คนรุ่นผม ซึ่งตอนนี้อายุประมาณ 70 ปี เติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านทางประชากรของประเทศไทย
เมื่อคนรุ่นผมยังอยู่ในวัยเด็ก ประเทศไทยยังเป็นสังคมเยาว์วัย ตอนนั้นประชากรไทยมีเด็กมาก มีผู้สูงอายุน้อย ประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมีมากถึงร้อยละ 40 ในขณะที่ผู้สูงอายุมีไม่ถึงร้อยละ 5 พอคนรุ่นผมมีอายุสูงขึ้น สังคมไทยก็มีอายุสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อพวกเรามีอายุสูงขึ้นจนเหยียบหลักเจ็ดสิบ สังคมไทยก็กลายเป็นสังคมสูงวัยเกือบจะสมบูรณ์แล้ว
อีก 20 ปีข้างหน้า...
เดี๋ยวนี้ เราได้ยินการพูดถึงระยะเวลา 20 ปีข้างหน้าอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนระยะยาว 20 ปี หรือการวางยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ผมก็เลยอยากจะมองอนาคตของตัวเองและของสังคมไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าดูบ้าง
อีก 20 ปีข้างหน้า คนรุ่นผมจะยังมีชีวิตอยู่อีกสักกี่คน ส่วนใหญ่ก็คงจะอำ.ลาจากโลกนี้ไปแล้ว ผมพยายามนึกภาพและตั้งคำถามเกี่ยวกับคนรุ่นผมที่ยังมีลมหายใจอยู่ ตอนนั้นก็จะมีอายุสูงขึ้นจนถึงหลักเก้าสิบแล้ว พวกเราจะมีสภาพเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ คงมีบางคนที่ยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง ออกจากบ้านไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่ว หลายคนอาจจะยังมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม แต่ก็คงมีไม่มากนัก คงจะมีหลายคนที่เก็บตัวนั่งๆ นอนๆ อยู่แต่ในบ้าน หยุดกิจกรรมทางสังคม เพราะไม่สะดวกที่จะเคลื่อนไหวเดินทาง หรือพบปะสมาคมกับผู้คน และก็คงจะมีบางคนที่ต้องนอนติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
สำหรับตัวผมเอง ผมเคยตั้งเป้าหมายชีวิตเอาไว้ว่าอยากจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี ซึ่งเท่ากับผมเหลือเวลาอีกประมาณ 10 ปี ที่จะต้องหมั่นหายใจเอาไว้เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ตามเป้า แต่ถ้าผมยังไม่ตายและมีชีวิตอยู่ไปจนถึงอีก 20 ปีข้างหน้า ผมก็อยากเป็นผู้สูงอายุวัยปลายที่มีพลัง กระฉับกระเฉง แข็งแรง สุขภาพดี ยังมีรายได้พอเพียงที่จะเลี้ยงชีพ และที่สำคัญยังมีคุณค่าต่อครอบครัวและสังคม
แล้วสังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต
อีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ ผมก็จะมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของสังคมไทยที่กลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากมายทั่วบ้านทั่วเมือง ประชากรไทยจะประกอบไปด้วยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด แต่ผมมั่นใจว่า ในตอนนั้นคนอายุ 60 ปีจะยังดูไม่แก่จนไม่น่าจะถูกเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุเสียด้วยซ้ำ ถ้าขยับเกณฑ์ที่จะนิยามว่าคนอายุเท่าไรจึงจะเรียกว่าผู้สูงอายุขึ้นไปเป็นที่ 65 ปี เราจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด หรือเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน
ใครๆ ก็คงอยากเห็นสังคมไทยในอนาคตเป็นสังคมสูงวัยที่มีพลัง ซึ่งย่อมเป็นผลมาจากการที่คนในสังคมมีอายุสูงขึ้นอย่างมีสุขภาพดีในทุกขั้นตอนของเส้นทางชีวิต ตั้งแต่แรกเกิด เป็นทารก เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น จนเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เข้าสู่วัยแรงงาน เป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยสูงอายุ จนในที่สุดอายุสูงขึ้นจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต การที่สังคมจะมีอายุสูงขึ้นอย่างมีพลัง หมายความว่า คนในสังคมส่วนใหญ่มีอายุสูงขึ้นโดยผ่านขั้นตอนต่างๆ บนเส้นทางชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมีความมั่นคงในชีวิต
ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะมีพลัง
คนเราเมื่อเกิดมาแล้วก็ย่อมมีอายุสูงขึ้น แต่การมีอายุสูงขึ้นอย่างมีพลัง แต่ละคนก็ต้องมีการเตรียมตัวด้วยเหมือนกัน การเตรียมสังคมให้สูงอายุขึ้นอย่างมีพลัง ก็เหมือนแต่ละคนเตรียมตัวให้เป็นผู้สูงอายุที่มีพลังนั่นเอง คนในสังคมจะต้องเตรียมตัวที่จะเป็นผู้สูงอายุตลอดเส้นทางของชีวิต ไม่ใช่มาเริ่มวางแผนชีวิตเมื่อกำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ โครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ ยังมุ่งเน้นอยู่ที่ตัวผู้สูงอายุเมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้ว เรามีโครงการคือ ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานะยากลำบาก จัดสวัสดิการต่างๆ แก่ผู้สูงอายุ เช่น ให้เบี้ยยังชีพ บำนาญชราภาพ บริการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย การจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ โครงการสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะตามไม่ทันจำนวนผู้สูงอายุที่กำ.ลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้
