The Prachakorn

ปาฐกถา


วรชัย ทองไทย

11 เมษายน 2561
6,010



ปรับปรุงล่าสุด 17 มิถุนายน 2563

“ปาฐกถา” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง ถ้อยคําหรือเรื่องราวที่บรรยายในที่ชุมนุมชน หรือการบรรยายเรื่องราวในที่ชุมชน ซึ่งก็คือการพูดในที่สาธารณะ (public speaking) นั่นเอง ปาฐกถาในภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า lecture, speech หรือ talk ก็ได้

ปาฐกถามีองค์ประกอบสำคัญ 5 อย่าง คือ 1) ใครคือองค์ปาฐก 2) หัวข้อที่บรรยายชื่ออะไร 3) ผู้ฟังเป็นใคร 4) ใช้อะไรเป็นสื่อในการสื่อสาร และ 5) ผลลัพธ์คืออะไร

ปาฐกถาเป็นการพูดกับคนจำนวนมาก โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ฟังได้รับความรู้ หรือให้ผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจ หรือเพื่อชักชวนหรือโน้มน้าวผู้ฟังให้คล้อยตาม หรือเพียงเพื่อให้ความบันเทิงกับผู้ฟังก็ได้ ดังนั้น องค์ปาฐกที่เก่งนอกจากจะทำให้ผู้ฟังได้รับความรู้แล้ว ยังต้องสามารถที่จะเปลี่ยนทัศนะของผู้ฟังด้วย

เนื่องจากการแสดงปาฐกถามักจะจัดตามโรงแรม สโมสร สมาคม หรือบริษัทในช่วงเวลารับประทานอาหาร หรือจัดแทรกในระหว่างการประชุมหรือสัมมนา จึงทำให้ผู้ฟังมีจำนวนที่จำกัด แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบัน คือ วิดีโอและอินเตอร์เน็ต ทำให้ปาฐกถาสามารถแพร่หลายสู่สาธารณชนจำนวนมากได้ เช่น ปาฐกถาเท็ด (TED Talk)

เท็ดที่เป็นภาษาอังกฤษมาจากอักษรตัวแรกของคำว่า เทคโนโลยี การบันเทิง การออกแบบ (TED: Technology, Entertainment, Design) และเป็นชื่อของการประชุมประจำปี ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1984 ซึ่งครอบคลุมหัวข้อเทคโนโลยี การบันเทิง และการออกแบบ ต่อมาได้ขยายหัวข้อการประชุมออกไปในศาสตร์ทุกแขนง ได้แก่ วิทยาศาสตร์ ธุรกิจ ศิลปะ การเมือง รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจทั่วโลกในขณะนั้น

ส่วนปาฐกถาเท็ดคือ วิดีโอที่บันทึกการแสดงปาฐกถาที่ดีที่สุดในการประชุมเท็ด ซึ่งเริ่มเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ เมื่อปี ค.ศ. 2006 และได้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการประชุมเท็ดต่างๆ ขึ้น ได้แก่ TEDGlobal, TEDActive, TEDWomen, TEDYouth และ TEDx อันส่งผลให้มีปาฐกถาเท็ดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ปัจจุบัน มีปาฐกถาเท็ดกว่า 2,200 ชิ้น ในเว็บไซต์ และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 100 ภาษา

ปาฐกถาเท็ดมีกติกาว่า ความยาวของปาฐกถาต้องไม่เกิน 18 นาที เพราะเชื่อว่าเป็นเวลาที่พอเหมาะในการดึงความสนใจของผู้ฟัง ให้จดจ่ออยู่กับเนื้อหาของปาฐกถา อีกทั้งยังมีผลให้องค์ปาฐกที่เคยชินกับการพูดยาวถึง 45 นาที ต้องกลั่นกรองเนื้อหาให้เหลือแต่ใจความสำคัญ เพื่อให้อยู่ภายในเวลาที่กำหนดด้วย

ผู้มีชื่อเสียงที่เคยแสดงปาฐกถาเท็ด ได้แก่ Jimmy Carter, Bill Clinton, Michelle Obama, Steve Jobs, Bill Gates, Stephen Hawking, Madeleine Albright, Jane Fonda, Bono และมีชัย วีระไวทยะ (ผู้สนใจสามารถดูปาฐกถาเท็ดได้ที่ http://www.ted.com/talks)

ในพิธีแจกรางวัลอีกโนเบลก็มีปาฐกถาเช่นกัน ที่น่าสนใจคือ ปาฐกถายี่สิบสี่ทับเจ็ด (24/7 Lecture) โดยในแต่ละปีจะเชิญนักคิดที่มีตั้งแต่นักเรียนจนถึงศาสตราจารย์ ให้มาแสดงความคิดของตน ที่ผ่านมามีนักคิดซึ่งได้รับรางวัลโนเบล มาแสดงปาฐกถายี่สิบสี่ทับเจ็ดในหัวข้อต่างๆ เช่น ชีวิต โดย Jack Szostak, ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ โดย Eric Maskin, จักรวาล โดย Roy Glauber, เคมี โดย Dudley Herschbach, เศรษฐศาสตร์ โดย Paul Krugman, สสารมืด (dark matter) โดย Frank Wilczek, ชีวะเคมี โดย Rich Roberts และความซ้ำซาก โดย William Lipscomb (ดังรูป)

ปาฐกถายี่สิบสี่ทับเจ็ดโดยศาสตราจารย์ William Lipscomb (คนกลาง) ที่มีกรรมการกำกับเวลา
(ยืนด้านขวามืออมนกหวีด) และผู้ควบคุมเนื้อหา (ยืนด้านซ้ายมือถือธง) เฝ้าดูอยู่
ที่มา: https://www.improbable.com/ig-about/24-7/
สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2559

ปาฐกถายี่สิบสี่ทับเจ็ดเป็นการบรรยาย 2 ครั้ง ตามชื่อ คือ ยี่สิบสี่เป็นเวลาที่ใช้ในการบรรยายครั้งแรก โดยองค์ปาฐกต้องบรรยายเรื่องราวตามหัวข้อให้จบภายใน 24 วินาที และเจ็ดเป็นการสรุปด้วยภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้ โดยใช้คำเพียง 7 คำ (ผู้สนใจสามารถอ่านคำบรรยาย และเข้าชมปาฐกถายี่สิบสี่ทับเจ็ด ได้ที่เว็บไซต์ http://www.improbable.com/ig/24-7/)

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัย “ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด”


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “ปาฐกถา” ใน ประชากรและการพัฒนา 36(5) มิถุนายน - กรกฎาคม 2559:8 โดยแก้ไขที่ผิดและเพิ่มแหล่งที่มาของรูป

คำสำคัญ: ปาฐกถา องค์ปาฐก ปาฐกถาเท็ด TED Talk ปาฐกถายี่สิบสี่ทับเจ็ด 24/7 Lecture


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th