พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก
พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นภาพของกาลเวลาที่ วัน เดือน ปี ผ่านไปแต่ละวัน เริ่มต้นเมื่ออาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้ายามเช้า แล้วค่อยเคลื่อนคล้อยเป็นสาย เที่ยง บ่าย เย็น จนลับหายไปทางทิศตะวันตก กลายเป็นเวลาค่ำมืด ดึกดื่น จนเวียนมาเป็นรุ่งสางของเช้าวันใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้ วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า
ผมโชคดีที่บ้านอยู่ใกล้พุทธมณฑล ได้มีโอกาสไปเดินออกกำลังกายในมณฑลที่สงบร่มรื่นแห่งนี้แทบทุกวัน ผมออกเดินตอนเช้ามืดบ่อยครั้ง เมื่อยังไม่สว่างผมจะเดินรอบองค์ ?พระศรี- ศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์? องค์พระพุทธรูปปางลีลาหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ผมได้เห็นช่วงเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาจากคืนเป็นวันเมื่อฟ้าสาง เห็นแสงอาทิตย์ยามเช้าที่ส่องสาดความมืดให้จางลง มองไปทางกรุงเทพมหานคร ฟ้าค่อยสว่างขึ้นเรื่อยๆ แล้วแสงที่เริ่มจากทางทิศตะวันออกก็แผ่ซ่านครอบคลุมทั่วผืนฟ้าอย่างรวดเร็ว บริเวณพุทธมณฑลที่ผมเดินอยู่ก็สว่างขึ้น มองเห็นหน้าตาผู้คนที่มีกิจวัตรอย่างเดียวกัน คือมาเดินออกกำลังกายยามเช้า
ที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ยามรุ่งสาง พวกเราได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ฟังเสียงนกนานาชนิดที่เพิ่งตื่นรับแสงอาทิตย์ส่งเสียงร้องขานรับประสานกัน เสียงกระรอกร้องกร๊อกๆ อยู่ตามต้นไม้ เช้าวันใหม่ที่แสนสดชื่นได้เริ่มต้นขึ้นอีกวันหนึ่งแล้ว
?มีแต่คนแก่ๆ ทั้งนั้นเลย (ที่มาเดินออกกำลังกายกัน)?
วันหนึ่ง ขณะที่ผมเดินรอบพุทธมณฑลในตอนสาย มีผู้คนมาใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจมากมาย บ้างให้อาหารเลี้ยงปลาในสระน้ำใหญ่ บ้างนั่งเล่นใต้ร่มไม้ และบ้างเดินเล่นตามทางเดินภายในบริเวณ ขณะที่ผมเดินสวนทางกับแม่ลูกคู่หนึ่ง ผมได้ยินลูกสาวอายุราวสิบขวบต้นๆ พูดกับแม่ว่า ?มีแต่คนแก่ ๆ ทั้งนั้นเลยนะแม่? เธอคงหมายถึงผู้คนที่เธอเห็นมาเดินออกกำลังกายอยู่ในวันนั้นว่ามีแต่คนแก่ ผมได้ยินแล้วก็สะดุ้ง เพราะเธอพูดประโยคนี้ในจังหวะที่เดินสวนกับผมพอดี ?คนแก่ๆ? ที่เธอพูดถึงจึงเข้าตัวผมอย่างจัง ผมคงเป็นหนึ่งในบรรดา ?คนแก่ๆ ทั้งนั้น? ในสายตาของเธอ
