The Prachakorn

เคปทาวน์ ตอนที่ 2 จากบ้านสีลูกกวาดสู่ความคึกคักที่ท่าเรือ


รีนา ต๊ะดี

12 สิงหาคม 2563
438



ก่อนเดินทางถึงเคปทาวน์ ฉันได้หาข้อมูลและวางแผนการสำรวจเมืองให้ลงตัวกับตารางการประชุมมาแล้วคร่าว ๆ สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองอยู่ไม่ไกลจากหอประชุมมีอยู่หลายแห่ง ฉันเลือกหนึ่งแห่งก่อนที่สามารถเดินเท้าไปถึงได้ นั่นคือ Bo-Kaap หากมองดูผิวเผิน ย่านนี้ดึงดูดสายตาด้วยสีสันสดใสของอาคารบ้านเรือน ทั้งสีเขียว สีชมพู สีเหลือง สีส้ม ฯลฯ บนถนนที่ปูด้วยอิฐนั้น แท้จริงแล้วในอดีตบ้านเรือนเหล่านี้เคยเป็นบ้านเช่าของแรงงานทาสที่ถูกนำมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา เพื่อมาทำงานที่เคปทาวน์เมื่อสมัยปี 1760 โดยมีกฎให้ทาสีขาวได้เพียงสีเดียวเท่านั้น หลังจากมีการยกเลิกกฎและมีการอนุญาตให้แรงงานทาสสามารถซื้อและครอบครองบ้านเรือนได้ เจ้าของบ้านจึงเลือกทาบ้านด้วยสีสันสดใสเพื่อฉลองอิสรภาพ หลายครอบครัวตั้งรกรากและอาศัยอยู่ย่านนี้มาหลายรุ่นแล้ว และย่านนี้ยังมีความสำคัญเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย เนื่องจากมีมัสยิดมุสลิมแห่งแรกในแอฟริกาใต้ ฉันและเพื่อนเดินถ่ายรูปอาคารสีสันฉูดฉาดเหมือนลูกกวาดตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินอย่างเพลิดเพลิน 

หลังจากถ่ายรูปจนพอใจและเริ่มหิวแล้วเราได้เดินทางต่อไปที่ Victoria & Alfred Waterfront ซึ่งเป็นย่านร้านอาหารและศูนย์การค้าริมท่าเรือเพื่อหาของกิน นอกจากร้านอาหารแล้ว ยังมีสวนสาธารณะ และชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ The Cape Wheel  ซึ่งสามารถขึ้นไปชมวิวแบบ 360 องศาได้ ย่านนี้ผู้คนพลุกพล่านทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวเคปทาวน์ ต่างมาเดินเล่นชมวิวกันอย่างคึกคัก วิวด้านตะวันออกเป็นท่าจอดเรือและทะเล ด้านตะวันตกเป็นภูเขาโต๊ะ ฉันตัดสินใจตอนนั้นว่า ฉันคงได้มาเยือนที่นี่บ่อยเป็นแน่ระหว่างอยู่ที่เคปทาวน์ ร้านอาหารมากมายคงเป็นที่ที่ฉันฝากท้องไว้ได้ตลอดทริปนี้ จะได้กินข้าวดูวิวสวย ๆ และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาจากผู้คนที่มารวมตัวกัน ทริปนี้ฉันคงไม่เหงาแน่นอน 

 

บ้านสีลูกกวดย่าน Bo-Kaap และ V&A Waterfront
ภาพโดย: ผู้เขียน
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th