The Prachakorn

จดหมายจากแรงงานไกลบ้าน Work (Far) From Home (WFH) 


ธีรนงค์ สกุลศรี

29 เมษายน 2563
382



ในขณะที่หลายคนทำงานที่บ้าน ก็ยังมีอีกหลายคน “ทำงานไกลบ้าน” 

การทำงานไกลบ้าน หรือ Work Far Home นี้ ดูเหมือนจะดำเนินไปได้ดี จนกระทั่งหลายคนไม่ทันได้ตั้งรับกับผลจากการเกิดขึ้นของ “โรคไร้พรมแดน”

ภาพวาด โดย ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
(อดีต) รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล

ในสถานการณ์นี้ หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องช่วยเหลือกลุ่มแรงงานไกลบ้าน ทั้งที่คนไทยเองก็เดือดร้อน...

เพื่อให้ภาพนี้ชัดเจนขึ้น อยากให้ผู้อ่านลองจินตนาการนึกย้อนเท่าที่สามารถจะจำความได้ว่าเรามีแรงงานกลุ่มนี้ เข้ามาผืนดินของเราตั้งแต่เมื่อไหร่

เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เกิดและหลายคนคงนึกไม่ออก เขียนมาถึงตรงนี้ก็แอบยิ้มและนึกตามว่าตอนนี้ตัวเองอายุเท่าไหร่กัน...ขอไม่เฉลยอายุแต่เอาเป็นว่า การเดินทางของแรงงานกลุ่มนี้ อาจจะย้อนไปได้กว่า 20 ปี หรือมากกว่าที่เพื่อนแรงงานหลายคนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย มาช่วยเป็นอีกหนึ่งและหลายแรงที่สร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้กับหลายครัวเรือนบนผืนแผ่นดินไทยตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของแรงงาน หลายคนอาจจะเริ่มต้นจากการเดินทางเข้ามาคนเดียว มากับเพื่อนมากับครอบครัว หรือมาเริ่มต้นสร้างครอบครัวที่นี่ หลายคู่เช่าห้องพักอยู่ด้วยกัน จนเริ่มมีลูกเล็ก กระทั่ง 6 ขวบ ก็จะส่งลูกกลับบ้านเพื่อเรียนหนังสือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับและระยะเวลาในการทำงาน ทำให้หลายครอบครัวต้องบอกลาลูกจากความไกล แม้จะเห็นหน้ากันได้ทุกวันผ่านระบบการสื่อสารที่ทันสมัยของทุกวันนี้ แต่กว่าจะได้กอดกันอีกทีก็อาจจะเมื่อเก็บเงินได้มากพอที่จะเดินทาง หรือหมดสัญญาของการทำงาน

ภาพถ่าย โดย ธีรนงค์ สกุลศรี

เงินที่ได้จากการทำงาน หักบางส่วนแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะถูกส่งกลับไปเพื่อเลี้ยงดูพ่อ แม่ ลูกหลานของตนเองให้เติบโต โดยไม่มีโอกาสได้เก็บออมและเตรียมความพร้อมว่าจะต้องใช้ในช่วงเวลาของการหยุดพักงานหรือรอเวลากลับบ้านหลังจากหลายกิจการหยุดพักชั่วคราวหรือปิดกิจการลง 

ในสถานการณ์แบบนี้ หลายท่านอาจจะนึกไม่ถึงว่าแรงงานกลุ่มนี้ เดือดร้อนอะไร

ผู้เขียนได้ข้อมูลจากกลุ่มเพื่อนเครือข่ายภาคประชาสังคมและกลุ่มนักวิชาการหลายคนที่ทำงานด้านแรงงาน หลายคนเล่าว่า ปัญหาของแรงงานขณะนี้ เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงกันในหลายกลุ่มของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาทำงานเป็นแรงงานเสริมในภาคบริการในประเภทงานที่คนไทยไม่ค่อยทำ ตั้งแต่กิจการขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น ในร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม แรงงานในกลุ่มภาคบริการเหล่านี้ หลายคนต้องหยุดงานด้วยผลกระทบจากโควิด-19 

