The Prachakorn

ความท้าทายของ “วิถีปกติใหม่” ต่อพฤติกรรมการเคลื่อนไหวในประชากร


นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

27 สิงหาคม 2563
703



 จากความร่วมแรงร่วมใจร่วมปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน การเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในที่ชุมชน และการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้บ่อยครั้ง เป็นต้น ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ดูจะบรรเทาเบาบางลง มีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่การคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังไม่ประสบผลสำเร็จ รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนคงยังกลับไปเป็นปกติเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ ดังนั้น ในระหว่างที่ชีวิตของพวกเรายังคาบเกี่ยวอยู่กับความเสี่ยงของโควิด-19 เราจึงต้องปรับชีวิตรับ “วิถีปกติใหม่” หรือ “New normal” กันต่อไป

ทว่า “วิถีปกติใหม่” ที่ช่วยป้องกันเราจากโรคติดต่อโควิด-19 อาจสร้างพฤติกรรมทางสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อได้ เนื่องจากการรักษาระยะห่างทางกายภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านหน้าจอแทนการพบปะในระยะประชิด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ การประชุมออนไลน์ การสั่ง-ซื้อ-ขายสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ หรือการพบปะสังสรรค์ออนไลน์ และด้วย “วิถีปกติใหม่” เหล่านี้นี่เองที่ทำให้การสื่อสารผ่านหน้าจอกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของใครหลาย ๆ คน เกิดเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมติดจอ ซึ่งนอกจากจะลดโอกาสการมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอในแต่ละวันแล้ว พฤติกรรมการติดจอยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงอีกด้วย

จากที่ทราบกันดีว่าการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและในระดับที่เหมาะสมเป็นเสมือนยาขนานเอกที่ช่วยดูแลรักษาร่างกายของคนเราให้แข็งแรงมีสุขภาพดี แต่ถ้าเรามีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือการนั่งนิ่ง ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น นั่งดูทีวี นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า พฤติกรรมหน้าจอ พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และมะเร็ง เป็นต้น (Biswas et al., 2015; Dunstan, Howard, Healy, & Owen, 2012; Owen, Healy, Matthews, & Dunstan, 2010; Wilmot et al., 2012) ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แอฟริกาใต้และประเทศไทย รวมไปถึงองค์การอนามัยโลก ได้พัฒนาข้อแนะนำหรือไกด์ไลน์การมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมในหนึ่งวันสำหรับกลุ่มวัยต่าง ๆ โดยรวมคำแนะนำสำหรับกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ เข้าไว้ในไกด์ไลน์เดียวกัน ซึ่งไกด์ไลน์ของประเทศไทยแนะนำว่าเด็กและวัยรุ่นไม่ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินวันละ 2 ชั่วโมง ส่วนผู้ใหญ่ควรให้เบรคพฤติกรรมเนือยนิ่งทุก ๆ 2 ชั่วโมง และทุก ๆ 1-2 ชั่วโมงในผู้สูงอายุ (Khamput et al., 2017)

เมื่อพิจารณาตัวอย่างคำแนะนำข้างต้น ต้องยอมรับว่าเป็นคำแนะนำที่ท้าทายมาก เพราะเดิมทีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชากรไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งนานถึงประมาณวันละ 13 ชั่วโมง (Institute for Population and Social Research, 2016) และเมื่อเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ทุกคนต้องช่วยกันหยุดอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อเพื่อชาติ หยุดกิจกรรมการพบปะผู้คนนอกเคหะสถาน ที่อาจส่งผลต่อการแพร่กระจายของโควิด-19 เกิดวิถีชีวิตติดจอต้องพึ่งพิงระบบออนไลน์หนักขึ้น ทำให้โอกาสการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงขึ้นไปอีก และเมื่อพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น โอกาสการมีกิจกรรมทางกายย่อมลดลงตามไปด้วย ซึ่งสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอของประชากรทั่วโลกค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่แล้ว มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จาก 168 ประเทศ มีกิจกรรมทางกายไม่ถึงเกณฑ์ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (Guthold, Stevens, Riley, & Bull, 2018)

