ประชากรสูงอายุเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 คุณหมอจึงแนะนำผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ “รักษาระยะห่าง” จากผู้สูงอายุไว้ เพื่อสุขภาพที่ดีของท่าน มาตรการนี้ฟังดูเข้าที ท่านจะได้ปลอดภัยจากไวรัสตัวร้ายนี้ แต่รู้ไหมว่า มันทำให้พวกท่านเหงาและโดดเดี่ยวเพียงใด เมื่อจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยที่ควรหาวิธีลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากลูกหลาน บทความนี้เพียงต้องการเสนอประสบการณ์ที่พวกเราต้องปรับตัว เพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก
ภาพโดย ผู้เขียน
กลางดึกคืนหนึ่งในช่วงเวลาของการประกาศใช้พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งไม่อนุญาตให้ออกจากบ้านระหว่าง 4 ทุ่มถึงตี 5 ผู้สูงอายุซึ่งเป็นที่รักของคนในครอบครัวมีเหตุจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด คุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อดูแลผู้ป่วย พวกเรารู้สึกขอบคุณสุดหัวใจที่ดูแลผู้เป็นที่รักของครอบครัวอย่างดีที่สุด นอกจากการรักษาอาการป่วยและกายภาพฟื้นฟูสุขภาพแล้ว มาตรการหนึ่งที่จะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยทุกคนในวอร์ดนั้น คือ การงดเยี่ยม ทุกกรณี ทุกเวลา ซึ่งหมายความว่า ญาติไม่สามารถมาพบหน้าผู้ป่วยเพื่อให้กำลังใจบุคคลผู้เป็นที่รักได้เลยตลอดการรักษา จนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ หรือ ได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลเพื่อเรียนรู้การดูแลอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น การที่ต้องทิ้งผู้สูงอายุวัยปลายคนหนึ่งไว้ที่โรงพยาบาลโดยที่ไม่ได้พบกันเลย เป็นช่วงเวลาทรมานหัวใจสมาชิกทุกคนในบ้านเป็นที่สุด
ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยสูงวัย ต้องอยู่คนเดียว โดดเดี่ยว ในห้องที่ดำเนินการรักษาตลอดเวลา ไม่สามารถเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปเพื่อติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกได้ หรือแม้จะอนุญาตให้เอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปได้ ท่านก็พูดไม่ได้เพราะอาการป่วยเส้นเลือดในสมองแตก (stroke) ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องพูดถึงการอ่านหนังสือหรือดูวิดีโอผ่านแท็บเลต เพราะกล้ามเนื้อมือไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ห้องรักษานั้นไม่มีทีวีเพื่อดูฆ่าเวลา อาจเพื่อให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม กรณีผู้สูงอายุท่านนี้เป็นผู้ป่วยที่ยังรับรู้ และมีสติ สัมปะชัญญะ ครบบริบูรณ์ แต่ต้องลืมตามองเห็นเพียงเพดานห้องรักษา และเพื่อนร่วมชะตาที่มีอาการไม่ต่างกันนัก เป็นอย่างนี้ตลอดวันหรืออย่างน้อยตอนที่ท่านตื่น และไม่รู้ว่าจะต้องนอนแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไร ลูกหลานจะคิดถึงตนบ้างไหม คงจะเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อ และสิ้นหวัง
ผู้ป่วยย่อมต้องการกำลังใจจากครอบครัวและผู้เป็นที่รัก เพื่อให้อดทน ต่อสู้ กับอาการและพร้อมรับการรักษา การอยู่ในห้องรักษากับบุคคลแปลกหน้าโดยไม่ได้พบญาติพี่น้องเลย ท่านจะทรมานเพียงใด ท่านจะต้องเข้มแข็งเพียงไหน ถึงจะผ่านช่วงเวลาโดดเดี่ยวเพื่อรับการรักษาทางกายให้ปกติมากพอที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านได้เอง
แม้ว่าพยาบาลจะให้ญาติผู้ป่วยสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามอาการได้ แต่พวกเราลังเลว่า เวลาไหนควรโทรไป และไม่กล้าจะโทรไปบ่อยนัก เพราะเข้าใจว่า บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักแค่ไหน เพียงแต่คิดว่า คงจะดีไม่น้อย ถ้าได้เห็นหน้าผู้เป็นที่รักผ่านวิดีโอคอล (video call) และคงจะเป็นการเพิ่มพลังใจของผู้ป่วยสูงวัยไม่ให้เหงานัก เมื่อต้องต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยโดยลำพัง
การงดเยี่ยม เพื่อรักษาระยะห่างทางกาย (physical distancing) นั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่เข้าใจได้ แต่กำลังใจผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้จะกอดหรือจับมือให้กำลังใจไม่ได้ ขอเพียงให้ได้เห็นหน้าบุคคลผู้เป็นที่รัก คงจะช่วยลดความกังวลของญาติ และเติมกำลังให้หัวใจผู้ป่วยสูงวัยได้ เพราะ care from home หรือการดูแลหรือเฝ้าติดตามระยะไกลที่ไม่เห็นหน้า หรือ ไม่ได้ยินเสียงกันเลยนั้น สร้างความเจ็บปวดให้ครอบครัวและคนใกล้ชิด จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ
หากการงดเยี่ยมจะเป็นเรื่องปกติใหม่ (new normal) คงจะมีเพียงบริการผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่จะทำให้รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น แม้แต่จากในห้องผู้ป่วย การเซิร์ฟมื้ออาหาร (ผ่านสายท่ออาหาร) ก็เพื่อเติมพลังกายให้ผู้ป่วย การเซิร์ฟวิดีโอคอลเพียงสักวันละครั้งอย่างเป็นปกติ โดยไม่ต้องโทรศัพท์ไปรบกวนเจ้าหน้าที่ คงเหมือนกับการเติมพลังใจให้ผู้ป่วยและญาติก้าวผ่านช่วงเวลายาก ๆ แบบนี้ไปได้ด้วยกัน แม้จะอยู่ห่างกัน
ผู้เขียนชื่นชมในความเสียสละและขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน และหากสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นภาวะปกติใหม่ในสังคม ก็หวังเพียงจะได้เห็นบริการทางสังคมเพื่อชดเชยการสูญเสียความใกล้ชิด ด้วยเทคโนโลยีที่พอจะเอื้ออำนวยให้ติดต่อสื่อสารกันได้ เพื่อรักษาระยะห่างทางกาย แต่ยังคงใกล้ชิดทางใจ เพราะ “Work from home ไม่เหงา..เท่า Care from home”