มะเร็ง (cancer) ไม่ใช่โรคสมัยใหม่ แต่เป็นโรคเก่าแก่ของมนุษย์ ที่ถูกบันทึกไว้บนกระดาษพาไพรัสของอียิปต์ เมื่อ 1600 ปี ก่อนคริสตกาล โดยมะเร็งที่ถูกกล่าวถึงคือ มะเร็งเต้านม
มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ ที่เจริญเติบโตอย่างไม่มีการควบคุม โดยแบ่งตัวและรุกรานเนื้อเยื่อข้างเคียงและห่างไกล สำหรับคนปกติ เซลล์จะแบ่งตัวโดยการทำสำเนาตัวเองเป็นเซลล์ใหม่อีกตัวหนึ่ง แต่ในคนที่เป็นมะเร็ง เซลล์ตัวใหม่จะกลายพันธุ์ (mutation) เป็นเซลล์ผิดปกติต่างไปจากสำเนาเดิม ซึ่งเซลล์ผิดปกติเหล่านี้จะแบ่งตัวเป็นเซลล์ผิดปกติต่อไปอีก
แต่ถ้าเซลล์ที่ผิดปกติไม่รุกรานเนื้อเยื่อข้างเคียง เพียงแต่แบ่งตัวเป็นก้อนเนื้ออยู่ในที่เดิม เราจะไม่เรียกว่า “มะเร็ง” แต่จะเรียกว่า “เนื้องอก (tumour)” โดยทั่วไป เนื้องอกจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะสามารถทำการผ่าตัดเอาออกได้ แต่ถ้าเนื้องอกเกิดขึ้นในที่ ๆ ยากต่อการผ่าตัด ก็อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต เช่น เนื้องอกในสมอง
เซลล์มะเร็งจะเริ่มต้นจากก้อนเนื้อก่อน แล้วจึงรุกรานไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยผ่านทางระบบเลือดหรือระบบทางเดินน้ำเหลือง สัญญาณและอาการของมะเร็ง ได้แก่ เป็นปุ่ม มีเลือดออกผิดปกติ ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ และมีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
มะเร็งเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดมะเร็งก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็มีมะเร็งชนิดหนึ่งที่มักจะเกิดกับผู้ชายอายุน้อยมากกว่าผู้ชายอายุมาก คือ มะเร็งอัณฑะ
มะเร็งที่พบบ่อย 6 อันดับแรกของโลกคือ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งกระเพาะอาหาร สำหรับในประเทศไทยมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชายคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนในเพศหญิงคือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งรังไข่
สาเหตุของการเกิดมะเร็ง ได้แก่ ยาสูบ (ทั้งสูบและไม่สูบ) รังสี (แสงแดด เอกซ์เรย์ สารกัมมันตภาพรังสี) สารเคมีและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและการผลิต (แร่ใยหิน (asbestos) เบนซีน) อากาศและน้ำเสีย โรคอ้วน ขาดสารอาหาร ขาดการกำลังกาย ดื่มสุรา โรคเพศสัมพันธ์ และกรรมพันธุ์
มะเร็งจะพบได้ด้วยการสังเกตสัญญาณและอาการเฉพาะของมะเร็ง หรือจากการคัดกรอง (screening) ซึ่งก็จะเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น เพราะเราไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัด จนกว่าจะได้นำชิ้นเนื้อที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง ไปตรวจทางพยาธิวิทยาเสียก่อน
วิธีการคัดกรอง ได้แก่ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดและปัสสาวะ เอ็กซ์เรย์ ซีทีสแกน (CT scan) และการส่องกล้อง (endoscopy)
แพทย์กำลังส่องกล้องตรวจลำไส้ (colonoscopy)
ที่มา: http://ppcorn.com/us/colonoscopy-15-interesting-facts-you-should-know//สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2563
วิธีการรักษามะเร็ง ได้แก่ ผ่าตัด เคมีบำบัด (chemotherapy) รังสีบำบัด (radiation therapy) ฮอร์โมนบำบัด (hormonal therapy) การรักษาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) และการบริบาลบรรเทา (palliative care)
รางวัลอีกโนเบลที่เกี่ยวกับมะเร็งมีถึง 3 รางวัล คือ
ในปีล่าสุด (พ.ศ. 2562) สาขาแพทย์ศาสตร์ ได้มอบแก่ให้นักวิจัยชาวอิตาลี (Silvano Gallus) ที่ได้เก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อจะบอกว่า พิซซ่าอาจป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งได้ ถ้าเป็นพิซซ่าที่ผลิตและบริโภคในประเทศอิตาลี
ส่วนอีก 2 รางวัลเป็นรางวัลที่เกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ ได้แก่
พ.ศ. 2561 สาขาแพทย์ศาสตร์ศึกษา มอบให้กับนักวิจัยชาวญี่ปุ่น (Akira Horiuchi) ที่ได้เขียนรายงานวิจัยเรื่อง “การส่องกล้องตรวจลำไส้ในท่านั่ง: บทเรียนจากการทำด้วยตนเอง”
พ.ศ. 2555 สาขาแพทย์ศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยชาวฝรั่งเศส 2 คน (Emmanuel Ben-Soussan และMichel Antonietti) สำหรับคำแนะนำแก่คุณหมอที่จะส่องกล้องตรวจลำไส้ว่า ควรทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ท้องคนไข้ระเบิด
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่เรียกเสียงหัวเราะก่อน แล้วจึงได้คิด
ตำสำคัญ คือ มะเร็ง เนิ้องอก การคัดกรอง