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจยุติเมื่อมีการค้นพบวัคซีนป้องกัน แต่พฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่น้อยเกินไปยังคงส่งผลสะสมต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อในภายหลัง ซึ่งความรุนแรงของการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอน่ากลัวไม่แพ้โควิด-19 เลยทีเดียว เพราะการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอคร่าชีวิตผู้คน 5.3 ล้านคนต่อปี และเป็นสาเหตุอันดับ 4 ของการเสียชีวิตทั่วโลก (Lee et al., 2012) นี่จึงเป็นอีกหนึ่งข้อพึงระวังที่พ่วงมากับวิกฤตโควิด-19 ที่เราต้องร่วมด้วยช่วยกันไม่ให้ “วิถีปกติใหม่”เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อจากการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้นและกิจกรรมทางกายน้อยลง แต่เราจะต้องสร้าง “วิถีปกติใหม่ที่กระฉับกระเฉง” ที่แม้จะต้องรักษาระยะห่างจากกัน แต่เราก็จะหมั่นขยับร่างกาย ออกกำลัง และไม่นั่งอยู่กับที่นาน ๆ

ภาพโดย: https://www.coolemancourt.com.au/whats-on/inspiration/5-ways-to-keep-your-kids-active-at-home

อ้างอิง

  • Biswas, A., Oh, P. I., Faulkner, G. E., Bajaj, R. R., Silver, M. A., Mitchell, M. S., & Alter, D. A. (2015). Sedentary time and its association with risk for disease incidence, mortality, and hospitalization in adults: a systematic review and meta-analysis. Annals of internal medicine, 162(2), 123-132. 
  • Dunstan, D. W., Howard, B., Healy, G. N., & Owen, N. (2012). Too much sitting–a health hazard. Diabetes research and clinical practice, 97(3), 368-376.
  • Guthold, R., Stevens, G. A., Riley, L. M., & Bull, F. C. (2018). Worldwide trends in insufficientphysical activity from 2001 to 2016: a pooled analysis of 358 population-based surveys with 1.9 million participants. The Lancet Global Health, 6(10), e1077-e1086.
  • Institute for Population and Social Research. (2016). Final Report of ‘Monitoring and Surveillance of Physical Activity in the Thai Population (2012 - 2014)’ (รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย (2555 - 2557)). Nakhonpathom,Thailand: Institute for Population and Social Research, Mahidol University.
  • Khamput, T., Phuangkrampun, M., Sangsumritpol, W., Thongbo, T., Sianglee, S., & Kaeyai, T. (2017). Thailand Recommendations on Physical Activity, Non-Sedentary Lifestyles, and Sleeping (T. Topothai & O. Chandrasiri Eds. 1 ed.). Nonthaburi, Thailand: Division of Physical Activity and Health, Ministry of Public Health.
  • Lee, I.-M., Shiroma, E. J., Lobelo, F., Puska, P., Blair, S. N., Katzmarzyk, P. T., & Group, L. P. A.S. W. (2012). Effect of physical inactivity on major non-communicable diseases worldwide: ananalysis of burden of disease and life expectancy. The Lancet, 380(9838), 219-229. 
  • Owen, N., Healy, G. N., Matthews, C. E., & Dunstan, D. W. (2010). Too much sitting: the population-health science of sedentary behavior. Exercise and sport sciences reviews, 38(3), 105-113. 
  • Wilmot, E. G., Edwardson, C. L., Achana, F. A., Davies, M. J., Gorely, T., Gray, L. J., . . . Biddle,S. J. (2012). Sedentary time in adults and the association with diabetes, cardiovascular diseaseand death: systematic review and meta-analysis. Diabetologia, 2895-2905. 
     

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th