“ขอให้มีสุขภาพดี” เป็นหนึ่งในคำอวยพรยอดฮิต เพราะใคร ๆ ก็อยากมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วยด้วยกันทั้งนั้น
การสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2561** ด้วยแบบสำรวจความสุขด้วยตนเอง(HAPPINOMETER) เฉพาะมิติสุขภาพกายดี พบว่าคนทำงานมีคะแนนความสุขในมิตินี้ เท่ากับ 59.5 คะแนน (จาก 100 คะแนน) อยู่ในระดับ “HAPPY” หากดูตาม Generation พบว่า Gen BB มีค่าคะแนนความสุขสูงสุด รองลงมาคือ Gen X และ Y
Generation | คะแนนเฉลี่ย สุขภาพกายที่ดี |
Baby Boom - BB (56 ปีขึ้นไป) | 62.7 |
Generation X - Gey X (37 - 55 ปี) | 60.3 |
Generation Y - Gen Y (ไม่เกิน 36 ปี) | 58.3 |
ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการมีสุขภาพดีก็คือการออกกำลังกาย แต่การสำรวจพบว่า ในหนึ่งสัปดาห์คนทำงานทุก Gen มากกว่าครึ่งไม่ได้ออกกำลังกายเลย โดย Gen X เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ออกำลังกายเลย สูงสุด (55.2 %) รองลงมาคือ Gen Y และ BB ในขณะที่ Gen BB มีสัดส่วนของผู้ออกกำลังกายตั้งแต่ 3-7 วันต่อสัปดาห์สูงกว่า Gen X และ Y แต่ในทางตรงกันข้าม Gen Y เป็นกลุ่มที่ออกกำลังกาย 1-2 วันต่อสัปดาห์มากที่สุด (35.8%) รองลงมา คือ Gen BB และ X
อาหารทุกมื้อล้วนมีความสำคัญต่อร่างกาย แต่อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญเนื่องจากร่างกายต้องการอาหารเพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไปในช่วงที่นอนหลับ การสำรวจพบว่าส่วนใหญ่แล้วคนทำงานทุก Gen ยังให้ความสำคัญกับการกินอาหารเช้า Gen BB มีสัดส่วนของคนที่กินอาหารเช้าทุกวันมากที่สุด (62.4%) รองลงมาคือ Gen X และ Y ส่วนคนที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเลยพบในกลุ่มของ Gen Y มากกว่า Gen X และ BB
การออกกำลังกาย/การกินอาหารเช้า (ต่อสัปดาห์)
ไม่ได้ทำ | 1-2 วัน | 3-4 วัน | 5-6 วัน | ทุกวัน | |
การออกกำลังกาย | |||||
Baby Boom | 50.6 | 32.1 | 7.2 | 3.3 | 6.8 |
Gen X | 55.2 | 31.6 | 6.2 | 3.2 | 3.8 |
Gen Y | 53.6 | 35.8 | 5.2 | 2.1 | 3.3 |
การกินอาหารเช้า | |||||
Baby Boom | 2.2 | 6.1 | 10.3 | 19.0 | 62.4 |
Gen X | 3.4 | 8.3 | 15.1 | 18.6 | 54.6 |
Gen Y | 4.0 | 9.5 | 21.8 | 17.8 | 46.9 |
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนทำงาน การสำรวจพบว่าคนทำงานส่วนมากเป็นผู้ที่เคยดื่มแต่ปัจจุบันเลิกดื่มแล้ว เฉพาะกลุ่มที่ปัจจุบันยังคงดื่มอยู่นั้น ทั้ง Gen X และ Y มีพฤติกรรมการดื่มแบบนาน ๆ ครั้ง คือดื่มในช่วงที่มีเทศกาล หรืองานสังสรรค์ต่าง ๆ (29.6% และ 35.5% ตามลำดับ) มากกว่า Gen BB กลุ่มที่ดื่มบ่อยครั้งพบใน Gen X และ Y พอ ๆ กัน ซึ่งสูงกว่า Gen BB สำหรับการดื่มเป็นประจำซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแน่นอนนั้น พบว่า Gen BB ดื่มเป็นประจำมากที่สุด รองลงมาคือ Gen X และ Y
เรื่องการสูบบุหรี่ การสำรวจพบผลในทำนองเดียวกับการดื่มคือคนทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่ปัจจุบันเลิกสูบแล้วเฉพาะกลุ่มที่ปัจจุบันยังสูบบุหรี่อยู่นั้น Gen Y มีพฤติกรรมสูบบุหรี่นาน ๆ ครั้ง (30.5%) สูงกว่า Gen X และ BB คนที่สูบบุหรี่บ่อยครั้งพบใน Gen BB มากกว่า Gen X และ Y เช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำที่ Gen BB สูบเป็นประจำมากที่สุด รองลงมาคือ Gen X และ Y
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ /การสูบบุหรี่
ประจำ | บ่อยครั้ง | นาน ๆ ครั้ง | เคยดื่ม/สูบ | ไม่เคย | |
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ | |||||
Baby Boom | 0.8 | 1.1 | 27.0 | 60.2 | 10.9 |
Gen X | 0.4 | 1.7 | 29.6 | 60.8 | 7.5 |
Gen Y | 0.2 | 1.6 | 35.5 | 56.8 | 5.9 |
การสูบบุหรี่ | |||||
Baby Boom | 1.2 | 2.3 | 25.6 | 59.2 | 11.7 |
Gen X | 0.2 | 2.0 | 28.0 | 60.7 | 9.0 |
Gen Y | 0.2 | 1.7 | 30.5 | 60.8 | 6.8 |
ในองค์กรประกอบด้วยคนทำงาน 3 Generation การสำรวจพบว่าคนทำงาน Gen BB มีสัดส่วนของคนที่ได้ออกกำลังกายทุกวันสูงที่สุด ในขณะที่ Gen X และ Y มีการออกกำลังกาย 1-2 วันต่อสัปดาห์มากกว่า BB และGen BB กินอาหารเช้าทุกวันมากกว่า Gen X และ Y ในขณะที่กลุ่มคนทำงานทั้ง Gen X และ Y มีสัดส่วนของคนที่ดื่ม/หรือสูบบุหรี่ นาน ๆ ครั้ง สูงกว่า Gen BB
แม้ว่าคนทำงานทุก Gen มีคะแนนสุขภาพกายดีอยู่ในระดับ HAPPY แล้วก็ตาม (Gen BB = 62.7), (Gen X = 60.3) และ (Gen Y = 58.3) แต่องค์กรก็ควรส่งเสริมและพัฒนาความสุขในมิติสุขภาพกายของคนทำงานให้สูงขึ้นกว่าเดิม เพราะหากคนทำงานไม่มีความสุขในมิติสุขภาพกายแล้ว ก็คงไม่มีพลังที่จะทำงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้าต่อไปได้
**ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล