The Prachakorn

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

08 มิถุนายน 2563
961



ในช่วงที่ผ่านมากับสถานการณ์โควิด-19 ผู้เขียนได้เห็นบทความและงานเขียนเชิงอภิปรายหลายชิ้น ส่วนใหญ่มาจากฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ในภูมิภาคยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งโดยนักวิชาการและผู้ที่ไม่ใช่นักวิชาการ เกี่ยวกับประเด็น “ความคุ้มค่า” หรือ “ความสมควร” ของการใช้มาตรการ lock down ปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อควบคุมสถานการณ์และลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและการเสียชีวิตของคนภายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนถึงระดับประเทศ ซึ่งในการเปรียบเทียบมักมีการพูดถึงการตีมูลค่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรักษาชีวิต (save life) ของคนในประเทศไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจาก โควิด-19 ว่า จะเป็นมูลค่าประมาณเท่าไร เพื่อนำค่ารวมทั้งหมดไปเปรียบเทียบกับประมาณการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ชีวิตคนเราสามารถถูกตีเป็นมูลค่า หรือตัวเงินได้จริงหรือ?

ความพยายามในการประเมินมูลค่าชีวิต (value of life) ของคนจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในทางเศรษฐศาสตร์ได้มีการพัฒนาแนวคิดและวิธีในการประเมินมูลค่าชีวิตของคนไว้หลายวิธี ซึ่งต่างก็มีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันไป หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจ คือ แนวคิด “มูลค่าชีวิตทางสถิติ” (value of statistical life: VSL) ซึ่งมีแนวทาง (approach) ในการประเมินมูลค่าชีวิตอยู่หลายแนวทาง แต่ที่เห็นบ่อยจะมีอยู่ 2-3 แนวทางดังนี้ หนึ่ง การประเมินจากความเต็มใจที่จะจ่าย (willingness to pay: WTP) ซึ่งสรุปแบบง่าย ๆ คือ การให้คนประเมินความเต็มใจที่จะจ่าย หรือสูญเสียรายได้เพื่อที่จะลดโอกาส หรือลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตของตนเองลง เช่น เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลงได้ 0.1% จะยินดีจ่ายหรือเสียเงินเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งหลักการนี้ จะมีระเบียบวิธีปลีกย่อยในการประเมินอยู่พอสมควร สอง การประเมินจากความแตกต่างของค่าตอบแทน (compensating differentials) ซึ่งมีพื้นฐานความคิดจากแนวคิดที่ว่า ระดับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนของแรงงานจะแปรผันตามระดับความเสี่ยง (risks) ของงานหรืออาชีพที่ทำ ซึ่งหากประมาณค่าสัมประสิทธิ์ (coefficient) ของความสัมพันธ์ระหว่างระดับค่าตอบแทนกับความเสี่ยงนี้ได้ ก็จะสามารถนำไปใช้เป็นส่วนกลับเพื่อประเมินว่า หากเป็นความเสี่ยงในระดับที่ทำให้เสียชีวิต ค่าตอบแทนที่ควรได้รับจะมีมูลค่าเป็นประมาณเท่าใด ซึ่งใช้เป็นมูลค่าชีวิตทางสถิติ (VSL) ได้ และสาม การประเมินจากมูลค่าปัจจุบันรวมของรายได้ตลอดช่วงชีวิต (lifetime earnings) ของประชากร ซึ่งทั้ง 3 หลักคิดข้างต้นที่ยกเป็นตัวอย่างนี้ ยังมีรายละเอียด ข้อจำกัด และข้อพึงระวังในการตีความที่ต้องศึกษาพอสมควร

มาถึงจุดนี้ ผู้เขียนจึงเกิดข้อสงสัยว่า ในประเทศไทยเราเคยมีการศึกษาบ้างหรือไม่ว่า ชีวิตคนไทยเรามีมูลค่าประมาณกี่บาท? ซึ่งจากที่ค้นหาเร็ว ๆ บนโลกออนไลน์ ก็พบว่า มีการศึกษาอยู่จำนวนหนึ่ง โดยล่าสุดเป็นการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2562 (Witvorapong & Komonpaisarn, 2019) ซึ่งใช้หลักการความแตกต่างของค่าตอบแทนในการประเมิน ร่วมกับข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร และประมาณการณ์ความเสี่ยงจากการทำงานที่วิเคราะห์จากฐานข้อมูลกองทุนเงินทดแทนของระบบประกันสังคมในช่วงปี 2555-2557 โดยพบว่า มูลค่าชีวิตทางสถิติของคนไทย (อายุ 15 ปีขึ้นไป) มีค่าเฉลี่ยประมาณ 37 ล้านบาท แต่ถ้าดูเป็นค่ามัธยฐาน (ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเหมาะสมกว่า) จะมีมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท (ตามค่าเงินในปี 2554) จากตรงนี้ หากคิดเล่น ๆ โดยเอาอายุคาดเฉลี่ยคนไทยที่ประมาณ 75 ปีไปหาร ก็จะได้มูลค่าชีวิตต่อปี ประมาณปีละ 2.7 แสนบาท (หากใช้ค่ามัธยฐาน) ฉะนั้น ถ้าสามารถช่วยชีวิตของคนอายุ 50 ปีไม่ให้เสียชีวิต ซึ่งคิดเร็ว ๆ คนคนนี้ก็อาจจะมีชีวิตต่อไปได้อีกประมาณ 25 ปี ซึ่งก็จะมีมูลค่าชีวิตที่รักษาไว้ได้ถึงประมาณ (25*2.7 แสน) 6.8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ เป็นเพียงการคิดแบบง่าย ๆ ของผู้เขียน การประเมินและคำนวณจริง ๆ ต้องมีหลักการและข้อกำหนดที่ชัดเจนเหมาะสมมากกว่านี้

ในท้ายสุดนี้ ผู้เขียนอยากบอกว่า ผู้เขียนไม่เชื่อว่า “ชีวิตของคน” สามารถตีเป็นมูลค่าหรือเปรียบเทียบกันในระดับ individual ปัจเจกได้ “life is priceless” แต่การพัฒนาแนวคิดและวิธีการในการประเมินมูลค่าชีวิตของคนก็มีประโยชน์ในการศึกษาหลายเรื่อง เช่น ในการประเมินเปรียบเทียบต้นทุน-ผลประโยชน์ของทางเลือกนโยบายต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร แต่ในการที่จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อเลือกว่า ประเทศควรจะเลือก save life ของคน หรือ save the economy ผู้เขียนคิดว่า เป็นโจทย์ที่ไม่ถูกเท่าไร เพราะทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ ล้วนเป็นสารัตถะปัจจัยที่สำคัญของชีวิตคน คงเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ โจทย์ที่ควรคิดมากกว่า คือ มาตรการที่เหมาะสมที่จะสามารถรักษาสมดุลของผลกระทบในทั้งสองเรื่องนี้ต่อคนในประเทศน่าจะเป็นอย่างไร... 

 
ภาพโดย: https://www.freepik.com/free-vector/global-coronavi.rus-lockdown-background-due-outbreak_7551027.htm#page=1&query=lock%20down&position=6


เอกสารอ้างอิง
Witvorapong, N., Komonpaisarn, T. (2019). The value of a statistical life in Thailand: evidence from the labour market. Journal of Consumer Policy. https://doi.org/10.1007/s10603-019-09431-2
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th