เกิดความพิการจนผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือในบางรายมีอาการป่วยเรื้อรังและติดเตียงในที่สุด และ สาม ความสำคัญในเรื่องของการดูแลผู้ป่วย โดยทั้ง 3 วัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่ามีความสำคัญและเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับตัวบุคคลที่จะเลือกรับประทานอาหารอย่างไรให้เหมาะสมและมีประโยชน์กับร่างกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงปราศจากการเจ็บป่วย ในระดับครอบครัวคือการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหารการกินอย่างถูกหลักโภชนาการ หากมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถช่วยกันดูแลเยียวยาได้ ตลอดจนในระดับชุมชนที่ต้องมีความเกื้อกูลกัน การให้กำลังใจทั้งตัวของผู้ป่วยเองและญาติของผู้ป่วยด้วย

ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังเมื่อประมาณเดือนกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในชุมชนห้วยยอด มีพระนักพัฒนาประธานชมรมชายผ้าเหลืองที่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่ท่านได้เล็งเห็นความสำคัญของการที่จะให้คนในชุมชนเกิดการตื่นรู้ต่อเรื่องของการเจ็บป่วย การดูแลสุขภาพ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนในชุมชนโดยใช้แนวคิดชุมชนกรุณา 

“ชุมชนกรุณา” (Compassionate Communities) เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขจากประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และอินเดีย ซึ่งเกิดจากการประยุกต์แนวคิดด้านสาธารณสุขที่หลากหลาย เช่น เมืองสุขภาวะ (Healthy Cities) ที่เสนอโดย องค์การอนามัยโลก ปี ค.ศ. 1986 แนวคิดด้านการพัฒนาชุมชนทั่วไป และแนวคิดเครือข่ายเพื่อนบ้านดูแลแบบประคับประคองจากรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย3 แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนให้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย ในประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ แคนาดา สเปน และไต้หวัน เป็นต้น4

ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอกระบวนการและเทคนิคผ่านแนวคิดชุมชนกรุณาที่ประธานชมรมชายผ้าเหลืองได้ปฏิบัติร่วมกันกับจิตอาสาและคนในชุมชนบริเวณรอบ ๆ วัดห้วยยอด มากว่า 3 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกก่อนจะเกิดเป็นชมรมชายผ้าเหลืองคือพระอาจารย์ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลห้วยยอด ซึ่งในขณะนั้นพระอาจารย์เห็นว่าเป็นภารกิจของสงฆ์ตามพระธรรมวินัยที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว และการเยี่ยมผู้ป่วยในช่วงแรก ๆ ยังไม่มีทีมจิตอาสาหรือเครือข่ายเข้ามาสนับสนุนแต่อย่างใด จนพระอาจารย์ได้เกิดแนวคิดที่ว่าอยากจะชักชวนคนในชุมชนให้เกิดการตื่นรู้และตระหนักในเรื่องของสุขภาพและการเจ็บป่วย เพราะส่วนใหญ่คนในชุมชนมักเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันทั้งสิ้น จึงได้ใช้หลักการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัด โรงพยาบาล และชุมชน 

ในระหว่างการเข้าเยี่ยมชุมชนพร้อมกับทีมแพทย์และพยาบาล พระอาจารย์ได้มีโอกาสพูดคุยและแสดงธรรมในรูปแบบที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่ายในเรื่องของความเจ็บป่วยและการตาย ให้แง่มุมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและชักชวนให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปเยี่ยมบ้านของผู้ป่วยและครอบครัวในชุมชนละแวกใกล้เคียง เทคนิคที่พระอาจารย์ใช้ในการสร้างทีมจิตอาสาเพื่อทำงานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือการขอความร่วมมือจากคนในชุมชนที่มีจิตอาสาอยากทำงานเพื่อส่วนรวม และให้จิตอาสาแต่ละคนเลือกบทบาทหน้าที่ตามความต้องการของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานบรรลุเป้าหมายและลดการเกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างทีมงานด้วยกัน 

เมื่อได้ทีมจิตอาสาที่พร้อมจะทำงานแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อไปคือการเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยในชุมชน สิ่งที่พระอาจารย์ให้ความสำคัญต่อการเข้าไปเยี่ยมบ้านนอกจากตัวผู้ป่วยแล้ว ยังคงมีญาติ ๆ ของผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการเยียวยามากกว่าตัวของผู้ป่วย เพราะตัวของผู้ป่วยสามารถทำได้เพียงการประคับประคองและการดูแล แต่ในญาติของผู้ป่วยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังทรัพย์ การจัดสรรเวลาเพื่อดูแลผู้ป่วย การให้กำลังใจ การเตรียมความพร้อมที่จะต้องรับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และการใช้ชีวิตหลังการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งการเข้าพบและพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยในแต่ละครั้งจะต้องได้รับการประเมินจากทีมแพทย์และพยาบาลก่อนว่าสามารถให้เข้าเยี่ยมพูดคุยหรือให้กำลังใจได้หรือไม่ ทำให้ตัวของพระอาจารย์และทีมจิตอาสาเกิดการเรียนรู้ที่จะทำงานด้านการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ตลอดเวลา 

การใช้แนวคิดชุมชนกรุณาของชาวห้วยยอดต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนี้ เป็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายภายในชุมชนเดียวกัน การได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐตลอดจนสมาชิกภายในชุมชนที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการดูแล การช่วยกันประคับประคองให้สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการเยียวยาจิตใจเพื่อนสมาชิกในชุมชนให้พ้นจากความทุกข์อันเกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความ “กรุณา” 

ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก: พระกฎษดา ขนฺติกโร สังฆะแห่งการเยียวยา (ประธานชมรมชายผ้าเหลือง)
 


อ้างอิง
1กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2562) กรมควบคุมโรค รณรงค์วันอัมพาตโลก ปี 2562 ให้ประชาชนรับรู้สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง ลดความเสี่ยงเป็นอัมพาต. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:O6shhdxXuTcJ:https://ddc.moph.go.th/riskcomthai/news.php%3Fnews%3D10024%26deptcode%3Driskcomthai%26news_views%3D1212+&cd=1&hl=th&ct=clnk&gl=th (วันที่สืบค้นข้อมูล: 21 มกราคม 2563).

ยงชัย นิละนนท์. (2553). อัมพฤกษ์อัมพาต  โรคเรื้อรังที่ต้องดูแล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:Bsd6zrtmA1wJ:https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp%3Fid%3D707+&cd=8&hl=th&ct=clnk&gl=th (วันที่สืบค้นข้อมูล: 21 มกราคม 2563).

Libby Sallnow, Suresh Kumar, and Mathews Numpeli. (2010). Home-based palliative care in Kerala, India: the Neighbourhood Network in Palliative Care. Progress in Palliative Care. 18(1) : 14-17.

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ, ปองกมล สุรัตน์, ฐนิดา อภิชนะกุลชัย, และอัจฉรา ตะนะสุข. (2562). ชุมชนกรุณา มิติใหม่ของสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามลดา.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th