The Prachakorn

มาชะลอวัยกันเถอะ!


ปราโมทย์ ประสาทกุล

10 เมษายน 2561
742



ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าตัวเรามีชีวิตอยู่มายาวนานจนอายุขึ้นหลักเจ็ดสิบปีแล้ว เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ผมเคยนึกกระหยิ่มว่าแม้จะเป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่ก็ยังเป็นเด็กๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันตอนนั้น ผมเป็น “ผู้สูงอายุวัยต้น” อายุยังไม่ถึงหลักเจ็ดสิบ มาวันนี้ ตัวผมจะไม่นับว่าเป็นผู้สูงอายุรุ่นเยาว์อีกต่อไป ผมจะถูกจัดให้เป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” และอีกไม่นาน ก็จะเป็น “ผู้สูงอายุวัยปลาย” (ถ้ายังไม่รีบตายเสียก่อน อย่างที่มีผู้เตือนอยู่เสมอว่า ถ้ารักชีวิต ก็ต้องหมั่นหายใจไว้)

และก็ไม่อยากจะเชื่ออีกว่า ชีวิตของเราจะมาได้ไกลถึงเพียงนี้ ย้อนอดีตไปเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ภาพของตัวเราเมื่อเป็นเด็กยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำ เด็กตัวเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ท้ายตลาด ขุดหลุมล่อกั้งอยู่ชายตลิ่งริมแม่น้ำบางปะกง ลุยโคลน กระโดดน้ำที่ปลายสะพานท่าน้ำ.ด้วยท่ามาตรฐาน ทั้งท่าพุ่งหลาวและทิ้งลูกมะพร้าว ไม่อยากจะเชื่อว่าเด็กคนนั้นจะมานั่งเป็นผู้มีอายุสูงสุดอยู่ในสถาบันวิจัยประชากรฯ แห่งนี้

คนเราแก่ไม่เท่าเทียมกัน

ตอนนี้ เชื่อแล้วว่าเราโชคดีที่ยังมีโอกาสได้นั่งทำงานอย่างเป็นทางการอยู่ในสถาบันวิจัยประชากรฯ แม้จะมีอายุมากจนเลยอายุเกษียณมาหลายปีแล้วก็ตาม การทำงานทำให้เรารู้สึกตัวว่ามีคุณค่า เมื่อได้สร้างสรรค์ ริเริ่มงาน หรือให้คำปรึกษาในเรื่องที่เราถนัดกับเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องๆ ใจเราก็เกิดปิติสุข การทำงานที่สถาบันวิจัยประชากรฯ สนุกดี หลายครั้งที่นึกกังวลว่า ถ้าไม่ได้ทำงานแล้ว ก็คงจะเหงามาก แต่หลายครั้ง เราก็คิดปลอบใจตัวเองว่า จะกลัวไปไย ถ้าไม่ได้ทำงานอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เราก็หาเรื่องอย่างอื่นทำให้ไม่เหงาก็ได้

การทำงานในสถาบันทางวิชาการมีข้อดีหลายอย่าง แต่ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ มีเรื่องสนุกๆ ให้เราได้คิด เมื่อสองวันก่อนได้มีโอกาสไปนั่งสังเกตการณ์ ฟังศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายจากมหาวิทยาลัยชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่นบรรยายเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่ถูกวิธีของผู้สูงอายุ หลายเรื่องเราก็รู้อยู่แล้ว แต่เมื่อมาฟังซ้ำก็ได้คิด

เมื่อคนเราเกิดมาแล้ว สมรรถภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายของคนเราก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คนเราถ้าไม่ตายไปเสียก่อน ร่างกายของคนเราก็จะเจริญวัยขึ้น จากเด็กเติบโตเป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ไปจนกระทั่งแก่ชราลง และหมดอายุขัยไปในที่สุด สมรรถภาพทางกายของคนเราจะพัฒนาขึ้นถึงระดับสูงสุดเมื่อเป็นหนุ่มสาว เรื่อยมาจนถึงวัยกลางคนเมื่อถึงวัยชรา สมรรถภาพทางกายก็จะเริ่มเสื่อมถอยลง ความเสื่อมถอยลงของสมรรถภาพทางกายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครฝืนกฎธรรมชาติข้อนี้ได้

ธรรมชาติกำหนดว่าสมรรถภาพทางกายของคนเราจะเสื่อมถอยลงเมื่ออายุเข้าสู่วัยชรา แต่สังขารและสมรรถภาพทางกายของคนเราแต่ละคนเสื่อมถอยลงไม่เท่ากัน ในคนส่วนใหญ่ สภาพและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสื่อมโทรมไปมากกว่าที่ควรจะเป็น บางคนเสื่อมมาก บางคนโทรมน้อย บางคนอายุมากจนเป็นผู้สูงอายุวัยปลายแล้ว แต่ยังแข็งแรง หน้าตายังดูอ่อนวัย ท่าทางยังคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง

ถ้าจะถามว่าสังขารและสมรรถภาพทางกายของผมเสื่อมถอยไปมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับความเสื่อมถอยที่ควรเป็นตามธรรมชาติ ผมก็อยากจะตอบแบบเข้าข้างตัวเองว่าสมรรถภาพทางกายต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไม่มากนัก หรือจะพูดว่ามันก็ควรจะเป็นอย่างนี้แหละ อายุมากเท่านี้ สภาพร่างกายเป็นอย่างนี้ก็ต้องนับว่าดีที่สุดแล้ว ประจักษ์พยานที่จะช่วยยืนยันข้อความในประโยคก่อนหน้านี้ ได้แก่คำชมที่ผมได้ยินอยู่บ่อยๆ “อาจารย์ยังดูไม่แก่นะคะ (นะครับ)” “อาจารย์ยังแข็งแรงอยู่นะครับ (นะคะ)” (บางครั้ง เราก็อยากจะสวนกลับไปว่า ก็ตัวฉันยังไม่แก่...นี่หว่า)

เราลองคิดดู...ผู้สูงอายุในรุ่นใกล้ๆ กัน และรุ่นที่อายุมากกว่า เราจะเห็นความแตกต่างหลากหลายของระดับสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุได้ชัดเจน ในหมู่เพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันมา บางครั้งเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเพื่อนคนนี้จึงดูแก่นัก” “ทำไมคนนั้นต้องเจ็บป่วยจนไม่สามารถมาร่วมงานชุมนุมรุ่น” และในทางกลับกัน ผมก็อดชื่นชมผู้สูงอายุรุ่นราวคราวเดียวกันบางคนไม่ได้ “เขาทำอย่างไรจึงรักษาสุขภาพได้ดีอย่างนั้น” “พี่ผู้หญิงคนนั้นอายุแก่กว่าเราตั้ง 5-6 ปี แต่ทำไมยังดูเป็นสาว ยังกับอายุแค่ 30-40 ปี” บางครั้งที่เห็นเพื่อนบางคนที่หน้าตาดูเยาว์วัยกว่าเรามาก ก็อดคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่า “เพราะเธอเล่นย้อมผมนี่หว่า” (ผมที่ย้อมดำช่วยให้หน้าตาดูอ่อนวัยลงอีก 10 ปีเป็นอย่างน้อย ผมสรุปในใจ)

สูงวัยอย่างเหมาะสมที่สุด

ลองมองดูผู้อาวุโสที่มีอายุมากๆ ในบ้านเมืองของเราบ้าง บางคนก็ดูแก่มากๆ ตามวัย แต่หลายคน อายุเกิน 90 ปีหรือบางคนอายุถึง 100 ปีแล้ว ก็ยังดูว่าสมรรถภาพทางกายไม่ได้เสื่อมถอยต่ำไปกว่าที่ควรจะเป็น หลายคนเป็นแบบอย่างของผู้สูงอายุในอุดมคติทีเดียว

ประเทศไทยมีตัวอย่างผู้สูงอายุที่มีพลังที่เป็นบุคคลสาธารณะอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ผมเห็นท่านเหล่านี้แล้วก็อดชื่นชมยินดีมิได้ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ท่านอายุ 91 พรรษาแล้วนะครับ (เกิด 26 มิถุนายน 2470) ท่านยังแข็งแรง ลุกนั่ง ยืน เดิน เทศนา ให้ศีลให้พร ได้อย่างสง่างาม

นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพอีกท่านหนึ่งที่ผมมีโอกาสทำงานกับท่าน ท่านอายุ 93 ปีแล้ว (เกิด 17 พฤษภาคม 2468) ท่านเป็นประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาการวิจัยผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ผมเห็นท่านทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ ท่านยังแข็งแรงทั้งกายและใจ มีความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นอิสระ ไม่อยู่ในภาวะต้องพึ่งพาใคร

ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพอีกท่านหนึ่งที่เห็นเมื่อไรก็อดชื่นชมในความสง่างามของท่านมิได้ ปีนี้ ท่านอายุย่าง 98 ปีแล้ว (เกิด 26 สิงหาคม 2463) ท่านยังแข็งแรง สุขภาพของท่านน่าจะดีกว่าสภาพเฉลี่ยของคนอายุเกือบร้อยปีทั่วไป

