The Prachakorn

สัญญา (Perception)


วรชัย ทองไทย

03 เมษายน 2561
2,332



ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คำว่า “สัญญา” มี 2 ความหมาย ความหมายแรกที่เราใช้กันทั่วไปอย่างแพร่หลาย หมายถึง ข้อตกลงระหว่างบุคคล 2 ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่า จะกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้ หรือแม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ 1 จะให้รางวัล เป็นต้น

ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่เรามักจะไม่ค่อยใช้กัน “สัญญา” จะหมายถึง “ความจํา” อันเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในศาสนาพุทธ และจะใช้ในบทความนี้

เหตุที่ต้องใช้ “สัญญา” ในความหมายที่สอง เนื่องมาจากรางวัลอีกโนเบลปีล่าสุดที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) ได้มอบให้กับนักวิจัยชาวญี่ปุ่น 2 คน (Atsuki Higashiyama และ Kohei Adachi) ที่วิจัยว่า สิ่งที่เรามองเห็นจะแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ขณะที่โก้งโค้งลงแล้วมองลอดระหว่างขา ส่วนชื่อรางวัลเป็นสาขาที่ตั้งใหม่ คือ สาขาสัญญา (Perception Prize)

จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้แปล “สัญญา” เป็นภาษาอังกฤษว่า Perception สำหรับ “ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน” บัญญัติ Perception ว่า หมายถึง ความรู้สึก การรับรู้ การกำหนดรู้ ส่วนตำราจิตวิทยาภาษาไทยได้แปล perception ว่า การรับรู้

การรับรู้ เป็นกระบวนการนำข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกมาจัดระเบียบ คัดเลือก และแปลความหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว

ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกนี้ ถูกส่งมาจากอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย การรับรู้จึงแบ่งออกได้ตามอวัยวะรับสัมผัส ได้แก่ การรับรู้จากการเห็น (ตา) การรับรู้จากการได้ยิน (หู) การรับรู้จากการได้กลิ่น (จมูก) การรับรู้จากการรู้รส (ลิ้น) และการรับรู้จากการสัมผัส (กาย) นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของการรับรู้อื่นอีก เช่น การรับรู้ทางสังคม (Social perception) การรับรู้ทางการพูด (Speech perception) และการรับรู้ทางหน้า (Face perception)

 

รูป 1 สมองหรือหน้าคน

รูป 2 แจกันหรือคน 2 คน หันหน้าเข้าหากัน  

รูป 3 คนเป่าแซกโซโฟนหรือหญิงสาว

 

เนื่องจากแต่ละบุคคลมีประสบการณ์ การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้การรับรู้ของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ดังตัวอย่างรูป 3 รูป ที่มองเห็นได้แตกต่างกันไป ตามการรับรู้ของแต่ละบุคคล

สัญญา คือ ความกำหนดได้หมายรู้ หรือความหมายรู้ เป็นกระบวนการเรียกเก็บ รวบรวม และสั่งสมข้อมูลของการเรียนรู้ และวัตถุดิบสำหรับความคิด

สัญญาแบ่งออกตามทางแห่งการรับรู้ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) คือ สัญญาเกี่ยวกับรูป (ตา) สัญญาเกี่ยวกับเสียง (หู) สัญญาเกี่ยวกับกลิ่น (จมูก) สัญญาเกี่ยวกับรส (ลิ้น) สัญญาเกี่ยวกับสิ่งต้องกาย (กาย) และสัญญาเกี่ยวกับเรื่องในใจหรือสิ่งที่ใจรู้และนึกคิด (ใจ)

สัญญายังแบ่งได้ออกเป็น 2 ระดับ คือ สัญญาชั้นต้น ได้แก่ ความหมายรู้ลักษณะอาการตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ โดยตรง เช่น หมายรู้ว่า สีเขียว ขาว แข็ง อ่อน รสเปรี้ยว หวาน เป็นต้น และสัญญาซ้อนเสริม ได้แก่ ความหมายรู้ตามนิยมของสังคม ประเพณี เช่น อย่างนี้สุภาพ อย่างนั้นสวยงาม อย่างนี้ถูกธรรมเนียม เป็นต้น ความหมายรู้ตามนิยมและปรุงแต่งจำเพาะตน เช่น อย่างนี้น่าชม อย่างนี้น่าหมั่นไส้ เป็นต้น ความหมายรู้แบบสัญลักษณ์ เช่น สีเขียวแดงหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เสียงระฆังสองครั้งหมายถึงได้เวลาการกินอาหาร เป็นต้น หรือความหมายรู้ตามการศึกษาในทางธรรม เช่น หมายรู้ในภาวะที่ไม่เที่ยง หมายรู้ในภาวะที่เป็นอนัตตา เป็นต้น

ถ้าแยกย่อยออกไปอีก สัญญาซ้อนเสริมก็แบ่งได้เป็น 2 พวก คือ กิเลสสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาที่ประกอบด้วยกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) และกุศลสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาที่ช่วยส่งเสริมความเจริญปัญญาและความงอกงามแห่งกุศลธรรม

เพราะมนุษย์จะยึดติดตามสัญญา สัญญาจึงมีอิทธิพลยิ่งต่อการรับรู้ การมองเห็น การเข้าใจโลกรอบตัว และการที่จะสร้างความรู้อย่างอื่นต่อๆ ไป

ในอดีต รางวัลอีกโนเบล เคยมอบรางวัลให้กับงานวิจัยที่เกี่ยวกับสัญญาเช่นกัน แต่ได้ให้ในชื่อสาขาอื่น คือ เมื่อปี พ.ศ. 2555 ในสาขากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy Prize) ได้มอบให้กับนักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์และชาวอเมริกัน (Frans de Waal และ Jennifer Pokorny) ที่ค้นพบว่า ลิงชิมแปนซีสามารถชี้ตัวลิมแปนซีตัวอื่นได้ จากรูปถ่ายของก้น

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำ แล้วจึงได้คิด


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th