The Prachakorn

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


วรชัย ทองไทย

09 เมษายน 2561
353



ระชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC: ASEAN Economic Community) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) ที่จัดตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและร่วมมือ ในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ องค์ความรู้ สังคม และวัฒนธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก

ต่อมาได้มีประเทศเข้าร่วมเพิ่มเติม คือ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ตามลำดับ รวมเป็น 10 ประเทศ และมีมติยอมรับกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ในปี พ.ศ. 2551

คำขวัญอาเซียนคือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม (One Vision, One Identity, One Community)

สัญลักษณ์อาเซียนคือ รูปรวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น มัดรวมกัน บนพื้นสีแดง ล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน มีคำว่า “asean” สีน้ำเงิน อยู่ใต้ภาพรวงข้าว หมายถึงประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ รวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (รูป 1)

รูป 1

ส่วนธงชาติประจำอาเซียน มีรูปสัญลักษณ์อาเซียน บนพื้นสีน้ำเงิน (รูป 2)

รูป 2

อาเซียนแบ่งย่อยออกเป็น 3 ประชาคม คือ 1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASC: ASEAN Security Community) 2. ประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC: ASEAN Socio-Cultural Community) และ 3. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ต้นแบบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ สหภาพยุโรป (EU: European Union) ซึ่งเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 28 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป

สหภาพยุโรป ดำเนินการผ่านระบบองค์การอิสระเหนือชาติ อันประกอบด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรีสหภาพยุโรป สภายุโรป ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป พลเมืองสหภาพยุโรปเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปทุกห้าปี

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีการสถาปนาคณะผู้แทนทางทูตถาวรทั่วโลก และมีผู้แทนของสหภาพยุโรปที่สหประชาชาติ

สหภาพยุโรปไม่มีสัญลักษณ์ มีแต่ธงชาติ เป็นรูปดวงดาวสีทอง 12 ดวง ล้อมเป็นวงบนพื้นสีน้ำเงิน (รูป 3) อันแสดงถึงความเป็นเอกภาพ ความสามัคคี และความกลมเกลียว ของประชาชนยุโรป

 

รูป 3

คำขวัญของสหภาพยุโรป คือ รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ความหลากหลาย (unity in diversity)

อย่างไรก็ตาม ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังไม่คิดไกลไปถึงการรวมตัวทางการเมือง เพียงแต่จะรวมตัวทางเศรษฐกิจเท่านั้น โดยมีเป้าหมาย คือ 1. เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน 2. สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ 3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และ4. บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยได้กำหนดการตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2558

จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์เหล่านี้ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจทุนนิยมทั้งสิ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลปฏิญานว่าจะยึดถือเป็นนโยบาย

การเร่งรีบที่จะทำให้บรรลุผล โดยไม่มีการศึกษาถึงผลดี-ผลเสียอย่างรอบคอบ ย่อมจะส่งผลทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตอีกครั้งหนึ่งได้

พันธกิจหนึ่งที่ไม่น่าจะทำ คือ การเปลี่ยนเวลาปิดเทอม-เปิดเทอม เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาทั้งอาเซียนมีเวลาเรียนเท่ากันและเหมือนกัน แต่แทนที่จะปรับตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และภูมิอากาศในแถบอาเซียน กลับไปเอารูปแบบของตะวันตกมาใช้

นั่นคือ ภาคเรียนที่ 1 ของเดิมเปิดเดือนมิถุนายน ะ ตุลาคม เปลี่ยนเป็นเปิดเดือนสิงหาคม ะ ธันวาคม เพื่อให้ปิดตรงกับเทศกาลวันหยุดคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนภาคเรียนที่ 2 ของเดิมเปิดเดือนพฤศจิกายน ะ มีนาคม ก็เปลี่ยนเป็นเปิดเดือนมกราคม ะ พฤษภาคมแทน ซึ่งช่วงปลายภาคและเวลาสอบ จะตรงกับฤดูร้อนพอดี

แต่พอประกาศไปแล้ว กลับทำไม่ได้ทั้งระบบ จึงเปลี่ยนได้แต่ระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ส่วนโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ยังคงใช้กำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม ทั้งนี้เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ ที่จะให้นักเรียนมีสมาธิเรียนหนังสือ ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว

ทางด้านสหภาพยุโรป ก็มีเรื่องที่ไม่น่าจะทำเหมือนกัน จึงทำให้ได้รับ รางวัลอีกโนเบล ในปีล่าสุดนี้

รางวัลอีกโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ของประเทศอิตาลี ที่เป็นผู้นำสหภาพยุโรป ในเรื่องการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการนับรวมรายได้จากการขายบริการทางเพศ ขายยาเสพติด ขนของหนีภาษี และกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายต่างๆ เข้าเป็นรายได้ประชาชาติ

รางวัลอีกโนเบล:  รางวัลสำหรับงานวิจัย  “ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด”


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th