ในการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ ในด้านต้นทุน พิจารณาได้หลายมุมมอง เช่น
- มุมมองของรัฐ คำนึงถึงต้นทุนของรัฐเพียงอย่างเดียว เช่น ค่ายา ค่ารักษา เงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ ที่รัฐบาลต้องจ่าย
- มุมมองของรัฐและผู้ป่วย คำนึงถึงต้นทุนของรัฐและผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงค่าเดินทางของผู้ป่วยในการมารับบริการทางสุขภาพ ค่าเสียเวลาในการรอรับบริการด้วย
- มุมมองทางสังคม นอกจากจะคำนึงถึงต้นทุนของรัฐและผู้ป่วยแล้ว ยังคำนึงถึงงานที่ต้องสูญเสียไป เนื่องจากการลาหยุดงานของผู้ป่วยที่ต้องมารับบริการทางสุขภาพ
ส่วนประสิทธิภาพของแนวทางทางสุขภาพ (เช่น แนวทางการลดภาวะโรคอ้วน ด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกาย) สามารถวัดได้หลายรูปแบบ แต่ที่นิยมใช้ คือ
- ปีสุขภาวะที่มีคุณภาพ (Quality-adjusted life year -QALY) เช่น ดูว่าการส่งเสริมการออกกำลังกายสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วน เพิ่มจำนวนปีที่อยู่อย่างมีสุขภาพดีได้กี่ปี
- ปีสุขภาวะที่บกพร่อง (Disability-adjusted life year -DALY) เช่น ดูว่า การส่งเสริมการออกกำลังกายสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วน ลดจำนวนปีที่อยู่อย่างมีสุขภาพไม่ดีได้กี่ปี
ทั้งนี้การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ จะต้องมีตัวเปรียบเทียบ เช่น การเปรียบเทียบแนวทางใหม่กับแนวทางเก่าที่เคยใช้อยู่เดิม เป็นต้น
ที่มา: จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2555