ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประชากรโดยคาดประมาณ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 จำนวน 328 ล้านคน พบว่ามีคนยากจนร้อยละ 13.4 หรือ 43 ล้านคน โดยวัดจากรายได้ต่อปีของประชากร เช่น
แนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์แบ่งความยากจนเป็น 2 ประเภทคือ ยากจนจริง (absolute poverty) หมายถึง ผู้ที่มีน้อยกว่าที่จําเป็นจะต้องมี จนไม่สามารถมีความมั่นคงในการเสาะหาสินค้าหรือบริการที่พอเพียงสำหรับความจําเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อการดํารงชีพ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย น้ำสะอาดเพื่อการบริโภค การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ความยากจนประเภทที่สองคือ ยากจนเชิงเปรียบเทียบ (relative poverty)หมายถึง คนที่มีรายได้น้อยกว่าคนอื่น ๆ ในสังคมโดยเปรียบเทียบจากการมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องปรับอากาศคอมพิวเตอร์ ระบบดาวเทียม รถยนต์ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ไม่ถือว่าเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
คนจนแม้แต่ที่หลับนอนก็ต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะ ไม่เว้นแม้แต่โถงสวดมนต์
ภาพจาก: Spencer Platt/Getty Images
https://www.theguardian.com/world/2017/dec/15/extreme-poverty-america-un-special-monitor-report
ใครบ้างที่ยากจน
ประชากรในชนบทกลุ่มอายุ 0-5 ปี ร้อยละ 27 อยู่ในครอบครัวฐานะยากจน เปรียบเทียบกับกลุ่มอายุ 6-11 ปี ร้อยละ 24 หรือ 4.9 ล้านคน และกลุ่มอายุ 12-17 ปี ร้อยละ 20 หรือประมาณ 4.2 ล้านคน
ภาระการดูแลบุตรมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กจำนวน 2.1 ล้านคน อยู่ในความดูแลของพ่อเลี้ยงเดี่ยว เปรียบเทียบกับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลบุตรถึง 8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าถึง 4 เท่า
ครัวเรือนพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีความยากจน ร้อยละ 12.7 เปรียบเทียบกับครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยว มีร้อยละ 24.9 ตัวเลขนี้มีนัยยะว่าผู้หญิงเมื่อต้องหย่าร้างมีความเสี่ยงต่อความยากจนมากกว่าผู้ชาย และถ้าแบ่งตามเพศและเชื้อชาติพันธุ์ พบว่าเพศหญิง (ร้อยละ 12.9) มีความยากจนมากกว่าเพศชาย (ร้อยละ 10.6) และประชากรอเมริกัน เชื้อสายอินเดียน มีความยากจนมากที่สุด (ร้อยละ 25.4) รองลงมาคือ เชื้อสายแอฟริกัน (ร้อยละ 20.8)
ระดับการศึกษามีผลต่อความยากจนเช่นกัน ประชากรอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า มีเพียงร้อยละ 4.4 ที่ยากจน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น ระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย มีถึงร้อยละ 25.9 ในขณะที่ระดับอาชีวะศึกษา มีร้อยละ 12.7
ความมั่นคงทางอาหาร
การสำรวจในปี 2561 พบว่าคนยากจนประมาณ 37 ล้านคน อาศัยใน 14 ล้านครัวเรือน ร้อยละ 11 ไม่มีอาหารพอเพียงสำหรับการบริโภค ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 6 ล้านคนที่กินไม่อิ่ม ผู้หญิงที่อยู่กับบุตรร้อยละ 27.8 มีอาหารไม่พอเพียงสำหรับการบริโภค
กินไม่อิ่มท้องในแต่ละมื้อยังรวมถึงเยาวชนที่กำลังเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย เช่น รัฐอิลลินอยส์ นักศึกษาผิวสีกินไม่อิ่มท้องมากกว่านักศึกษาเชื้อชาติอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยฮาวาย นักศึกษาที่มาจากเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค และจากฟิลิปปินส์ มีอาหารบริโภคในแต่ละมื้อน้อยกว่านักศึกษาจากญี่ปุ่น
สถานการณ์กินไม่อิ่มหรืออดมื้อกินมื้อของนักศึกษาใน 26 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา มีถึงร้อยละ 11-38 ที่ต้องอดบ้างบางมื้อเพราะไม่มีเงิน ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับชาวอเมริกัน จึงทำให้เกิดโครงการอาหารฟรีจากรัฐบาลสำหรับมหาวิทยาลัยที่เผชิญปัญหาดังกล่าว เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย
ผู้สูงอายุุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร คาดว่าในปี 2593 จะมีผู้สูงอายุ ประมาณ 8 ล้านคนที่ขาดแคลนอาหาร รวมทั้งจะมีภาวะยากลำบากมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคจากการมีรายได้ที่จำกัด ปัญหาความไม่คล่องตัวในการหาซื้ออาหาร หรือการช่วยเหลือตนเอง และความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น ร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า
... ผู้ยากไร้ในประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงนี้เช่นกัน...
แหล่งข้อมูล:
1) U.S. Census Bureau, Current Population Survey, 2018 and 2019 Annual Social and Economic Supplements (CPS ASEC).
2) https://blog.savethechildren.org/2018/06/poverty-in-america.html#fn4