The Prachakorn

หญิงแกร่งบนเวทีการเมืองระดับประเทศ


อมรา สุนทรธาดา

11 ธันวาคม 2563
717



ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นไปตามที่ประชาคมโลกคาดหวัง โจ ไบเด็น (Joe Biden) อายุ 78 ปี ชนะการเลือกตั้งแบบลอยลำ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เขาเลือก กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) เป็นรองประธานาธิบดี นับเป็นครั้งแรกของอเมริกาที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับสูงเพื่อบริหารประเทศ มารู้จักหญิงแกร่งว่ามีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรที่ได้รับการยอมรับจากพรรคเดโมแคร็ตกับภารกิจที่สำคัญครั้งนี้

กมลา แฮร์ริส เกิดที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1964 แม่ของกมลาย้ายถิ่นจากอินเดีย ไปอยู่สหรัฐฯ เมื่อปี 1958 จบการศึกษาปริญญาโทด้านโภชนาการและต่อมไร้ท่อ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และทำงานเป็นนักวิจัยด้านโรคมะเร็งเต้านม ที่ Lawrence Berkeley National Laboratory  ส่วนพ่อนั้นเป็นผู้ย้ายถิ่นจากจาไมกา และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Standford เมื่อกมลาสำเร็จการศึกษาจาก Hastings College, Howard University สาขารัฐศาสตร์ ได้ทำงานด้านกฎหมายที่บ้านเกิด เส้นทางการเมืองของกมลานั้นไม่ธรรมดา ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในนามพรรคเดโมแคร็ตในปี 2016 เป็นสตรีคนแรกที่พ่อแม่ไม่ใช่อเมริกันชน ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ต่อมาในช่วงปี 2011-2017 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐ

ภาพกมลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐ


ที่มา: https://edition.cnn.com/2020/11/07/politics/kamala-harris-speech/index.html

ผลงานด้านความยุติธรรมของกมลาคือความพยายามที่จะแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เช่น การกำหนดแรงงานขั้นต่ำ สิทธิสตรีว่าด้วยการอนามัยเจริญพันธุ์ กฎหมายการสมรสเพศเดียวกัน กฎหมายบุคคลเข้าเมืองและการแก้ไขข้อบังคับบางมาตราเพื่อความยุติธรรม เธอเขียนหนังสือร่วมกับ Joan O’C. Hamilton เรื่อง Smart on Crime ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 กมลาต้องเผชิญกับการเรียกร้องจากประชาคมอย่างหนักที่ออกมาเคลื่อนไหวน้อยเกินไปในฐานะตำแหน่งอัยการสูงสุด สำหรับเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการเกินกว่าเหตุขณะเข้าจับกุม George Floyd ชายผิวสี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ด้วยการใช้เข่ากดคอจนขาดใจตาย คำพูดสุดท้ายของเขาก่อนเสียชีวิตคือ “แม่ครับผมหายใจไม่ออก”

เวลา 4 ปี ข้างหน้า ในตำแหน่งรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก กมลา แฮร์ริส จะมีบทพิสูจน์ความสามารถมากมายอย่างไรโดยเฉพาะในสถานการณ์ภายในประเทศที่มีความเห็นต่างไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ชนต่างผิว สภาวะเศรษฐกิจจากเหตุการณ์โควิด-19 รวมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ขั้วอำนาจกำลังเปลี่ยนทิศ โจ ไบเด็น ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ปราศรัยเมื่อผลการเลือกตั้งชัดเจนได้ให้คำมั่นสัญญาว่าในฐานะประธานาธิบดี เขาจะไม่แบ่งแยก แต่จะทำให้สหรัฐเป็นหนึ่งเดียว จะไม่มีรัฐแดงหรือรัฐน้ำเงิน แต่จะมีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ประชาคมโลกกำลังประเมินทิศทางลมของอเมริกาโดยเฉพาะนโยบายการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งนโยบายเพื่อสันติภาพโลกที่คุกรุ่นอยู่ในประเทศต่างๆ ด้วยสาเหตุที่หลากหลายและซับซ้อน

ในระยะ 2-3 เดือน ที่ผ่านมานี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะกมลา แฮร์ริส เท่านั้น ที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งระดับประเทศการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ก็น่าสนใจเช่นกัน จาร์ซินดาร์ อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีหญิงได้รับเลือกเป็นสมัยที่สอง โดยครั้งแรกในปี 2017 เมื่ออายุ 37 ปี อันนับเป็นผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดของโลก ผลงานในสมัยที่หนึ่งนั้นโดดเด่นจนได้รับการเลือกตั้งกลับมารอบที่สอง ก็เป็นการพิสูจน์ความสามารถของเธอชัดเจนแล้ว และยิ่งกว่านั้น การตัดสินใจเลือก Nanaia Mahuta ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศและการค้า เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน สำหรับนักการเมืองผู้หญิงเชื้อสายชนพื้นเมืองเผ่าเมารี ผู้ที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคสำหรับชนเผ่าเมารีที่มีจำนวนประชากรเพียงร้อยละ 151 ของประชากรทั้งประเทศ (ประมาณ 4.2 ล้านคน) เปรียบเทียบกับประชากรเชื้อสายยุโรป ที่มีถึงร้อยละ 74 (ส่วนประชากรเชื้อสายเอเชียมีร้อยละ 11)

ภาพ Nanaia Mahuta รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศและการค้า  ประเทศนิวซีแลนด์

ภาพจาก: https://www.beehive.govt.nz/minister/biography/nanaia-mahuta

Nanaia Mahuta ได้อยู่ในสนามการเมืองกว่า 20 ปี โดยทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคแรงงานตั้งแต่ปี 1996 และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการ Maori Development and Local Government อีกด้วย ภารกิจใหม่ที่ท้าทายในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศและการค้า คือการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจให้กลับสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุดทั้งในและนอกประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อแสดงจุดยืนที่เป็นภาพลักษณ์ของเธอ สุนทรพจน์อย่างเป็นทางการเมื่อเข้ารับตำแหน่งคือ จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดบนพื้นฐานความสามารถที่เป็นตัวตนของเธอ ไม่ใช่ทำตามที่ทุกคนคาดหวัง และจะคงความสำคัญเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับชุมชนสำหรับชนดั้งเดิมเผ่าเมารีเช่นเดิม


อ้างอิง

  1. https://www.nzherald.co.nz/nz/census-data-2013-facts-and-figures/GSU54LJJNJXLSD3PXDQI2DBFZY/ สืบค้นเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
     

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th