วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมมีวันสำคัญวันหนึ่งคือ “วันเด็กแห่งชาติ” จุดกำเนิดของ “วันเด็กแห่งชาติ” มาจากการที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับเด็ก และต้องการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนที่มีต่อประเทศชาติ จึงได้เสนอให้มีการจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ขึ้นมา หลายประเทศทั่วโลกต่างพากันขานรับนโยบายนี้รวมทั้งประเทศไทย
สีสันของ “วันเด็กแห่งชาติ” นอกจากการจัดงานที่สนุกสนานให้กับเด็ก ๆ แล้ว ที่ขาดไปไม่ได้ก็คือคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีคำขวัญวันเด็กมาแล้ว 63 คำขวัญ (พ.ศ 2499 -2564)
พ.ศ. | นายกรัฐมนตรี | คำขวัญ |
---|---|---|
2499 | จอมพล ป.พิบูลสงคราม | จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม |
2502-2506 | จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ | ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า, ขอให้เด็ก สมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด, ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย, ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด และขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด |
2508-2516 | จอมพลถนอม กิตติขจร | เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี, เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี, อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดี มีความประพฤติเรียบร้อย,ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง, รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ, เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส, ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ, เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ และเด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ |
2517-2518 | นายสัญญา ธรรมศักดิ์ | สามัคคีคือพลัง และเด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี |
2519 | มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช | เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้ |
2520 | นายธานินทร์ กรัยวิเชียร | รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย |
2521-2523 | พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ | เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ, เด็กไทยคือหัวใจของชาติ และ อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย |
2524-2531 | พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ | เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม, ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย, รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม, รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา, สามัคคีนิยมไทย มีวินัย ใฝ่ คุณธรรม, และ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ (ใช้คำขวัญนี้ ในพ.ศ. 2 529-2531) |
2532 - 2534 | พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน | รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (ใช้คำขวัญนี้ใน พ.ศ. 2532- 2533) และรู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา |
2535 | นายอานันท์ ปันยารชุน | สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม |
2536-2538 | นายชวน หลีกภัย | ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม (ใช้คำขวัญนี้ใน พ.ศ.2536-2537) และ สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม |
2539 | นายบรรหาร ศิลปอาชา | มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด |
2540 | พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ | รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด |
2541-2544 | นายชวน หลีกภัย | ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย (ใช้คำขวัญนี้ใน พ.ศ. 2541-2542) มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย (ใช้คำขวัญนี้ใน พ.ศ. 2543-2544) |
2545-2549 | พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร | เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส, เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี, รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดี ๆ อนาคตดีแน่นอน, เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด และอยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด |
2550-2551 | พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ | คุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข และสามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม |
2552-2554 | นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี, คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม และ รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ |
2555-2557 | นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร | สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี, รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน และ กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง |
2558-2564 | พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา | ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต, เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต, เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง, รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี, เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ, เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมือง และเด็กไทยวิถีใหม่ ร่วมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดี มีคุณธรรม |