ผมไม่แน่ใจว่าคนแก่ๆ ในสายตาของเด็กอายุสิบกว่าขวบนั้นจะหมายถึงคนอายุประมาณสักเท่าไร ลองคิดย้อนกลับไปดูสมัยเมื่อตัวเองยังเป็นเด็ก ผมก็รู้สึกว่าคนอายุ 40-50 ปี เป็นคนสูงวัยมากๆ แล้ว แม้จะยังไม่ถึงกับเป็นคนแก่ก็ตาม เมื่อเราเป็นเด็ก เราคงจะรู้สึกเหมือนกันว่า คนอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นคนแก่แล้วจริงๆ ยิ่งถ้าอายุ 70-80 ปี ก็มองว่าเป็นคนแก่มากๆ จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ?แก่หง่อม? ได้เลยทีเดียว
ความจริง ?ความแก่? คงไม่ได้อยู่ที่อายุเป็นจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่มาตั้งแต่เกิด ตอนผมเป็นเด็กนักเรียนมัธยม และเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็มีเพื่อนร่วมชั้นเรียนหลายคนที่หน้าแก่ บางคนถึงขนาดที่เพื่อนๆ ให้สมญาว่า ?ไอ้แก่? ทั้งๆ ที่อายุก็ไม่ต่างกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันมากนัก เพื่อนหน้าแก่ตั้งแต่เด็กเหล่านี้ พออายุมากขึ้น บางคนหน้ากลับอ่อนวัยกว่าคนอื่น จึงพอจะพูดได้ว่าความแก่เป็นลักษณะทางกายภาพไม่เกี่ยวกับจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่มา เด็กๆ ก็แก่ได้ ฝรั่งใช้คำว่า ?old? เพื่อหมายถึงแก่ หรือเก่า แต่เมื่อถามว่าคุณอายุเท่าไร กลับถามว่า ?How old are you ?? แปลเป็นไทยว่า ?คุณแก่เท่าไร? ทำไมไม่ถามว่า ?How young are you ?? ?คุณอ่อนเท่าไร? ก็ไม่รู้
เด็กหญิงที่พูดกับแม่ว่ามีแต่คนแก่ๆ มาเดินที่พุทธมณฑลนั้น อาจเป็นเพราะเธอเกือบจะไม่เห็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันกับเธอมาเดินเลยก็ได้ ถ้าเช่นนั้นก็คงเป็นจริงอย่างที่เธอเห็นว่ามีแต่คนแก่ๆ ในพื้นที่ที่ผู้คนมาเดินหรือวิ่งออกกำลังกายเช่นที่พุทธมณฑลนี้ เรามักไม่ค่อยเห็นเด็ก และวัยรุ่น การเดินดูเหมือนจะเป็นวิธีออกกำลังกายของผู้สูงอายุ หรือเป็นทางเลือกของคนที่มีน้ำหนักเกินแล้วต้องการลดน้ำหนัก เมื่อเป็นเด็กน้อย เธอจึงมองไปว่ามีแต่คนแก่ๆ มาเดินอยู่เท่านั้น
ผมเอาคำพูดของเด็กหญิงคนนั้นมาคิดดูอีกทีหนึ่ง ?มีแต่คนแก่ๆ ทั้งนั้น? คำพูดนี้ก็น่าจะใช้อธิบายสังคมไทยได้ดีทีเดียว การที่เราเห็นทารกและเด็กมีอยู่น้อยในสังคม ก็จะทำให้เราเห็นไปว่ามีแต่คนแก่ๆ
ชีวิตผมยาวนานพอที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมาบ้าง เพียงเมื่อราว 30 ปีก่อน ยังจำได้ว่าเวลาเข้าไปในหมู่บ้านชนบท เราจะได้ยินเสียงทารกร้อง ได้เห็นเด็กเล็กๆ วิ่งเล่น ต่างกับสมัยนี้ เวลาเข้าไปเดินในหมู่บ้านจะรู้สึกเงียบเหงา ไม่ค่อยได้ยินเสียงทารกร้องจากบ้านโน้นบ้านนี้เหมือนเมื่อก่อน สังเกตได้ชัดๆ ว่ามีเด็กเล็กๆ ในหมู่บ้านน้อยลง เราเห็นคนแก่ในหมู่บ้านมีมากขึ้น อาจเป็นเพราะคนแก่สมัยนี้มีสุขภาพดี อายุ 70-80 ปีแล้วก็ยังเดินเหินไปมาได้คล่องแคล่ว ออกมาเดิน มานั่งนอกบ้านได้ ดังนั้น ถ้าไปตามหมู่บ้านชนบทขณะนี้ก็เห็นจะต้องพูดว่า ?มีแต่คนแก่ๆ ทั้งนั้น?
