The Prachakorn

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 


พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

11 เมษายน 2563
667



“การดูแลระยะใจ” สำคัญอย่างยิ่ง ยามที่มีมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” อย่างเข้มข้น ในการหยุดยั้งวิกฤตโควิด-19 เพื่อไม่ให้ลุกล้ำเข้ามาใน “ระยะสนิทสนม” จนเลยเถิดไปถึง “ระยะส่วนตัว”


ภาพโดย นายพงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ

ภาพคุ้นตาของวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบไทย ๆ ของการรวมกลุ่ม พบปะพูดคุยด้วยรอยยิ้ม และมิตรไมตรีต่อกัน กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไปตั้งแต่ต้นปี 2563 เมื่อมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” จากจุดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สู่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก จนในที่สุดองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นการแพร่ระบาดระยะลุกลามในวงกว้าง (Pandemic) ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม1 ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 มีผู้ป่วยโควิด-19 จาก 199 ประเทศทั่วโลกจำนวน 1,289,380 คน และผู้เสียชีวิต 70,590 คน2 ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งแรงสั่นสะเทือนไปทุกระดับ ทั่วทุกมุมโลก ไม่แยกชนชั้นวรรณะ หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม หลายมาตรการถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายและยาวนาน

“ระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)”  เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ถูกนำมาปรับใช้ไปทั่วโลกเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและสกัดกั้นการแพร่ระบาด รวมไปถึงสังคมไทยที่นำมาใช้ด้วยรูปแบบของปฏิบัติการผนึกพลังจากทุกภาคส่วนอย่างเร่งด่วน เช่น การปิดสถานศึกษาและเรียนผ่านออนไลน์ การยกเลิกการประชุม การทำงานที่บ้าน ยกเลิกการนัดหมายหรือการพบปะสังสรรค์ หลีกเลี่ยงการใช้บริการหรือไปในสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัดหรือต้องใกล้ชิดกับผู้อื่น...หากแต่กลับพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไปจากจุดเริ่มต้นในเมืองหลวงสู่จังหวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และต่อเนื่องเป็นข้อกำหนดในการจำกัดการออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ในระหว่างเวลา 22.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งดูราวกับว่าทุกคนจะมีเวลาได้อยู่บ้านอยู่กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับมีหลายครอบครัวที่ต้องเผชิญชะตากรรมหลากหลายรูปแบบที่ต้องห่างไกลกัน และจำเป็นต้องห่างเหินกันและกันในภาวะยอมจำนนต่อความรับผิดชอบทางสังคม

ครอบครัวไทยเคยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่กลายเป็นครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงและมีความหลากหลายมากขึ้น3 ด้วยเพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางประชากร จากที่เคยมีประชากรวัยเด็กจำนวนมากในอดีต กลายเป็นสังคมสูงวัยที่มีเด็กน้อยลงมากแต่ประชากรสูงวัยกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญมีวัยแรงงานจำนวนมากจากทั่วทุกภูมิภาคได้ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเลือกดำเนินชีวิตและการตัดสินใจเริ่มสร้างครอบครัว ทำให้ผู้ที่ย้ายไปทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครบางคนอาจพักอาศัยอยู่เพียงลำพัง อยู่กับคู่ หรืออยู่กับเพื่อน ส่วนผู้ที่มีบุตรนั้นอาจพาบุตรย้ายตามไปด้วย หรือปล่อยให้บุตรอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายายในต่างจังหวัดแทน

เมื่อพิจารณาจากจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบว่า กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด กรุงเทพมหานครจึงกลายแหล่งเสี่ยงสูงสุดของการแพร่ระบาด ประกอบกับมาตรการของหลายหน่วยงานที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวทำให้แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ในกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งต้องมุ่งหน้ากลับบ้านต่างจังหวัดด้วยเงื่อนไขของค่าครองชีพและชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความเสี่ยงต่อการตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง การเคลื่อนย้ายแรงงานกลับภูมิลำเนาในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ได้สะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างชัดเจน ซึ่งสวนทางกับมาตรการของภาครัฐที่ขอความร่วมมือห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายบุคคลข้ามพื้นที่เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ร่วมกับการรณรงค์เพื่อลดบรรยากาศของความตึงเครียดด้วยสโลแกน “รวมกันติดหมู่ แยกกันอยู่เรารอด” หรือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” 

ระยะห่างทางสังคมจึงส่งผลทั้งในเชิงผลักดันให้ย้ายถิ่นกลับดังกล่าวข้างต้น ในขณะเดียวกันระยะห่างทางสังคมก็กลับทำให้สมาชิกหลายคนในหลายครอบครัวยังคงติดค้างต้องพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครต่อไปทั้งในรูปแบบของการอยู่คนเดียว อยู่กับคู่ หรืออยู่กับคนอื่น ๆ ผลกระทบจากมาตรการระยะห่างทางสังคมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้คนที่ย้ายถิ่นข้ามพรมแดนที่ต้องรักษาระยะห่างจากครอบครัว แต่กลับพบว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่กับครอบครัวอยู่แล้วไม่ต้องกลับภูมิลำเนาก็กำลังเผชิญกับความเปราะบางที่ไม่ใช่เพราะระยะห่างทางสังคมที่ทำให้เกิดความห่างไกลเชิงกายภาพ แต่กลายเป็นความเหินห่างทางจิตวิทยาสังคมที่อาจทำลายระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดจากเหตุปัจจัยของความระแวงหวาดกลัว รวมไปถึงสุขลักษณะนิสัยส่วนบุคคลของคนใกล้ชิด กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการอยู่ร่วมกันในระยะสนิทสนมและระยะส่วนตัว  

