เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น บางคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางคนคิดว่าโรคนี้คงเหมือนไข้หวัดธรรมดา สามารถรักษาหายได้ แต่ “ความคิด” กับ “ความเป็นจริง” มักสวนทางกันเสมอ เพราะความเป็นจริงบอกว่าตัวเลขสถิติของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ทั้งในต่างประเทศ และประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทำให้ภาพความเป็นจริงอันน่ากลัวของโรคร้ายนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เมื่อการแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีแนวทาง หรือกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาเราจึงได้ยินคำว่า "Social Distancing" หรือ "การรักษาระยะห่างทางสังคม" กันจนคุ้นหู รวมถึงคำว่า “Work from home” หรือ “การทำงานจากที่บ้าน”
ภาพจาก https://pixabay.com/th
เมื่อมีโควิด-19 จึงมี Work from home
Work from Home เป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ เนื่องจากช่วยลดการเดินทางและการใช้บริการรถสาธารณะของคนทำงาน ลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ลดการพบปะพูดคุย และการประชุมแบบพบหน้า รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ในที่ทำงาน ฯลฯ
ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องของการทำงานที่มีการยืดหยุ่นเรื่องเวลา เช่น การสลับเวลาการทำงาน รวมถึง การ Work from home มาบ้างว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของการทำงานในองค์กรสมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างให้คนทำงานมีสมดุลชีวิตในการทำงาน หรือที่เรียกว่า Work life balance โดยมีแนวคิดว่าถ้าคนทำงานมีสมดุลชีวิตในการทำงานแล้ว จะส่งผลให้มีศักยภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงอย่างไร ที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดูไกลตัวผู้เขียนอยู่มาก หากประมาณกันแล้วคิดว่าชั่วชีวิตของการทำงานผู้เขียนไม่น่าจะได้พบเจอกับลักษณะการทำงานแบบนี้
มาลองดูกันสักยก ! เจ้า Work from home
โควิด-19 ทำให้ผู้เขียนต้องเริ่มต้น Work from home ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 เวลาเดียวกับที่หลายหน่วยงานมีนโยบายให้บุคลากรทำงานจากที่บ้านได้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย และลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้เขียนทำงานจากที่บ้าน ในลักษณะเป็นบางเวลา คือใน 1 สัปดาห์ทำงานจากที่บ้าน 3 วัน และทำงานในที่ทำงาน 2 วัน
ภาพจาก https://pixabay.com/th
เมื่อรู้ว่าต้อง Work from home อย่างไม่ทันตั้งตัว ผู้เขียนรู้สึกวิตกกังวลว่าจะทำได้หรือเปล่า ต้องจัดสรรเวลาในการทำงานอย่างไร จะติดต่อประสานงานกับคนอื่น ๆ ในหน่วยงานได้อย่างไร แต่พอรู้ว่าหน่วยงานหลายแห่งต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบนี้เช่นกัน ผู้เขียนจึงพยายามปรับความคิดความรู้สึกเสียใหม่ เมื่อต้องทำงานแบบ Work from home กันจริง ๆ แล้ว จะมีอะไรดีไปกว่าการทำใจให้ยอมรับและเรียนรู้กันไป โดยบอกกับตัวเองว่าเราต้องทำได้ ต้องผ่านไปให้ได้ คิดได้ดังนั้นแล้วก็มาเลย..มาลองดูกันสักยก! เจ้า Work from home
สุขอย่างไรเมื่อต้อง Work from home
เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผู้เขียนก็สามารถปรับตัวและเริ่มชินกับการ Work from home จึงเกิดคำถามในใจว่าจริง ๆ แล้ว Work from home ก็ทำให้ผู้เขียนมีทั้งความสุขและไม่มีความสุขในเวลาเดียวกัน นึกย้อนไปถึงว่าในแต่ละปี หน่วยงานที่ผู้เขียนทำงานอยู่จะให้บุคลากรร่วมตอบแบบสำรวจวัดความสุขด้วยตนเองเป็นประจำ ซึ่งในการวัดนั้นแบ่งความสุขออกเป็นด้านต่าง ๆ จึงได้ลองเปรียบเทียบดูว่าเมื่อต้อง Work from home แล้ว ผู้เขียนยังมีความสุข หรือ เริ่มไม่มีความสุขด้านไหนบ้าง
ด้านครอบครัว : หากไม่มี Work from home ผู้เขียนคงไม่มีโอกาสได้อยู่กับครอบครัวอย่างใกล้ชิด ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำกับข้าว ออกกำลังกาย ปลูกผัก ดูซีรีส์กับลูก ฯลฯ และที่สำคัญคือคงไม่ได้พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวได้มากขนาดนี้
ด้านการเงิน : Work from home ช่วยลดรายจ่ายประจำวันได้ดีทีเดียว ที่เห็นชัด ๆ ก็คือไม่ต้องเสียค่าน้ำมันขับรถไปทำงานเช้าเย็น ซึ่งบางวันอาจแถมเพิ่มรอบกลางวันเพื่อไปหาอาหารกลางวันกินกับเพื่อนอีกด้วย ไม่มีงานสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ไม่ต้องใช้เครื่องสำอาง ไม่ต้องเข้าร้านเสริมสวย ไม่ต้องไปนวดตัวเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้า ฯลฯ