แม้จะได้หยุดงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะความเจ็บป่วย แต่ค่าใช้จ่ายไม่หยุดตาม ผลกระทบจากโควิด-19 จึงเหมือนเป็นฝันร้ายซ้ำ ๆ ทุกคืนของกลุ่มแรงงานไกลบ้าน หลายคนจึงเริ่มประสบปัญหาเรื่องค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ และไม่มีเงินเพื่อส่งกลับไปดูแลลูกและครอบครัวที่อยู่ห่างไกล ในช่วงเวลานี้ อย่าว่าแต่ความมั่นคงมั่งคั่งที่ฝันถึง แค่ประคับประคองชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันในทุกวันนี้ก็ลำบากเต็มที เพราะโดยส่วนใหญ่แรงงานกลุ่มนี้ จะได้ค่าแรงประมาณวันละ 3-4 ร้อยบาท หากต้องหยุดงานหนึ่งเดือนหรือครึ่งเดือน นั่นหมายความว่ารายได้ที่จะได้รับในแต่ละวันแทบจะหายไปในพริบตา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากบางคนต้องพึ่งการกินอยู่ร่วมเจ้าของร้าน เมื่อกิจการนั้นปิดลงหรือหยุดชะงัก นั่นหมายถึงอาหารแต่ละมื้อที่เคยได้กินในแต่ละวัน ก็หายวับไปกับการหยุดงานในช่วงเวลานี้ด้วย 

จากการได้ติดตามการช่วยเหลือและหาทางออกของหลายเครือข่าย สำหรับกลุ่มแรงงานที่มีประกันสังคมการดำเนินการที่สำคัญในขณะนี้ คือ การทำให้แรงงานไกลบ้านเหล่านั้นรู้ถึงสิทธิที่พึงจะได้ เช่น เงินชดเชยระหว่างการหยุดงานชั่วคราว หรือเงินค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 600 บาท เป็นต้น สำหรับกลุ่มแรงงานที่ไม่มีประกันสังคม หลายคนช่วยกันลงขัน ลงมือ ลงชุมชน ทั้งให้ความรู้และให้ข้าวของเครื่องใช้ตามกำลังทรัพย์กำลังศรัทธาเท่าที่จะหาได้ เพื่อช่วยกันประคับประคองและบรรเทาสถานการณ์ในขณะนี้ให้ผ่านไปได้

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ใครจะนึกว่าโลกไร้พรมแดนที่สร้างความสะดวกสบาย จะนำโรคไร้พรมแดนที่ค่อย ๆ สร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยในแทบทุกอณูของสังคมที่ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย 

เราอาจจะไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเรียกร้องความเท่าเทียมในสถานการณ์ยากลำบากที่ทุกคนต้องร่วมกันเผชิญเพื่อเอาชีวิตรอด แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็คงทำให้เราเห็นสถานการณ์ในระดับหนึ่งว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสำหรับกลุ่มแรงงานเองก็คงเพิ่มความระมัดตัวเองมากยิ่งขึ้น หากต้องเดินทางหรือใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย 

เมื่อเขียนมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนอยากให้ทุกคนได้ฉุกคิด หรือหากมีโอกาส ก็ขอให้ช่วยดูแลกันตามกำลังทรัพย์ กำลังศรัทธา เพื่อให้พวกเราทุกคนผ่านวิกฤตที่ยากลำบากนี้ไปได้ เพราะเมื่อโรคหาย เพื่อนแรงงานไกลบ้านเหล่านี้จะได้ผนึกเป็นกำลังสำคัญที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับพวกเราต่อไปอีกครั้ง เพราะแม้มิอาจเท่า แต่เขาและเราก็สำคัญไม่ต่างกัน 

ภาพถ่าย โดย ธีรนงค์ สกุลศรี


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th