คำขวัญวันเด็กนอกจากสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของยุคสมัยนั้นแล้ว ยังบ่งบอกถึงภาพความฝัน ความคาดหวังที่มีต่อเด็ก หากย้อนกลับไป คำขวัญวันเด็กเริ่มตั้งแต่สมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่คำขวัญวันเด็กบ่งบอกความเป็นทหารอย่างชัดเจน ลักษณะของคำขวัญเป็นไปในทำนอง “คำสั่ง” ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้าจง…” เช่น ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า, ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด เป็นต้น
หมดสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศยาวนานถึง 9 ปี ครองสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีที่มอบคำขวัญวันเด็กมากที่สุดถึง 9 คำขวัญจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ในปี 2517 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือน คือนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คำขวัญวันเด็กไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่เด็ก แต่มีนัยยะถึงคนไทยทุกคน ด้วยคำขวัญสั้น ๆ ว่า สามัคคีคือพลัง
ในปี 2519 เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองอีกครั้ง ครั้งนี้การฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ถูกนำมาเป็นประเด็นหลักในการปราบปรามนักศึกษาและประชาชน หลังเหตุการณ์สงบลง ในปี 2520 จึงมีคำขวัญวันเด็กที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนโดยมีคำสำคัญที่ปรากฏเป็นครั้งแรกคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้คำขวัญว่า รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย จากนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร
คำสำคัญใหม่ ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย เริ่มปรากฏในคำขวัญวันเด็กเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2536 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ด้วยคำขวัญที่ว่า ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม ต่อมาในปี 2539 ท่ามกลางสถานการณ์ยาบ้าที่แพร่ระบาดทุกหัวระแหง คำขวัญวันเด็กจึงมีคำว่า ยาเสพติด ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2539 สมัยของนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา คือคำขวัญว่า มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด และอีกครั้งในปีถัดไปของพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ด้วยคำขวัญที่ใกล้เคียงกันคือ รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วนของสังคมไทย ปี 2541- 2542 จึงมีคำขวัญวันเด็กเหมือนกัน โดยเน้นย้ำที่ ความขยัน ความประหยัด ความซื่อสัตย์ และมีวินัย ด้วยคำขวัญว่า ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย จากนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย
สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีคำแปลกใหม่ในคำขวัญวันเด็ก เช่น เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าพูด ดังตัวอย่างคำขวัญว่า เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด และ เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส นอกจากนี้ยังปรากฏคำว่า เทคโนโลยี ในคำขวัญวันเด็กเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2546 คือคำขวัญว่า เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
หลังเหตุการณ์ศึก “สีเสื้อ” ประเทศไทยหวนกลับคืนสู่นายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารอีกครั้ง ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยเราจึงมีคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาแล้ว 6 ปี ปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอันร้อนระอุ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนและเยาวชน แต่นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ยังคงมีคำขวัญมอบให้กับเด็ก ๆ นับเป็นคำขวัญปีที่ 7 ในการบริหารประเทศ โดยมีคำขวัญที่สอดคล้องชัดเจนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศขณะนี้ นั่นคือคำขวัญว่า เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดี มีคุณธรรม
นับจากนี้เป็นต้นไปหากปี 2567 ประเทศไทยยังมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ สถิติการมอบคำขวัญวันเด็กที่มากที่สุด 9 ครั้งของพลเอกถนอม กิตติขจร ก็จะถูกทำลายลงด้วยนายกรัฐมนตรีที่มอบคำขวัญวันเด็กมากที่สุดถึง 10 ครั้งจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
แหล่งที่มาคำขวัญวันเด็กปีต่าง ๆ จาก https://www.sanook.com/campus/1393585/
Q: จำนวนคำขวัญวันเด็กของประเทศไทย
A: จำนวน 63 คำขวัญ ตั้งแต่ ปี 2499-2564
Q: จำนวนคำขวัญที่มาจากนายกรัฐมนตรีทหาร
A: จำนวน 39 คำขวัญ ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน, พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ, พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
Q: จำนวนคำขวัญที่มาจากนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ทหาร
A: จำนวน 24 คำขวัญ ได้แก่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์,ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช,นายอานันท์ ปันยารชุน,นายธานินทร์ กรัยวิเชียร,นายชวน หลีกภัย,นายบรรหาร ศิลปอาชา, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
Q: นายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยมอบคำขวัญวันเด็ก
A: จำนวน 5 คน ได้แก่ นายพจน์ สารสิน, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช,พลเอกสุจินดา คราประยูร, นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์
Q: ปีที่ประเทศไทยไม่มีคำขวัญวันเด็ก
A: จำนวน 3 ปี ได้แก่ พ.ศ. 2500 , 2501 และ 2507
Q: คำสำคัญที่อยู่ในคำขวัญมากที่สุด
A: คำว่า "วินัย" พบใน 18 คำขวัญ