The Prachakorn

ทางออกโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มากกว่ายุบหรือควบรวม


ธีระพจน์ คำรณฤทธิศร

18 ธันวาคม 2563
363



แนวโน้มการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จำนวนประชากรในวัยเรียนลดลงอย่างมาก รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงให้เห็นว่าเมื่อปี 2536 จำนวนการเกิดสูงเกือบ 1 ล้านคน และได้ลดลงเหลือน้อยกว่า 6 แสนคนในปี 2562 เมื่อจำนวนเด็กน้อยลง แต่จำนวนสถานศึกษาแทบจะเท่าเดิม ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่หรือขนาดกลางกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ขนาดของโรงเรียนประเมินจากจำนวนนักเรียน) การบริหารจัดการโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กน้อยลงจึงต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ของเด็กในโลกศตวรรษที่ 21

โรงเรียนขนาดเล็กตามความหมายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ข้อมูลในปี 2562 พบว่า จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมีอยู่ประมาณ 15,000 โรงเรียน ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศที่มีกว่า 30,000 โรงเรียน สัดส่วนของครูต่อนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ที่ครู 1 คน ต่อ นักเรียน 10 คน ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนกว่า 300 โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียน แต่ยังไม่สามารถยุบเลิกหรือดำเนินการอื่นใดที่เป็นการแก้ไขปัญหานี้ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหานี้เป็นเพราะการยุบเลิก/ควบรวมโรงเรียนจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชนก่อน

โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีปัญหาสำคัญ ซึ่งส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) ได้รับงบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า เนื่องจาก สพฐ. จัดสรรเป็นเงินรายหัวให้กับนักเรียน ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กขาดทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียน 2) ขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเป็นผลมาจากเกณฑ์ที่ สพฐ. กำหนดสัดส่วนของครูในโรงเรียนขนาดเล็กเอาไว้ว่าให้มีครู 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน ซึ่งหากโรงเรียนแห่งหนึ่งมีนักเรียน 60 คน ก็จะมีครูได้เพียง 3 คน แต่โดยทั่วไปในโรงเรียนระดับประถมศึกษาหนึ่งแห่งจะมี 8 ระดับการเรียนรู้ (อนุบาล – ป.6) ทำให้เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้น ครู 3 คน ดูแลตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.6 ด้วยเหตุนี้โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากมีครูน้อยกว่า 1 คนต่อระดับชั้น เมื่อครูไม่เพียงพอจึงส่งผลให้ครู 1 คน ต้องสอนมากกว่า 1 ชั้นเรียน หรืออาจต้องสอนวิชาที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญ

แนวทางการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเน้นไปที่การยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ระแวกใกล้เคียงกัน เพื่อแบ่งปันทรัพยากรในการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน โดยหวังว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กให้ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะใช้แนวทางนี้เป็นหลักในการดำเนินการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องคิดให้รอบคอบคือ การยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมีทั้งผลกระทบในทางที่ดีและอาจส่งผลเสียให้กับชุมชนและผู้เรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล อาจทำให้โรงเรียนที่ใกล้บ้านเด็กที่สุดอยู่ไกลขึ้นจนมีผลต่อการตัดสินใจออกจากการเรียน เป็นต้น นอกจากนั้น โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งสามารถบริหารจัดการได้ดี สวนทางกับทรัพยากรที่มี แม้การยุบหรือควบโรงเรียนขนาดเล็กอาจทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษาในภาพรวมได้ แต่เรากำลังเสี่ยงต่อการปล่อยให้ชุมชนและเด็กนักเรียนในพื้นที่ที่โดนยุบหรือควบรวมโรงเรียนเผชิญปัญหาอีกแบบหนึ่ง รวมถึงปล่อยให้โรงเรียนที่ทำได้ดีไม่สามารถไปต่อได้ ทั้งที่โรงเรียนเหล่านั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรและสามารถบริหารจัดการเรียนการสอนได้ดีอยู่แล้ว

การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในอนาคตจึงจำเป็นต้องมีทางเลือกที่นอกเหนือจากการยุบหรือควบรวมโรงเรียนเพียงแนวทางเดียว ควรจะเปิดโอกาสให้มีทางเลือกอื่นให้ชุมชนหรือแม้กระทั่งนักเรียนเองในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้มีโอกาสตัดสินใจและหาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เราสามารถเรียนรู้ได้จากโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งที่เคยพิสูจน์ฝีมือมาแล้วว่า สามารถพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาผู้เรียนในชุมชนของตนเองให้มีคุณภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดได้อย่างไร

ตัวอย่างโรงเรียนขนาดเล็กที่มีผลการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ดีเช่น โรงเรียนวัดทัพหลวง จังหวัดอุทัยธานี ที่โรงเรียนร่วมกับชุมชนกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเด็ก กำหนดกิจกรรม/โครงการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ชัดเจนและใช้ทรัพยากรในชุมชนที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ อาทิ หลักสูตรบูรณาการระบบนิเวศในนาข้าวและแปลงผัก หลักสูตรการเรียนรู้ป่าชุมชนเพื่อดำรงตนอย่างพอเพียง ซึ่งผลจากความพยายามดังกล่าวทำให้นักเรียนโรงเรียนวัดทัพหลวงเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ได้ผ่านการลองทำจริง ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยการทดสอบระดับชาติ (O-NET) สูงกว่าค่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ

อีกตัวอย่างคือโรงเรียนบ้านดวนบากน้อย จังหวัดยโสธร ใช้การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการร่วมเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และแก้ปัญหาเรื่องครูไม่ครบชั้นโดยการจัดการศึกษาแบบคละชั้นที่นำนักเรียนต่างชั้นต่างกลุ่มอายุ ต่างความสามารถมาเรียนรู้ในห้องเดียวกัน นอกจากนั้นโรงเรียนยังวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรครูในโรงเรียนขนาดเล็กใกล้เคียงอีก 3 แห่ง ให้เข้ามาช่วยทำหน้าที่การสอนโดยแบ่งตามวิชาที่ตนเองถนัด ทำให้มีครูสอนเพียงพอโดยเคลื่อนย้ายครูแทนการเคลื่อนย้ายเด็ก รวมถึงโรงเรียนยังเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอย (CIA) และส่งเสริมนิสัยรักการอ่านเพื่อเปิดโลกการเรียนรู้อย่างไร้ข้อจำกัด ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนและศึกษาหาแนวทางที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในเชิงการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม หรือเปิดช่องทางให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนทรัพยากร และที่สำคัญการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะส่งผลต่อการผลักดันการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในอนาคต

ถึงเวลาแล้วครับที่เราต้องผนึกกำลังเพื่อแก้ปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง โดยไม่ทิ้งใคร...โดยเฉพาะชุมชนและนักเรียนไว้ข้างหลัง

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th