กระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล ชุมชน สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ โดยเฉพาะกับตัวบุคคล เรียกว่า การทำวิจัยในคน ซึ่งเมื่อต้องเกี่ยวพันกับบุคคล ผู้วิจัยจึงต้องตระหนักถึงจริยธรรมในการวิจัย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้ใด
ผู้วิจัยที่ทำการวิจัยในคนนั้นต้องคำนึงถึงเสมอว่ากำลังทำงานร่วมกับคน จึงต้องให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (respect for human dignity) ความเป็นส่วนตัว ผลที่จะตามมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงในมิติอื่น ๆ ไม่เพียงเฉพาะขณะที่ทำการวิจัย แต่ยังต้องมองถึงผลที่อาจตามมาในภายภาคหน้า ข้อมูลที่ผู้วิจัยได้จากบุคคลไม่ว่าจะมาจาการสัมภาษณ์ การสังเกตพฤติกรรม สภาพแวดล้อม ฯลฯ มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก บุคคลที่ถูกศึกษาวิจัยต้องยินยอมร่วมการวิจัยอย่างอิสระ ไม่ถูกบังคับขู่เข็ญหรือเข้าร่วมด้วยความเกรงใจ ต้องได้รับข้อมูลเบื้องต้นอย่างเพียงพอก่อนจะเข้าร่วมโครงการวิจัย และผู้วิจัยเองก็ต้องรักษาสิทธิของผู้ร่วมวิจัยอย่างเคร่งครัดเหล่านี้คือ จริยธรรมการวิจัยในคน ซึ่งเป็นหลักประพฤติปฏิบัติที่ดีที่นักวิจัยควรยึดถือเป็นแนวทางในการทำวิจัย
จริยธรรมการวิจัยในคนส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ (biomedical research) และการวิจัยทางระบาดวิทยา (epidemiological research) แต่การวิจัยทางสังคมศาสตร์ (social science research) ซึ่งหมายถึงการวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน หรือมิติต่าง ๆ ในชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของคน ที่แม้จะมีความเสี่ยงต่ำต่อร่างกายของผู้ร่วมวิจัย แต่อาจส่งผลกระทบในมิติอื่น ๆ ดังนั้นการวิจัยทางสังคมศาสตร์จึงมีความจำเป็นต้องยึดหลักเกณฑ์จริยธรรมการทำวิจัยในคนด้วยเช่นกัน
การวิจัยทางสังคมศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล ข้อมูลที่ได้ส่วนหนึ่งจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ให้ข้อมูลอาจไม่ต้องการให้เผยแพร่ต่อสาธารณะ ผู้วิจัยจึงมิควรละเลยต่อการให้ความสำคัญในการสอบถามความสมัครใจจากผู้ให้ข้อมูล โดยเฉพาะกรณีข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องการปกปิดเป็นความลับ เพราะหากรั่วไหลออกไปอาจส่งผลเสียหายแก่ผู้ให้ข้อมูล เช่น ทางร่างกาย สภาวะจิตใจ ผลทางด้านกฎหมาย ผลต่ออาชีพ ชื่อเสียง และรายได้ เป็นต้น ซึ่งหลักจริยธรรมการวิจัยในคนมีข้อควรคำนึงถึงอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การเคารพในบุคคล 2) มุ่งผลประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดอันตราย 3) หลักความยุติธรรม โดยในสามประเด็นหลักนี้ยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีก
หลักจริยธรรมการวิจัยในคนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น กฎนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Code of Ethic) เป็นหลักเกณฑ์จริยธรรมสำหรับการวิจัยในคน โดยเฉพาะการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ซึ่งใช้มนุษย์เป็นอาสาสมัคร ประเด็นหลักคือ มุ่งเน้นสิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของผู้ร่วมการทดลองหรือวิจัยเป็นสำคัญ แต่ยังขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน จึงเกิดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมมาเป็นระยะ อาทิ ปฏิญญาเฮลซิงกิ (Declaration of Helsinki) ซึ่งมีการแยกระหว่างการวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาและที่ไม่เกี่ยวกับการรักษา
นอกจากหลักเกณฑ์สากลเหล่านี้แล้ว สำหรับนักวิจัยในประเทศไทยยังต้องคำนึงถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบุคคล ล่าสุดมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 นักวิจัยจึงต้องศึกษาข้อมูลก่อนดำเนินการทำวิจัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการละเมิดพระราชบัญญัติดังกล่าว
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่สร้างความเสียหายและมีผลกระทบต่อโลกเป็นอย่างมาก มีประเด็นเร่งด่วนที่จะดำเนินการวิจัยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการหาสาเหตุ แนวทางรักษา การลดการแพร่ระบาด ผลกระทบที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการขอจริยธรรมก่อนการวิจัยในสถานการณ์เช่นนี้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับการวิจัยในสถานการณ์ปกติ แต่ที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นก็คือความรวดเร็วในกระบวนการขอจริยธรรมการวิจัย เพื่อให้การวิจัยมีคุณภาพ ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรม ทันกับเวลา และภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น มีการกำหนดจัดประชุมวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาโครงการที่ประสงค์จะดำเนินการวิจัยอันมีผล มาจากไวรัสโคโรน่า 2019 ให้สามารถดำเนินการวิจัยได้ทันเวลา และถูกต้องตามหลักจริยธรรม
ภาพโดย: https://www.treeofhopeassn.com/events/supervision-ethics
อ้างอิง