The Prachakorn

สึนามิจากฟากฟ้าที่ภูฏาน


อมรา สุนทรธาดา

15 กุมภาพันธ์ 2564
484



ประเทศภูฏานมีพื้นที่ 38,394 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 771,608 คน1 (ตัวเลขคาดการณ์ ปี 2563) เป็ประเทศแรกที่เริ่มใช้ ดัชนีวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness Index - GNH) เมื่อปี 2553 เพื่อ ชี้วัดคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชนเข้มแข็ง การใช้เวลา สุขภาพจิต ธรรมาภิบาล คุณภาพชีวิต และหลักการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่สมเด็จพระราชาธิบดี Jigme Singye Wangchuck พระบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ได้ทรงริเริ่มเมื่อปี 2522

ประเทศภูฏานอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 7,218 ฟุต ร้อยละ 70 ของพื้นที่อยู่บนเชิงผาสูงชันตามแนวเทือกเขาหิมาลัย อุณหภูมิในฤดูหนาว - 4 ถึง -16 องศาเซลเซียส มีทะเลสาบที่เกิดจากธารน้ำแข็งถึง 2,674 แห่ง และในจำนวนดังกล่าว มี 17 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดเนื่องจากระดับน้ำในฤดูร้อนมีปริมาณสูงมาก อย่างไรก็ตาม ทะเลสาบต่าง ๆ ที่รับน้ำจากธารน้ำแข็งสะสมในช่วงฤดูร้อนทางภาคเหนือของประเทศ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบไฮโดรเพาเวอร์เทคโนโลยี เพื่อขายให้ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศนอกจากรายได้จากภาคเกษตรกรรมที่มีพอเพียงสำหรับการครองชีพในประเทศ เท่านั้น

ภาคเหนือของประเทศภูฏานมีธารน้ำแข็งแผ่คลุมเกือบตลอดปี

ที่มา: https://www.channelnewsasia.com/news/videos/exclusive-bhutan-under-constant-threat-from-climate-change-pm-12984292 สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564

รัฐบาลแก้ปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูร้อนโดยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ในบางปีเขื่อนมีขนาดไม่สมดุลกับปริมาณน้ำไหลบ่าจากยอดเขาซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญและต้องป้องกัน เช่น มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลาเพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในทะเลสาบขนาดใหญ่ มีการวัดระดับความสั่นสะเทือนและวัดอุณหภูมิบริเวณทะเลสาบที่เป็นจุดเสี่ยงกว่าบริเวณอื่นๆ มีแผนรองรับและย้ายประชาชนออกนอกพื้นที่เสี่ยงได้ในเวลาเพียง 30 นาทีในกรณีที่เกิดน้ำไหลบ่าอย่างรวดเร็ว

ที่มา: https://www.channelnewsasia.com/news/videos/exclusive- bhutan-under-constant-threat-from-climate-change-pm-12984292 สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564

ปัญหาโลกร้อนมีผลต่อการละลายของธารน้ำแข็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะบางปีในช่วงฤดูร้อนทำให้มีปริมาณน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งมากเกินไปและเกิดอุทกภัย เป็น สึนามิจากฟากฟ้า (สึนามิเกิดจากลอยเลื่อนและการยุบตัวอย่างรวดเร็วของผิวโลก เกิดคลื่นยักษ์พัดเข้าชายฝั่งอย่างรวดเร็วและรุนแรง) ที่สร้างมหันตภัยให้กับชาวภูฏาน ซึ่งร้อยละ 70 ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมทางน้ำที่ไหลผ่านซอกหลืบของหุบเขาในช่วงฤดูร้อน การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำในทะเลสาบตลอดแนวเทือกเขาหิมาลัยเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก และส่งผลกระทบที่ประเมินค่าความเสียหายไม่ได้ ในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประชากร พื้นที่ป่าไม้และสถานที่ก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะศาสนสถานซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของประชาชนภูฏาน รวมทั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าโดยพลังน้ำจากธารน้ำแข็งก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

National Center for Hydrology & Meteorology (NCHM) ประเทศภูฏาน สนับสนุนมาตรการเอาชนะธรรมชาติโดยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อกักน้ำในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้ว่าจะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะต้องแลกกับความไม่แน่นอนด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอากาศหรือภาวะโลกร้อน แต่ทางเลือกมีจำกัด รัฐบาลจำเป็นต้องเลือกมาตรการที่ให้จุดคุ้มทุนมากที่สุด

ฯพณฯ Lotay Tshering นายกรัฐมนตรีภูฏานให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ธารน้ำแข็งไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะเป็นแหล่งการดำรงอยู่ของวงจรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดแหล่งน้ำในทะเลสาบน้อยใหญ่เพื่อหล่อเลี้ยงมนุษย์ แต่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ คือ ภาวะโลกร้อน ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น แม้ชาวภูฏานยังไม่ลืมวิกฤตและความสูญเสียจากน้ำท่วมเมื่อปี 2537 ที่คร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้าย 21 ราย รวมถึงสร้างความเสียหายกับพื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารขนาดใหญ่ในแม่น้ำ เช่น ปลาน้ำจืดที่พลัดหายไปในกระแสน้ำหลาก ที่ยังอยู่ในความทรงจำของพลเมืองภูฏานจนทุกวันนี้ แต่ธารน้ำแข็งและเทือกเขาหิมาลัยเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณวัฒนธรรม และศรัทธาของชาวภูฏาน ไม่มีธารน้ำแข็งย่อมหมายถึงไม่มีวัฏจักรชีวิตสืบต่อในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป และย่อมหมายถึงหายนะแห่งมนุษยชาติที่แท้จริง

Himalayan Blue Poppy ดอกไม้ประจำชาติประเทศภูฏาน

ที่มา: https://www.bing.com/images/search?q=Himalaya%20Blue%20poppy%20bhutan&qs สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564


อ้างอิง

1 https://www.worldometers.info/demographics/bhutan-demographics/ สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th