คนแก่สมัยก่อนกับสมัยนี้อายุต่างกัน
ถ้าเราลองนึกถึงภาพคนแก่ในสังคมสมัยก่อน ก็คงพอจะมองเห็นว่าคนที่จะเรียกได้ว่าเป็นคนแก่ต่างยุคสมัยกันน่าจะมีวัยไม่เท่ากัน สังคมเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่อผู้คนยังอายุไม่ยืนยาวนัก ?อายุคาดเฉลี่ย? อาจจะอยู่ในราว 40 กว่าปีเท่านั้น เมื่อร้อยปีก่อนใครที่อายุถึง 40 ปี ก็ต้องนับว่าเป็นผู้สูงอายุ ถ้าอายุเกินจากนี้ไปเป็น 50-60 ปี ก็นับได้ว่าเป็นคนแก่แล้ว คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีไม่มากนัก อาจมีอยู่ไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมดด้วยซ้ำ สมัยก่อนคนที่เกิดมาในรุ่นปีเดียวกัน มีไม่ถึง 20% ที่จะรอดชีวิตอยู่จนมีอายุถึง 60 ปี แต่ก่อนผู้หญิงผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไปก็สามารถเป็นปู่ย่าตายายได้แล้ว อาจมีลูกหลานนับเป็นสิบๆ คน เพราะคนรุ่นก่อนแต่งงานกันเมื่ออายุยังน้อย และเมื่อแต่งงานแล้วก็มีลูกกันมาก จึงไม่แปลกที่คนอายุขึ้นถึงหลัก 50 ปีจะเรียกว่าเป็นคนแก่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
ข้อคิดสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เมื่อร้อยปีก่อน คนอายุ 50 ปี มี ?อายุคาดเฉลี่ยที่เหลืออยู่? อีกเพียงประมาณ 17 ปีเท่านั้น หมายความว่า เมื่อคนสมัยก่อนมีอายุ 50 ปีแล้ว ก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยเฉลี่ยอีกเพียง 17 ปี ถ้าเทียบกับคนสมัยปัจจุบันที่พอมีอายุ 50 ปี ก็คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยเฉลี่ยอีกนานกว่า 30 ปี นานกว่าคนเมื่อร้อยปีก่อนเป็นเท่าตัว
ดังนั้น ในขณะที่คนเมื่อร้อยปีก่อนพอมีอายุ 50 ปีก็เรียกได้ว่า ?แก่แล้ว? คนสมัยนี้ที่มีอายุ 50 ปีเท่ากัน ยังไม่น่าจะเรียกว่าเป็น ?คนแก่? เพราะอย่างน้อยก็จะมีชีวิตเหลืออยู่ยาวนานอีกกว่า 30 ปี
นิยามของผู้สูงอายุน่าจะดูที่อายุที่เหลืออยู่มากกว่าอายุจริง
ความก้าวหน้าทางการแพทย์สาธารณสุข สุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมได้ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น คนสมัยนี้ตายยากขึ้น การตายในวัยทารกได้ลดลงเป็นสิบเป็นร้อยเท่ากว่าเมื่อร้อยปีก่อน เพราะการดูแลครรภ์ การทำคลอด อนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกและเด็กได้พัฒนาก้าวหน้าและครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น โรคติดเชื้อต่างๆ ที่เคยระบาดและคร่าชีวิตคนคราวละมากๆ ได้ถูกขจัดให้หมดไป สุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ช่วยขจัดเชื้อโรคและพาหะนำโรคหลายชนิดให้ลดน้อยลงอย่างมาก ความก้าวหน้าทางการแพทย์และเวชศาสตร์ช่วยรักษาชีวิตมนุษย์จากความเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ ทำให้อัตราตายของประชากรลดน้อยลง
เดี๋ยวนี้ คนไม่ตายกันง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน ถ้าไม่หนักหนาสาหัสจริงๆ หรือไม่ใช่โรคหรือการบาดเจ็บที่ทำลายอวัยวะสำคัญจริงๆ ก็มีทางบำบัดรักษาแก้ไขให้ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ แม้บางครั้ง อวัยวะสำคัญของร่างกายบกพร่องเสียหาย หรือไม่ทำหน้าที่ก็มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะกันได้ ทั้งเอาของคนอื่นหรือใช้อวัยวะเทียมมาใส่แทนได้ ชีวิตคนสมัยนี้จึงยืนยาวขึ้นอย่างมาก
