The Prachakorn

ประชากรไทยในยุโรป: ทำไมผู้หญิงจึงเยอะกว่าผู้ชาย


ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

01 เมษายน 2563
407



เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประชากรไทยย้ายถิ่นไปต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งนอกจากประชากรไทยจะย้ายถิ่นเพื่อโอกาสการทำงานที่ดีกว่า ก็ยังมีประชากรจำนวนมากที่ย้ายถิ่นเพื่อการแต่งงานและสร้างครอบครัวในต่างประเทศ ซี่งประชากรที่ย้ายถิ่นในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

ผู้เขียนได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของหญิงไทยในประเทศสหราชอาณาจักร และพบว่าลักษณะของการย้ายถิ่นของประชากรไทยในยุโรปนั้น ไม่สมดุลในแง่ของเพศและมีลักษณะเป็น “แนวโน้มการย้ายถิ่นของผู้หญิง” (feminization of migration)

จากงานวิจัยหลายงานพบว่า ประมาณร้อยละ 80 ของประชากรไทยในเยอรมนี1 ออสเตรีย2 เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์3 และประมาณร้อยละ 70 ของประชากรไทยในสวีเดนนั้นเป็นเพศหญิง4 โดยส่วนใหญ่เข้าประเทศโดยการแต่งงานหรือเหตุผลด้านครอบครัว ช่องทางการเข้าเมืองของหญิงไทยในยุโรปมีไม่มากนัก ซึ่งการย้ายถิ่นโดยการแต่งงานเป็นช่องทางหลักที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในทวีปยุโรปได้

หญิงไทยในสหราชอาณาจักร

จากตัวเลขของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศณ ปี 2560 พบว่า ประชากรไทยในสหราชอาณาจักรนั้นมีประมาณ 71,000 คน ซึ่งถือเป็นชุมชนคนไทยที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ถึงจะไม่มีสถิติแบบแบ่งแยกเพศ แต่ตัวแทนของสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอนให้ความเห็นว่าประชากรไทยส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรเป็นเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบว่าตั้งแต่ปี 2556 จำนวนการให้วีซ่าคู่สมรสในสหราชอาณาจักรนั้นมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากรัฐบาลออก กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้จำนวนหญิงไทยที่ได้วีซ่าดังกล่าวมีจำนวนลดลงตามไปด้วย

ความพึงพอใจของการแต่งงานย้ายถิ่น

จากการศึกษาแรงจูงใจในการแต่งงานย้ายถิ่นคือโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของหญิงไทย ซึ่งรวมถึงครอบครัวในประเทศไทยด้วย การย้ายถิ่นทำให้พวกเธอมีโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น ได้อยู่ในสังคมที่เปิดกว้างมากกว่า ได้รับสวัสดิการ หรือคุณภาพการศึกษาของลูกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการอาศัยอยู่ต่างประเทศก็มีหลายข้อเช่นกัน เช่น การปรับตัว การขาดเครือข่ายทางสังคม ค่าครองชีพสูง และความรุนแรงในครอบครัว

มีข้อสันนิษฐานจากงานวิชาการหลายฉบับว่า กลุ่มหญิงไทยที่ย้ายถิ่นมากที่สุดน่าจะมาจากภาคอีสาน อย่างไรก็ตามการศึกษานี้รวบรวมข้อมูลจากหญิงไทยที่มาจากหลากหลายพื้นที่ มีประวัติการศึกษาและการทำงานที่แตกต่างกันไป ซึ่งในจุดนี้เองทำให้พบว่า ผู้ที่มาจากพื้นเพต่างกันมีความคาดหวังและความพึงพอใจในการใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศต่างกันด้วย เช่นผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาและรายได้ไม่สูงนัก มักจะมีความพึงพอใจมากกว่าเมื่อได้ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในยุโรป ในขณะที่ผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาและรายได้ปานกลางหรือสูง มักรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในต่างประเทศนั้นคือความท้าทาย เนื่องจากตลาดแรงงานในยุโรปไม่รองรับวุฒิการศึกษาจากประเทศไทย และต้องทำงานที่มีคุณสมบัติต่ำกว่าระดับการศึกษา มีผลให้ต้องปรับตัวและมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้หญิงหลาย ๆ คน

ย้ายแล้วจะกลับไหม?

ผู้เขียนพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดอยากกลับประเทศไทยในช่วงบั้นปลายชีวิตหรือหลังเกษียณอายุ เพราะมองว่าช่วงวัยทำงานตนยังสามารถหางานทำในประเทศอังกฤษได้ บางคนที่ห่างบ้านมานานแล้วกล่าวว่า การกลับบ้านตอนนี้อาจจะทำให้ปรับตัวไม่ได้ และตลาดแรงงานของไทยไม่เปิดกว้างให้ผู้หญิงอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปได้สมัครงาน ซึ่งต่างจากอังกฤษ ที่มีการระบุในกฎหมายแรงงานของสหราชอาณาจักรว่าห้ามนายจ้างจำกัดอายุของผู้สมัครงาน ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายนี้

แม้ว่าสถานการณ์การแต่งงานย้ายถิ่นจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราก็ยังไม่รู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงเหล่านี้มากนัก หลายคนคาดหวังว่าการย้ายถิ่นจะทำให้พวกเธอมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วชีวิตในต่างประเทศก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป

 
ภาพจาก: https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_833336


1 Ruenkaew, P. (2009). Female Transnational Migration from Thailand: Like Thirty Years Before? Pacific News, (32), 22–24. 
2 Trupp, A., & Butraratana, K. (2016). Cross–Border Marriages and Socioeconomic Mobility of Thai Migrants in Austria. IPSR 12th Annual Conference, 91–104. 
3 Suksomboon, P. (2008). Remittances and ‘Social Remittances’: Their Impact on Livelihoods of Thai Women in The Netherlands and Non-Migrants in Thailand. Gender, Technology and Development, 12(3), 461–482. 
4 Chuenglertsiri, P. (2012). Women’s Transnational Identities and Belonging: The Case of Thai Female Immigrants in Sweden. Lund University.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th