ด้านร่างกาย : สุขภาพของผู้เขียนต้องดีขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะ Work from home ทำให้ผู้เขียนได้ปรุงอาหารเองทุกมื้อ ด้วยวัตถุดิบเท่าที่มีในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผักที่ปลูกเอง เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา ไข่ ฯลฯ (เท่าที่หาซื้อมาเก็บไว้ได้) จึงเป็นมื้ออาหารที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง การกินอาหารก็ตรงเวลา ที่สำคัญคือ กินครบทุกมื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า
นอกจากนี้ช่วงระหว่าง Work from home ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้ออกกำลังกายมากขึ้นกว่าเดิม โดยเพิ่มเวลาการออกกำลังกายทั้งช่วงเช้าและเย็น ด้วยการวิ่งและเต้นแอโรบิคภายในบ้าน
ด้านความรู้และทักษะ : ผู้เขียนเป็นคนทำงานที่ไม่ได้อยู่ใน Gen ที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ แต่ Work from home ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้เทคโนโลยีสื่อสารใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นหลายอย่าง ได้ฝึกใช้แอพพลิเคชั่นการประชุมออนไลน์ในการทำงาน ได้ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างคุ้มค่ามากขึ้น เพราะได้ใช้ function อื่นๆ ของโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้น ได้ใช้ Line เพื่อการทำงานมากขึ้นจากเดิมที่ใช้คุยเล่นสนุกสนานเฮฮากับเพื่อนฝูง ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะให้กับผู้เขียนได้มากจริงๆ
ภาพจาก https://pixabay.com/th
ด้านจิตใจ : ช่วงของการ Work from home ทำให้ผู้เขียนมีเวลาเวลาดูแลจิตใจตัวเอง โดยการฝึกนั่งสมาธิ และฟังธรรมะเพิ่มมากขึ้น ได้มองเห็นสัจธรรมของชีวิตมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนมองเห็นและเข้าใจถึงความเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่ต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำหน้าที่รักษาดูแลผู้ป่วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำงานตามบทบาทหน้าที่ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ต้องถือว่าเป็นผู้เสียสละอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้
ด้านการผ่อนคลาย : Work from home ทำให้ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตแบบ Slow life ไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ได้ผ่อนคลายจากความเครียด ทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น ควรต้องมีการผ่อนคลาย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป
(ไม่) สุขอย่างไรเมื่อต้อง Work from home
แม้ Work from home จะมีส่วนช่วยสร้างความสุขให้กับผู้เขียนในหลายด้าน แต่ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็รู้สึกว่า Work from home มีส่วนที่ทำให้ไม่มีความสุขด้วยเช่นกัน
ด้านสังคม : การทำงานแบบ Work from home ทำให้ความสุขด้านนี้ของผู้เขียนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด การนั่งทำงานคนเดียวอยู่ที่บ้านอย่างเงียบเหงา การประชุมที่เป็นการประชุมระบบออนไลน์ ที่เห็นหน้าเห็นตากันผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ได้ยินเสียงกันผ่านทางลำโพง เมื่อมีโอกาสได้เจอเพื่อน ๆ ในที่ทำงานบ้างก็ได้แค่คุยทักทายกันเล็กน้อย ยืนกันอยู่ห่าง ๆ พูดคุยกันผ่านหน้ากากอนามัยที่แทบจะฟังไม่ค่อยได้ยินกินข้าวกลางวันก็ต้องแยกกันกิน ทำให้ทุกคนดูคล้ายเป็นคนแปลกหน้ากันไปหมด ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตากันนั้น ดีกว่าการพูดคุยกันผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตากัน ทำให้สามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกและความเข้าใจกันมากกว่า
ภาพจาก https://www.healthyspaceforum.org
ให้เลือกระหว่างสุข และ (ไม่) สุขเมื่อ Work from home
แม้ว่าการ Work from home ของผู้เขียนดูจะ “สุข” มากกว่า “ไม่สุข” แต่หากให้เลือกแล้วผู้เขียนก็ขอยกมือเลือกที่จะไม่ Work from home มากกว่า เพราะผู้เขียนยังอยากที่จะมี “บรรยากาศ” ของการทำงานในที่ทำงานมากกว่า “บรรยากาศ” ของการทำงานจากที่บ้าน
ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ดูจะผ่อนคลายลงบ้างแล้ว จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดน้อยลง แต่ก็ยังไม่น่าวางใจ เพราะมีตัวอย่างจากบางประเทศที่มีการกลับมาแพร่ระบาดของโรคนี้อีกเป็นระลอก 2 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ว่า Work from home ในประเทศไทยก็ยังคงต้องมีต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง
ผู้เขียนจึงอยากวิงวอนว่า “... เมื่อมากันไวแล้วก็ควรจะไปกันไว ๆ นะเจ้าโควิด-19 ...”