ผู้สูงอายุอีกท่านหนึ่งซึ่งผมเชื่อว่าสมรรถภาพทางกายและใจของท่านเสื่อมถอยลงน้อยมาก ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำ.ปี 2556 อายุ 100 ปีแล้ว (เกิด 21 มีนาคม 2461) ท่านเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” “ชะตาชีวิต” “แว่ว” “เกษตรศาสตร์” ผมยังเห็นท่านไปทำงานประจำ.ที่ราชบัณฑิตยสภา เห็นกับตาว่าท่านยังเดินด้วยท่าทางแข็งแรง ไม่ต้องมีคนช่วยพยุง ผิดวิสัยคนอายุร้อยปีที่ส่วนใหญ่ต้องอยู่ติดบ้านแล้ว

ท่ากายบริหารแห่งชาติ

ศาสตราจารย์นากาโน กล่าวว่าสมรรถภาพทางกายของคนที่เสื่อมถอยไม่เท่ากันนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคนในด้านการออกกำ.ลังกาย โภชนาการ และกิจกรรมทางสังคม

การออกกำ.ลังกายเพื่อช่วยให้คนสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยตนเองมีความหมายต่อชีวิตของเรามาก โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นผู้สูงอายุ สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่การอาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร เข้าส้วม และการเคลื่อนไหว ถ้าเราทำเองได้ด้วยตัวเอง เราก็จะมีความภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องพึ่งพา เป็นภาระของคนอื่น

ศาสตราจารย์นากาโน พูดถึงท่ากายบริหารแห่งชาติของญี่ปุ่น ทำให้ผมต้องไปขอข้อมูลเพิ่มเติมหลังการอบรมในวันนั้น เรื่องนี้น่าสนใจมาก ญี่ปุ่นมีท่ากายบริหารที่ทำเหมือนกันทั้งประเทศ ท่าเดียวกันสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย เพลงประกอบท่ากายบริหารก็เป็นเพลงเดียวกัน ใช้เวลาทั้งหมด 3 นาที 17 วินาที ทุกเช้าเวลา 6.30 น. วิทยุจะเปิดเพลงนี้กระจายเสียงออกไปตามบ้าน สวนสาธารณะ โรงเรียน และสถานที่ราชการต่างๆ ผู้คนก็จะมาออกกำลังกายตามเพลงด้วยท่ากายบริหารที่เป็นมาตรฐานชุดนั้น ออกกำลังกายด้วยท่าเดียวกัน เพลงประกอบเดียวกัน ทั่วทั้งประเทศ “ตั้งแต่เหนือสุด ที่ฮอกไกโด ถึงใต้สุด ที่โอกินาวา ...ทำ.พร้อมกัน ด้วยท่าเดียวกัน”

ญี่ปุ่นใช้ท่ากายบริหารแห่งชาตินี้มานานถึง 90 ปีมาแล้ว เขาปลูกฝังสั่งสอนท่ากายบริหารด้วยท่ามาตรฐานนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทั้งเด็กเล็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทุกคนในญี่ปุ่นรู้จักท่ากายบริหารชุดนี้

ท่ากายบริหารแห่งชาติ...ของไทย ผุดขึ้นในจินตนาการของผมทันที ประเทศไทยเราควรมีท่ากายบริหารแห่งชาติบ้าง ลอกเลียนท่าของญี่ปุ่นมาบ้างก็ได้ หรือจะคิดท่าขึ้นใหม่ก็คงไม่ยากนัก ใช้ท่าเดียวกัน เพลงประกอบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ “ตั้งแต่เหนือสุด ที่แม่สาย ลงมาถึงใต้สุดที่เบตง” อาจจะแต่งเพลงประกอบท่ากายบริหารขึ้นสักเพลง หรือจะเอาเพลง  “กราวกีฬา” มาใช้ก็ได้ เพลงกราวกีฬานี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประพันธ์ไว้ตั้งแต่ปี 2477 (เพลงกราวกีฬาใช้ทำนองเพลงไทยเดิม คือเพลงกราวนอก) ท่ากายบริหารแห่งชาติ อาจช่วยกระตุ้นให้คนไทยออกกำลังกายกันมากขึ้น...ผมเชื่อเช่นนั้น

“...พวกเรานักกีฬาใจกล้าหาญ เชี่ยวชาญชิงชัยไม่ย่นย่อ คราวชนะรุกใหญ่ไม่รีรอ คราวแพ้ก็ไม่ท้อ กัดฟันทน...ฮึม ฮึม ฮึม หึ่มฮึม...กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล ตะละล้า.....”

แหล่งที่มา  Japan broadcasting corporation (NHK). Rajio taiso dai ichi dai ni (Radio gymnastics no. 1 and 2). Retrieved from https://pid.nhk.or.jp/event/taisou/img/radioweb.pdf


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th