ปัจจุบัน ประเทศไทยนิยามผู้สูงอายุว่าหมายถึงบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คือเอาจำนวนปีของชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนถึง 60 ปีเป็นเกณฑ์ ถ้าเราคิดดูให้ดีๆ นิยามนี้ไม่น่าจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพัฒนาการเกี่ยวกับอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน คนไทยเกิดมาจนมีอายุ 60 ปี จะมีอายุยืนต่อไปโดยเฉลี่ยเพียง 13-14 ปีเท่านั้น แต่ปัจจุบันพอคนไทยอายุ 60 ปี ก็คาดว่าจะมีอายุที่เหลืออยู่อีกมากถึง 20 กว่าปี อายุคาดเฉลี่ยที่เหลืออยู่นี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ต่อไปอีกเพียงประมาณ 10 ปีข้างหน้าเมื่อคนไทยอายุ 60 ปีแล้ว ก็จะมีอายุคาดเฉลี่ยที่เหลืออยู่อีกถึง 25 ปี หรือมากกว่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะใช้อายุหรือจำนวนปีตั้งแต่เกิดมาจนถึง 60 ปีเป็นเกณฑ์จัดคนให้เป็นผู้สูงอายุ เราควรจะนำเอา ?จำนวนปีของชีวิตที่เหลืออยู่? มาใช้ประกอบการพิจารณาเรียกคนว่าเป็น ?ผู้สูงอายุ? จะดีกว่าไหม กล่าวคือ แทนที่จะกำหนดตายตัวลงไปว่าคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุ เรามาคิดกันใหม่ว่า คนจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปีจึงจะเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุ ถ้าสมมุติกำหนดให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่เหลืออยู่จนกว่าจะตายโดยเฉลี่ยประมาณ 15 ปี ผู้สูงอายุก็ควรหมายถึงบุคคลที่มีอายุ 67 ? 68 ปี ขึ้นไป ต่อไปในอนาคตเมื่อคนไทยอายุยืนยาวขึ้นอีกจนคนที่อายุ 70 ปีจึงจะมีชีวิตที่เหลืออยู่อีก 15 ปี เราก็ปรับนิยามผู้สูงอายุเป็นคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
ตอนนี้คนไทยก็มีอายุยืนยาวขึ้นอย่างมากแล้ว เราอาจขยับเกณฑ์ผู้สูงอายุที่เคยใช้ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งก็จะเหมือนกับเกณฑ์ที่นานาประเทศเขาใช้กันที่นิยามว่าผู้สูงอายุคือบุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนนิยาม ?ผู้สูงอายุ? จาก 60 ปีขยับขึ้นไปเป็น 65 ปี จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยก็จะลดลงทันทีประมาณ 2.5 ล้านคน และประชากรอายุ 60 ? 64 ปี ก็จะเข้าไปรวมอยู่กับส่วนที่เป็นแรงงาน ประชากรอายุ 60-64 ปีนี้อาจเป็นแรงงานที่ไม่ใช้กำลัง หากแต่ใช้สมอง ภูมิความรู้ และประสบการณ์เป็นหลัก ประชากรกลุ่มวัยนี้เมื่อยังไม่ถูกจัดให้เป็นผู้สูงอายุ ก็ยังไม่ต้องได้รับบำนาญเงินช่วยเหลือหรือสวัสดิการในฐานะผู้สูงอายุ รัฐก็อาจนำสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือในส่วนนี้ไปจ่ายเพิ่มให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ในส่วนตัว ผมยังอยากให้เปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุให้สูงไปถึง 70 ปีเสียด้วยซ้ำ เพราะอีกไม่นานคนอายุ 70 ปีก็จะมี ?ชีวิตที่เหลืออยู่โดยเฉลี่ย? อีกประมาณ 15 ปี เท่ากับชีวิตที่เหลืออยู่ของคนอายุ 50 ปีสมัยก่อน
ที่สำคัญ ถ้าเปลี่ยนเกณฑ์ผู้สูงอายุเป็น 70 ปีได้ ผมก็จะอยู่ในสถานภาพเป็นคนวัยกลางคนไปได้อีกหลายปีทีเดียว ไม่ต้องเที่ยวประกาศว่าเป็นผู้สูงอายุ ทั้งๆ ที่ใจยังไม่ยอมแก่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้