ในอนาคต จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นเบบี้บูมที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และคนรุ่นเกิดล้าน (เกิดระหว่างปี 2506-2526) ที่เป็นคลื่นประชากรขนาดยักษ์กำลังเคลื่อนตัวกลายเป็นผู้สูงอายุ นับจากวันนี้เป็นต้นไป คนไทยแต่ละคน รวมถึงครอบครัวและรัฐบาลจะมีภาระเพิ่มขึ้นอย่างมากในการดูแลให้ความช่วยเหลือและสวัสดิการต่างๆ แก่ผู้สูงอายุ
ที่จริงแล้ว ถ้าทุกคนในสังคมตระหนักชัดว่า เดี๋ยวนี้คนเราไม่ตายกันง่ายๆ ทุกคนมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนถึงอายุ 90 หรือ 100 ปี และตระหนักว่า บนเส้นทางชีวิตของคนเรานั้นเมื่ออายุสูงขึ้นจนถึงวัยหนึ่ง สมรรถภาพการทำงานของร่างกายก็จะถดถอยลง เราจะไม่สามารถทำงานเป็นผู้ผลิตสร้างรายได้ให้ตัวเองเหมือนเมื่อวัยก่อนหน้า ฉะนั้นคนเราทุกคนจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ยังอยู่ในวัยที่ร่างกายยังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
เราจะเตรียมตัวกันอย่างไรเพื่อสูงวัยอย่างมีพลัง
สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีพลังในวันหน้า ตามธรรมชาติความสามารถในการทำงานของร่างกายของคนเรานั้น ย่อมเสื่อมถอยลง เมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของเส้นทางชีวิต ทุกคนควรจะได้รับรู้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ความสามารถของร่างกายลดต่ำลงอย่างมากเกินกว่าที่ธรรมชาติกำหนดคือการประพฤติปฏิบัติของตัวเรานั่นเอง พฤติกรรมการกินการอยู่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อต่างๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวานโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ถ้าคนเราตระหนักว่า ต้องเตรียมตัวพร้อมที่จะมีชีวิตยืนยาวอยู่ต่อไป ก็ต้องปรับพฤติกรรมการกินการอยู่ของตนเองตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ใช่มาปรับแก้กันเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว
คุณปู่นักวิ่งมาราธอนวัย 70 ปี ในงาน Bangkok 10 km. International Run ปี 2015
ถ้าคนเราตระหนักว่า ในวันหน้า เมื่อมีอายุสูงขึ้นถึงวัยหนึ่งเราก็จะไม่มีสมรรถภาพในการทำงานได้เหมือนเดิม ดังนั้น ทุกคนจะต้องคิดวางแผนไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อถึงเวลานั้น ตัวเราจะเอารายได้จากไหนมาจับจ่ายใช้สอย บางคนอาจหวังพึ่งลูก แต่บางคนแม้แต่คู่สมรสก็ยังไม่มี ถ้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็อาจหวังได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ สำหรับคนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ก็อาจหวังพึ่งเงินบำนาญชราภาพคนทำงานนอกระบบ จะต้องวางแผนการลงทุนหรือการออมเพื่อมีรายได้เพียงพอที่จะยังชีพยามชรา
การเตรียมแหล่งรายได้ให้พร้อมเพื่อยังชีพยามชรา จะต้องเตรียมตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น เริ่มออมเงินไว้ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว ฝึกนิสัยมัธยัสถ์ไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่เป็นคนสุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ และที่สำคัญคือ การรู้จักประมาณตนและพอเพียง
ในประเทศไทยของเรานี้ บางทีนโยบายกับการปฏิบัติบางอย่างก็ขัดกัน เช่น ในเรื่องการส่งเสริมการออม ในขณะที่เราอยากให้คนรุ่นใหม่ออมเงินไว้เพื่อเป็นทุนยามชรา แต่บางครั้งรัฐบาลก็พยายามส่งเสริมให้คนไทยใช้เงินซื้อของหรือท่องเที่ยวมากๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้คนไทยจะช่วยชาติ เชื่อฟังรัฐบาลด้วยการช็อปปิ้ง แต่ก็ควรรู้จักยับยั้งชั่งใจ จับจ่ายใช้สอยอย่างมีเหตุมีผล คิดถึงอนาคตของตนเองเมื่อยามชราด้วย
เราเตรียมตัวพร้อมแล้วหรือยัง
เราต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยตื่นตัวอย่างมากในเรื่องการสูงวัยของประชากร รัฐบาลมีมาตรการหลายอย่างที่ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในด้านบริการสุขภาพอนามัย การอยู่อาศัย และการเงิน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในอนาคตอันใกล้นี้ การให้บริการทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย เศรษฐกิจ และสวัสดิการสังคม อาจจะตามไม่ทันกับการเพิ่มอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ
ถ้าคนไทยทุกเพศทุกวัยเกิดความตระหนักในเรื่องการสูงวัยของประชากร เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีพลังในวันหน้า ภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละคน ครอบครัว และรัฐในการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่ยากจน เจ็บป่วย หรือที่อยู่ในสถานะยากลำบาก ก็จะลดน้อยลง
เรามาช่วยกันผลักดันให้สังคมไทยสูงวัยอย่างมีพลังกันเถิด