“ระยะห่างทางสังคม” เป็นหนึ่งในระบบนิเวศวิทยาทางสังคมของการอยู่ร่วมกันด้วยปฏิสัมพันธ์แบบห่าง ๆ ของสมาชิกในสังคมที่เป็นคนแปลกหน้า (Stranger) ไม่รู้จักกัน และมีความสัมพันธ์แบบหลวม ๆ4 ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้ เช่น การนั่งห่างกันในระบบขนส่งสาธารณะ การจำกัดคนเข้าในร้านสะดวกซื้อ และการไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม จนก่อให้เกิดความระแวง วิตกกังวล และหวาดกลัวว่าจะติดเชื้อจากคนแปลกหน้าเหล่านี้หรือไม่ มิตรภาพและสัมพันธภาพระหว่างผู้คนในสังคมจึงอ่อนกำลังลง และมิติความสัมพันธ์ในลักษณะห่างเหินเช่นนี้ค่อย ๆ รุกล้ำเข้ามาใน “ระยะสนิทสนม” ของคนที่ใกล้ชิดกันในชีวิตของการทำงาน ในหมู่บ้าน หรือชุมชน กลายเป็นต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพของการสื่อสาร และการใช้ชีวิตร่วมกันทั้ง ๆ ที่ต้องพบปะแลกเปลี่ยนเป็นประจำสม่ำเสมอมาโดยตลอด แต่ต้องปลีกตัวถอยห่างออกจากกัน ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลายระยะห่างของความสัมพันธ์ที่มากขึ้นก็จะล่วงเลยเข้ามาใน “ระยะส่วนตัว” หรือพื้นที่ส่วนตัวกับคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น ครอบครัว และคู่รักที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้น มีอาณาเขตเพียงหนึ่งช่วงแขนของการโอบกอด และถือเป็นระยะห่างที่น้อยที่สุดและรู้สึกปลอดภัยที่สุด เพราะมีแต่ตัวเราเอง และ “คนใกล้ชิด” ที่เรายินยอมให้เข้ามาในระยะนี้ได้ จึงต้องเผชิญกับความเปราะบาง ทั้งในลักษณะความเป็นคนอื่นคนไกลทั้ง ๆ ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน และอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นความไม่เข้าใจกันจนอาจเป็นความเปราะบางหรือเป็นปัญหาครอบครัวในที่สุด เช่น การใช้ความรุนแรง และการหย่าร้าง เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบในระดับบุคคลและครอบครัวในระยะยาว   

ทางออกของสถานการณ์ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนยังต้อง “รักษาระยะห่าง” ทางสังคมเพื่อป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมืองในยามคับขันที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการ “ดูแลระยะใจ” ของทุกคนในครอบครัว ให้เป็นระยะส่วนตัวที่ไม่เหินห่างกัน มีสายใยแห่งสัมพันธภาพที่เหนี่ยวแน่น และเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วยวิธีเหล่านี้ 

  • การเพิ่มระยะเวลาคุณภาพของความใกล้ชิด 
  • ดูแลอารมณ์จิตใจและสุขภาพของกันและกัน 
  • ปรับใช้เทคโนโลยีสื่อสารในสังคมออนไลน์ให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันให้มากขึ้น 

และควรขยายการ “ดูแลระยะใจ” ให้ครอบคลุมไปถึงเพื่อนร่วมงาน ญาติสนิท มิตรสหาย ให้เป็นระยะสนิทสนมเหมือนเช่นเดิม และควรส่งต่อการ “ดูแลระยะใจ” ด้วยการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน แบ่งปันความสุข และปรับทุกข์เรื่องเศร้าให้กับผู้คนในสังคมที่แม้ว่าจะแปลกหน้าหรือไม่รู้จักกันก็ตาม ด้วยการปรับใช้สังคมออนไลน์และเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพลิกวิกฤติของโควิด-19 ให้กลายเป็นโอกาสของการอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก สมานสามัคคี และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  

สงกรานต์ปี 2563 นี้ประเทศไทยคงไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา แต่ก็ขอให้ยังคงใช้โอกาสในช่วงนี้ถักทอสัมพันธภาพของสมาชิกในครอบครัวให้เหนียวแน่นขึ้นเหมือนเดิมในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และร่วมกันฝ่าวิกฤติการณ์นี้อย่างมีสติไปด้วยกัน


เอกสารอ้างอิง

1. WHO. 2020. WHO Director-General’s opening remarks at the media briefing on COVID-19 11 
March 2020, https://www.who.int/dg/speeches/detail/who-director-general-s-opening-remarks-at-the-media-briefing-on-covid-19—11-march-2020

2. Johns Hopkins Coronavirus Resource Center https://coronavirus.jhu.edu/map.html

3. คาสปาร์ค พีค วาสนา อิ่มเอม และรัตนาภรณ์ ตังธนเศรษฐ์. 2558. รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 
2558 โฉมหน้าครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน. กรุงเทพมหานคร.

4. Philip J. Ethington. 2019.The Intellectual Construction of "Social Distance": Toward a 
Recovery of Georg Simmel’s Social Geometry. Cybergeo: European Journal of Geography [Online], Epistemology, History, Teaching, document 30, Online since 16 September 1997, connection on 02 May 2019. URL: http:// journals.openedition.org/cybergeo/227; DOI : 10.4000/cybergeo.227
 


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th