The Prachakorn

ประเทศไทยจุประชากรได้กว่า 4,000 ล้านคน


จรัมพร โห้ลำยอง

737



ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากร 63.7 ล้านคน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีวัฒนธรรม และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน   จะมีแตกต่างกันไปบ้างก็ในส่วนเมืองและชนบท ที่ดูเสมือนว่าความเร่งรีบในการดำรงชีวิตดูจะแตกต่างกันไปอยู่บ้าง   แต่ตัวเลขประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความแออัดในการดำรงชีวิตในส่วนเมือง ปัญหารถติดในกรุงเทพและปริมณฑล ก็สร้างความกังวลให้หลายฝ่ายอยู่ไม่น้อย ว่าต่อไปในอนาคตหากมีคนเยอะขึ้น เราจะมีพลังงานใช้พอไหม 

ค่าอาหารจะสูงเพราะเงินเฟ้อหรือไม่ และจะเอาถนนที่ไหนให้รถวิ่ง ความกังวลเหล่านี้น่าจะลดลงได้บ้าง หากทราบว่าประเทศไทยอาจจะสามารถจุคนทั้งประเทศได้สูงถึง 4,697 ล้านคนโดยที่เศรษฐกิจยังเจริญเติบโต และธรรมชาติยังมีความสมดุลย์อยู่ หากประเทศถูกวางผังเมืองแบบเดียวกับประเทศสิงคโปร์

นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่มีพื้นที่กว้างเพียงราวๆ เกาะภูเก็ต แต่สร้างรายได้ประชาชาติสูงติดอันดับโลก คงจะต้องเปลี่ยนภาพความทรงจำบ้านเมือง วิวทิวทัศน์ของประเทศสิงคโปร์เสียใหม่ในไม่ช้า เนื่องจากเป้าหมายจำนวนประมาณประชากรในประเทศสิงคโปร์ที่รัฐบาลคาดไว้มีสูงถึง 6.5 ล้านคน ซึ่งในขณะนี้ประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 5.08 ล้านคน1 ดังนั้นการคาดประมาณประชากรที่จะเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 1.4 ล้านคนในพื้นที่อันน้อยนิด จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศในการวางผังเมือง และปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ได้โดยไม่กระทบต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสมดุลย์ธรรมชาติในอนาคตอันใกล้

รัฐบาลมีความพร้อมอย่างมากในการเตรียมรับมือประชากร 6.5 ล้านคนในอนาคต โดยผังเมืองของประเทศได้ถูกวางแผนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตึกที่อยู่อาศัย พื้นที่สันทนาการ การคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานทางเศรษฐกิจ มีการวางเป้าหมายให้ประเทศก้าวหน้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกสืบต่อไป ภายใต้โครงการแหล่งบันเทิง และ กาสิโนยักษ์ใหญ่ที่มองว่าจะใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวและเงินจำนวนมหาศาลเข้าประเทศ โดยผังเมืองใหม่นี้ได้แสดงไว้ในงานนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติ ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี นอกจากนี้ผลการคำนวณจำนวนประชากรต่อพื้นที่ได้ระบุชัดเจนว่า ประชากรทั้งโลกสามารถอยู่รวมกันได้ในพื้นที่ประมาณรัฐเท็กซัสได้อย่างไม่มีปัญหา หากผังเมืองได้ถูกวางไว้แบบเดียวกับประเทศสิงคโปร์ และหากเปรียบกับพื้นที่ประเทศไทยก็จะพบว่าประเทศไทยเพียงประเทศเดียวจะสามารถจุคนได้มากกว่าครึ่งโลกนั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ คนอีกกว่า 1.4 ล้านคนจะมาจากไหน เนื่องจาก ประเทศสิงคโปรค์มีภาวะเจริญพันธุ์ ที่ค่อนข้างจะต่ำและคงที่มานาน  คือตัวเลขอัตราเจริญพันธุ์ รวม (TFR) อยู่ที่ระดับ 1.3 ดังนั้นตัวเลขประชากรสิงคโปร์โดยกำเนิดจะลดลงเรื่อยๆในอนาคต แต่ส่วนที่จะเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากผู้ที่ย้ายถิ่นเข้ามา ดังนั้นต่อไปอัตราส่วนบุคคลต่างด้าวต่อประชากรสิงคโปร์โดยกำเนิดจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 5.08 ล้านคน 3.77 ล้านคนเป็นประชากรสิงคโปร์ ส่วนที่เหลือจัดเป็นบุคคลต่างด้าว คาดว่าในอีก 30 -40 ปี2 ข้างหน้าสัดส่วนบุคคลต่างด้าวจะมีสูงถึงร้อยละ 40 และจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และทิศทางการพัฒนาของประเทศอย่างแน่นอน     

ดูเสมือนว่าภาวะเจริญพันธุ์นี้คล้ายคลึงกับประเทศไทยอยู่บ้าง ในความจริงที่ว่าอัตราเจริญพันธุ์ของทั้งไทยและสิงคโปร์อยู่ต่ำกว่าภาวะเจริญพันธุ์ระดับทดแทนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)3 ระบุว่า คนไทยมีอัตราเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ไว้ว่า จะลดลงเหลือเพียง 1.35 ในปี 2573 ดังนั้นในภาวการณ์ที่ประชากรไทยยังจะเพิ่มขึ้นต่อไป แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ 

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2542).4

ข้อคิดที่ได้จากสิงคโปร์คงจะมากกว่าจำนวนประชากรมหาศาลในพื้นที่ที่จำกัด แต่จะขยายไปถึงการเตรียมพร้อมของประเทศที่สนองตอบอย่างทันท่วงทีต่อตัวเลขประชากรที่คาดการณ์ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และพื้นที่ภูมิประเทศที่เอื้อให้คนไทยอยู่ได้อย่างมีความสุข ประชากรที่เพิ่มขึ้นจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในการพัฒนา แต่ที่น่าจะคำนึงถึงก็คือโครงสร้างของประชากรในประเทศว่ามีทิศทางแนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไร การที่มีเด็กเกิดลดลง ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของประชากรวัยแรงงานลดลง ประเทศได้มีการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านี้ไว้อย่างไร มีการวางผังเมืองอย่างไรเพื่อรองรับความแออัดในพื้นที่เมือง และทิศทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติควรจะเป็นอย่างไรในอนาคต คาดว่าประเด็นเหล่านี้ทางคณะผู้บริหารประเทศคงจะได้ขบคิดไว้บ้างแล้ว และหวังว่าต่อไปประเทศไทยคงจะพร้อมที่จะนำแบบจำลองของไทยไปแสดงให้ต่างชาติได้ดูได้บ้าง อย่างที่สิงคโปร์เขาทำอยู่ทุกวันนี้


1 The Singapore Department of Statistics. (2010). Statistic Singapore. Retrieved from http: www.singstat.gov.sg/
2 Hock, S. S. (2007). What it means to have 6.5m population. Retrieved from www.iseas.edu.sg/viewpoint/ssh23mar07.pdf
3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2551). สศช. จัดทำการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยปี 2543-2573. Retrieved from www.ryt9.com/s/prg/357700
4 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2542). การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2542 ะ 2559. กรุงเทพ: สำนักนายกรัฐมนตรี.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th