The Prachakorn

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงนโยบายเราไม่ทิ้งกัน : เงินเยียวยา 5,000 กับกลุ่มเปราะบางทางสังคม


ณัฐพร นิลวัตถา

14 เมษายน 2563
908



สถานการณ์ COVID-19 ในตอนนี้ คือประเด็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ในไทยเราก็เช่นกัน จากการที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มมากขึ้น อันเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ คนทุกเพศทุกวัย ในทุกๆ กลุ่มอาชีพ รวมไปถึงกลุ่มคนที่ไม่มีอาชีพ ต่างได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการออกนโยบายเพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การให้เงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์นี้ได้ผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หรือหากไม่สะดวกสามารถลงทะเบียนที่ธนาคารได้ แต่รัฐฯ ไม่แนะนำให้ใช้ช่องทางนี้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้ได้รับสิทธิ์การเยียวยาจากรัฐบาล การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ลงทะเบียนจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ นั่นคือ โทรศัพท์มือถือ ในรูปแบบ Smartphone หรือคอมพิวเตอร์ จึงจะสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์นี้ได้ แน่นอนว่าผู้ที่อ่านบทความนี้อยู่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ ทุกคนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ใช้ทำงานและเพื่อความบันเทิงหรือผ่อนคลาย นอกจากนี้ ปัจจุบัน การรับรู้ข่าวสารต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็สามารถรับรู้ได้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารจะกลายเป็นเรื่องปกติของคนในยุคปัจจุบัน ทว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังคงมีอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ ในโลกที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าล้ำสมัยมากมาย การเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีก็สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายเพียงใช้ปลายนิ้ว แต่ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้ใช้หรือรู้จักเทคโนโลยีใดๆ เพราะความยากจนเป็นเหตุ จึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการได้รับสิทธิ์และสวัสดิการจากภาครัฐที่ให้สิทธิ์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น สิทธิ์ของการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทนี้

ภาพจาก https://www.posttoday.com/social/local/308697?fbclid=IwAR3jCPOrU_i0h0n-s1c-IAGDan1WSb0jEcvRxlNfWH0QKPF-Dp1b_CshDBc

ในขณะที่ประชาชนที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐฯ กำหนด มีสิทธิ์โดยชอบที่จะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว ทว่า สิทธิ์นี้กลับเข้าไม่ถึงกลุ่มเปราะบางทางสังคม ซึ่งในที่นี้หมายถึง กลุ่มคนที่ไร้อาชีพ ยากจน ไม่มีรายได้ ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีครอบครัว กระทั่งเงินกินข้าวยังหายาก คงไม่ต้องพูดถึงโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต บางคนไม่มีแม้แต่บัญชีธนาคารที่จะใช้เบิกรับเงินเยียวยานี้ได้ พวกเขาเหล่านี้จึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการที่รัฐฯ มีให้อย่างที่ควรจะได้รับ เพียงเพราะพวกเขาขาดเทคโนโลยีสารสนเทศหรือโทรศัพท์มือถือที่ทุกคนมีอยู่ใกล้ตัวและมองข้ามไป กลุ่มเปราะบางทางสังคมนี้ ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่จะใช้ติดต่อสื่อสารหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าพ่วงความสูงอายุเข้าไปด้วย ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้ข่าวสารและการได้รับสิทธิ์ที่พึงมี บางคนอาจมีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต แต่ไม่มีความรู้ในการใช้เพียงพอที่จะเข้าไปในระบบลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ต่างๆ จึงทำได้เพียงแต่ขอร้องให้บุคคลในครอบครัว ญาติ ลูกหลาน เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จักกัน ช่วยลงทะเบียนให้ บางคนโชคดีที่มีคนรู้จักช่วยเหลือ แต่บางคนไม่โชคดีเช่นนั้น 


Photo by Denniz Futalan from Pexels

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากยายของตนเอง ยายของผู้เขียน อายุ 74 ปี อาศัยอยู่คนเดียวที่ต่างจังหวัด ในขณะที่ลูกหลานย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในกทม.กันหมด ยายไม่มีอาชีพ แต่อยู่ในกลุ่มแม่บ้านชุมชน ส่วนรายได้หลักนั้นมาจากเงินส่งกลับของลูกหลาน ยายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐฯ กำหนด ยายจึงมีสิทธิ์โดยชอบในการได้รับเงินเยียวยานี้ ยายรับรู้ข่าวการเยียวยาจากภาครัฐในครั้งนี้ ผ่านทางกลุ่มชุมชนที่ยายอาศัยอยู่ และเพื่อนบ้านของยายเป็นผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ให้ สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงความสำคัญของการมีผู้ดูแลที่อยู่ใกล้ตัวขึ้นมาทันที บางคนไม่มีลูกหลานอยู่ด้วย แต่ยังมีเพื่อนบ้านที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลสอดส่องความเป็นอยู่ให้กันในหมู่บ้านและชุมชนของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบชุมชนที่เข้มแข็งสามารถช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางสังคมลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย 

แม้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยาก หรือแทบจะมองไม่เห็นโอกาส แต่ภาครัฐ รวมไปถึงประชาชนทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเวลาที่เรามองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย ดังตัวอย่างสถานการณ์จากยายของผู้เขียนเอง ที่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้เพราะมีเพื่อนบ้านคอยดูแลช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเพื่อนบ้าน ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน หรือมีเหตุให้ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง ไร้คนคอยดูแลช่วยเหลือ พวกเขาเหล่านี้ยังคงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ที่พึงจะได้รับจากภาครัฐบทความนี้ผู้เขียนจึงตั้งใจชี้ให้เห็นว่า แม้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะยังคงมีอยู่ แต่การมีระบบชุมชนที่แข็งแรง การมีเพื่อนบ้านที่ดี การที่คนในชุมชนเดียวกันคอยช่วยเหลือ สอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเข้าไม่ถึงสิทธิ์และสวัสดิการต่างๆ ลงได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งเล็กน้อยนี้ กลับกลายเป็นส่วนสำคัญ ที่ชัดเจน และทำได้จริง นั่นคือการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้คนใกล้ตัว คนในชุมชนเดียวกัน คนรู้จักกัน คนที่เป็นญาติกัน ที่สำคัญที่สุด คือคนในครอบครัวเดียวกัน หากยังพอช่วยกันได้ ก็ช่วยเหลือกัน ก่อนที่จะเฝ้าคอยร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ใหญ่กว่า 

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า สังคมจะดีขึ้น หากทุกคนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดีในการช่วยเหลือกัน และการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จะสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ต่อไปในอนาคต

“เราไม่ทิ้งกัน”...หากเราไม่ช่วยกัน แล้วใครกันจะช่วยเรา?
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th